อดีตประธานวุฒิฯ หัวหมอ ค้าน สนช. วางเกณฑ์ถอดถอน อ้างเกินอำนาจหน้าที่ตาม รธน. ชั่วคราว “สมเจตน์” ยันทำตามกรอบ รธน. อัดกลับอย่าร้อนตัว หากมั่นใจไม่ได้ทำผิด ย้ำไม่ปรองดองกับคนผิด ป้อง “บิ๊กตู่” ไม่คิดล้างผิดให้คนโกง “สมชาย” ซ้ำมีหน้ามาอ้าง รธน. ทั้งที่ตัวเองชำเรา รธน. เพื่อช่วยพวกพ้องและตนเอง “ครูหยุย” คาดสภาผ่านฉลุย แย้ม 10 วันเสร็จ
วันนี้ (7 ก.ย.) นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวถึงร่างข้อบังคับ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในหมวดถอดถอน ว่า การกำหนดข้อบังคับของฝ่ายนิติบัญญัติจะมีหมวดต่างๆ ได้ ก็ต่อเมื่อมีรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ ซึ่งในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ไม่มีมาตราใดที่ว่าไว้ถึงกระบวนการถอดถอน การกำหนดข้อบังคับหมวดถอดถอนจึงเป็นเพียงการเข้าใจไปเองว่า สนช. มีอำนาจในการถอดถอน โดยอาศัยการตีความในมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่กำหนดให้ สนช. ทำหน้าที่ ส.ส. และ ส.ว.
นายนิคม กล่าวว่า ส่วนที่อ้างว่าจำเป็นต้องมีเพื่อให้สอดคล้องต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ นั้น ก็ไม่สามารถทำได้อยู่ดี เพราะ พ.ร.บ. เป็นเพียงกฎหมายลูก ในเมื่อกฎหมายแม่อย่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ การร่างข้อบังคับในหมวดนี้จึงไม่ใช่หน้าที่ของ สนช. และจะยิ่งทำให้ปัญหายุ่งยากมากขึ้น เช่น ตนถูก ป.ป.ช. ชี้มูลตามรัฐธรรมนูญ 2550 หมวดถอดถอนตั้งแต่ มาตรา 271 - 274 แล้ว สนช. ชุดนี้ จะดำเนินการถอดถอนตนอย่างไร ในเมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว จะใช้เสียงเพียงกึ่งหนึ่งของ สนช. มาลงมติถอดถอนตนตามร่างข้อบังคับฉบับนี้ได้อย่างไร ในเมื่อมาตรา 274 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ตามที่ตนถูกชี้มูลไว้ กำหนดว่าต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ในการถอดถอน
“ดังนั้น ในวันที่ 11 ก.ย. ที่ จะมีการประชุมพิจารณาร่างข้อบังคับฉบับนี้ ก็อยากให้ สมาชิก สนช. พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยขอให้ยึดถือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญว่าได้ให้อำนาจหน้าที่ใดแก่ สนช. ไว้บ้าง และก็ขอให้คำนึงถึงเจตจำนงของ คสช. ที่ระบุว่าต้องการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองด้วย” นายนิคม กล่าว
ด้านความเห็นของ สนช. อาทิ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม กล่าวยืนยันว่า สนช. มีอำนาจหน้าที่ออกข้อบังคับการประชุมเพื่อกำหนดวิธีการปฏิบัติของ สนช. เพื่อให้การประชุมสามารถดำเนินการไปได้ และพิจารณาดูว่างานของเรามีอะไรบ้างที่จำเป็นต้องทำ โดยออกระเบียบวิธีการปฏิบัติไว้เสียก่อน เมื่อถึงเวลาที่ควรเป็นไปก็จะสามารถปฏิบัติได้ โดยไม่จำเป็นต้องยกเว้นอะไร เพราะในรัฐธรรมนูญปี 57 (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 6 กำหนดให้สมาชิกทำหน้าที่รัฐสภา คือ ส.ส. และส.ว. เนื่องจากมีกฎหมายบางอย่างที่ออกโดยองค์กรต่างๆ แต่ต้องมาสิ้นสุดรัฐสภา เช่น สนธิสัญญาต่างๆ หรือองค์กรต่างๆ รายงานผลการทำงานมายังสภา จึงจำเป็นต้องกำหนดว่าเวลาเขามารายงานแล้วเราจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร บางองค์กรมีพูดถึงการถอดถอนเช่น ป.ป.ช. หรือ คสช. ให้พ้นตำแหน่ง ซึ่งคนที่จะให้พ้นได้ก็คือ ส.ว.
ดังนั้น ถึงแม้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้กำหนด แต่มีการกำหนดภาพรวมแล้วว่าเราต้องทำหน้าที่ เมื่อเราเห็นว่าต้องทำหน้าที่อะไรก็กำหนดเอาไว้ในข้อบังคับการประชุม และในข้อบังคับก็ไม่เคยพูดเลยว่าจะดำเนินการถอดถอนนายนิคม หรือใคร เพียงแต่คิดว่าเมื่ออำนาจหน้าที่การถอดถอนมีอยู่เราก็ควรถอดถอน ส่วนจะถอดถอนได้หรือไม่ไปว่ากันอีกประเด็นหนึ่ง มันคนละเรื่องกัน อีกทั้งเราเห็นว่าในอดีตก็เคยมีการใช้อำนาจของ สนช. ถอดถอนมาแล้วในกรณีของนายจรัล ดิษฐาอภิชัย ออกจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จึงจำเป็นต้องกำหนดการถอดถอน การให้พ้นจากตำแหน่ง รวมถึงกำหนดการสิ้นสภาพของสมาชิกก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะให้สมาชิกสิ้นสภาพ แต่กำหนดเพื่อเป็นขั้นตอนดำเนินการให้สิ้นสภาพอย่างไร
“ผมว่าคนออกมาคัดค้านเรื่องนี้ร้อนตัวหรือเปล่า ยืนยันมาตลอดไม่ใช่หรือว่าที่ทำไปตามอำนาจหน้าที่ ถ้าไม่ผิดก็ไม่ต้องกลัว อย่ากินปูนร้อนท้อง อย่าอ้างว่าทำแล้วจะไม่เกิดความปรองดอง เราไม่จำเป็นต้องปรองดองกับคนทำผิด คนที่จะปรองดองด้วยคือคนที่คิดผิดพลาดไปสมควรได้รับการอภัย แต่อย่างบางคนที่มีตำแหน่งหน้าที่เป็นถึงประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ย่อมมีวิจารณญาณเหนือบุคคลอื่น อย่าว่าแต่ทำความผิดเลย เพียงแต่คิดก็ไม่สมควรแล้ว จริงๆ ไม่ต้องรอให้ใครถอดถอน แต่ควรพิจารณาตัวเองด้วยซ้ำไป” พล.อ.สมเจตน์ กล่าว
ส่วนสมาชิกจะโหวตให้ผ่านร่างข้อบังคับนี้ในวันที่ 11 ต.ค. หรือไม่ พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า ตนไม่สามารถพูดได้เพราะจะกลายเป็นชี้นำครอบงำความคิด แต่เราจะชี้แจงเหตุผลว่าทำไมจำเป็นต้องออกมา และการมีข้อบังคับกับการพิจารณาถอดถอนใครในวันข้างหน้าเป็นคนละเรื่องกัน ในที่สุดสมาชิกจะเป็นผู้ใช้วิจารณญาณวินิจฉัยว่าควรจะมีหรือไม่ แต่สำหรับตนจะยกมือให้ผ่านแน่นอน เมื่อมีหน้าที่ก็ต้องทำ และในอดีตก็เคยทำมาแล้ว ถ้าเราไม่ทำแล้วจะให้ใครทำ ต่อไปเมื่อเกิดกรณีต้องมีการถอดถอนใครขึ้นมาแล้วจะใช้วิธีการตรงไหนไปถอดถอน เมื่อคิดไปข้างหน้าว่าเรามีงานแล้วเราจำเป็นจะต้องทำก็ต้องทำ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้ มีเสียงวิจารณ์เชิงลบว่า คสช. ล้มรัฐธรรมนูญปี 50 เพื่อแอบแฝงช่วยเหลือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคพวกให้หลุดพ้นจากการถูกถอดถอน พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า คสช. ไม่สามารถล้างผิดให้คนที่กระทำการทุจริต คอร์รัปชั่นได้ เพราะต้องการปฏิวัติเพื่อให้ประเทศดีขึ้น หากจะกลายเป็นทำการปฏิวัติเพื่อให้คนผิดได้พ้นผิด ตนว่าน่าจะผิดตรรกะของความเป็นจริง
ด้าน นายสมชาย แสวงการ เลขาธิการวิป สนช. กล่าวว่า เป็นการดิ้นพล่านไปเองของนายนิคม และเป็นเรื่องของสภาที่จะวินิจฉัยเอง ไม่เกี่ยวกับคนที่ถูกคดี และไม่มีสิทธิ์จะพูดเรื่องนี้ด้วยซ้ำ เพราะเวลาอยู่ในตำแหน่งก็ไม่ทำให้สิ่งที่ถูกต้อง แต่กลับไปรับใช้การเมือง ไปแก้กฎหมายเข้ากับตนเอง ถึงเวลาจะพิพากษาก็มาอ้างเรื่องปรองดองดิ้นหาทางไปเรื่อย เที่ยววิเคราะห์มั่ว อ้างหลักการรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ตัวเองยังแก้รัฐธรรมนูญแบบชั่วๆ หรือนิรโทษกรรมให้กับพรรคพวกตัวเองแบบชั่วๆยังทำได้ ควรจะเตรียมตัวเองให้ดีจะดีกว่า ตนยืนยันว่า สนช. สามารถทำได้ เพราะถ้ายึดตามที่นายนิคมอ้างก็คงยกเลิกกฎหมายอื่นๆ เป็นพันเรื่องเพราะรัฐธรรมนูญปี 57 ยุบทุกเรื่อง ยกเว้นหมวด 2
“ผมขอถามว่าฆ่าคนตาย หรือค้ายาเสพติด เกิดรัฐธรรมนูญไม่เขียนเอาไว้จะยกเลิกไปเลยหรือไม่ ก็ไม่ยกเลิกเพราะมันมีกฎหมายอาญาอยู่ เรื่องนี้ก็มีกฎหมายอื่นรับรองอยู่เช่นกันคือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. ดังนั้นอย่าตีความตะแบงไปเรื่อย” นายสมชาย กล่าว
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. กล่าวว่า ตนเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่น่ามีปัญหา แม้จะมีสมาชิกหลายคนไม่สบายใจว่าหากเข้ามาเร็วจะถูกครหาว่าเรามีเจตนาจะถอดถอนหรือไม่ ซึ่งตนได้ชี้แจงว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกัน เพราะการจะถอดถอนมีหลายกรณี อย่าไปมองแต่เรื่องปัญหาของคนบางกลุ่มเท่านั้น เราต้องมองถึงอนาคตเช่น กรณีถอดถอนข้าราชการระดับสูง อย่างไรก็ตาม คงจะต้องมีการตีความเรื่องอำนาจการถอดถอน ที่มี 2 วิธี คือ อำนาจของสภาโดยตรงกับ อำนาจของ ป.ป.ช. ส่งมา หากเรื่องใดที่ ป.ป.ช. ส่งมาแล้วเราสามารถถอดถอนได้หมด ส่วนถ้าไม่ส่งมาก็จะเป็นเรื่องของสภาฯ ซึ่งในข้อสุดท้ายข้อบังคับจะเขียนว่าแล้วแต่มติของสภา วันที่ 11 ก.ย. ก็จะเป็นการวัดใจของสมาชิกว่าจะได้มีเรื่องถอดถอนหรือไม่ ซึ่งจากที่วางกรอบไว้จะรับหลักการวาระแรกโดยใช้คณะกรรมาธิการชุดเดิม และให้แล้วเสร็จเลยภายใน 10 วัน เท่าที่คุยไม่มีใครติดใจ อาจจะมีอภิปรายกันบ้าง ใครไม่เห็นด้วยก็ไปแปรญัตติ แต่แนวโน้มจะไม่มีคนแปรเพราะคนที่ดูเรื่องนี้ส่วนใหญ่เป็นคนร่างข้อบังคับนี้ขึ้นมาเอง และเห็นพ้องต้องกันในทำนองนี้