xs
xsm
sm
md
lg

“สุรชัย” เผยพรุ่งนี้วิป สนช.เตรียมเคาะวาระเลือกนายกฯ - รับไม่สบายใจ สปช.ล็อกสเปก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ภาพจากแฟ้ม)
รองประธาน สนช.เผยเลือกนายกรัฐมนตรี รอวิป สนช.เคาะพรุ่งนี้บรรจุวาระหรือไม่ เพราะร่างข้อบังคับการประชุมยังไม่เสร็จ แต่แยกหลักเกณฑ์ทำได้ เผย คสช.ส่งกฎหมายพิจารณาแล้ว 43 ฉบับ มี 10 ฉบับให้พิจารณาโดยไม่ต้องผ่าน ครม. ส่วนเรื่องถอดถอน “ยิ่งลักษณ์-สมศักดิ์-นิคม-36 ส.ว.” รอพิจารณา เพราะกำลังถกเถียงมีอำนาจพิจารณาหรือไม่ ไม่สบายใจได้ข่าว สปช.ล็อกสเปก เตรียมถก กกต.สอดส่องเพิ่ม

วันนี้ (19 ส.ค.) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการเลือกนายกรัฐมนตรีว่า ในวันพรุ่งนี้ (20 ส.ค.) คณะกรรมาธิการสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือวิป สนช. จะมีการพิจารณาถึงวาระการประชุมในวันที่ 21 ส.ค.นี้ ว่าจะบรรจุเรื่องใดไว้ในวาระการประชุมบ้าง โดยมีเรื่องที่จะพิจารณาในวิปคือ การเลือกนายกรัฐมนตรีว่าจำเป็นต้องรอให้การร่างข้อบังคับการประชุมเสร็จสิ้นก่อนหรือไม่เพราะจะต้องใช้เวลาอีก 15 วัน แต่ถ้าที่ประชุมเห็นว่าสามารถทำได้ด้วยการแยกหลักเกณฑ์การเสนอชื่อนายกออกมาก่อน ในขณะนี้มีร่างที่เขียนตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ไว้อยู่แล้วมาให้วิปเห็นชอบ จากนั้นจึงไปขอมติจากที่ประชุม สนช. ว่าจะเห็นชอบหรือไม่

ส่วนการจัดลำดับความสำคัญของร่างกฎหมายนั้น ในขณะนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งกฎหมายมาที่ สนช.แล้ว 43 ฉบับ แต่มี 10 ฉบับที่ คสช.ขอให้มีการพิจารณาเลยโดยไม่ต้องรอคณะรัฐมนตรี ซี่งร่างกฎหมายทั้ง 10 ฉบับได้มอบให้วิป สนช.ไปพิจารณาว่าใน 10 ฉบับดังกล่าวจะจัดลำดับความสำคัญอย่างไรที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ซึ่งต้องมีการเชิญหน่วยงานทีเกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลด้วยว่ามีความจำเป็นอย่างไรเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาต่อไป

สำหรับการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 4 เรื่อง คือ ที่ค้างการพิจารณาใน ส.ว.ชุดที่แล้วจะมีการนำมาพิจารณาใน สนช.หรือไม่นั้น นายสุรชัยกล่าวว่า เป็นเรื่องที่สำนักเลขาธิการวุฒิสภาจะพิจารณาว่าจะเสนอให้ สนช.พิจารณาหรือไม่ ไม่ใช่การดองเรื่องไว้ที่ข้าราชการหรือเป็นการปัดความรับผิดชอบแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องขั้นตอนการนำเสนอเรื่องที่ตกค้างก่อนที่จะมี สนช. หากตนหรือประธาน สนช.ไปสั่งการให้เสนอเรื่องเข้ามาก็อาจถูกวิจารณ์ว่าล้วงลูก มีเจตนาตามล้าง ทำให้ต้องระมัดระวังและไม่อยากให้คิดว่าเรื่องถอดถอนเป็นวาระทางการเมืองหรือวาระซ่อนเร้น แต่ให้คิดเหมือนกับกฎหมายที่ค้างอยู่ ซึ่งเลขาฯ ของสองสภาก็เป็นผู้พิจารณาแล้วเสนอขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเรื่องการถอดถอนที่ค้างอยู่นั้นมีประเด็นที่ถกเถียงในข้อกฎหมายว่า สนช.มีอำนาจที่จะดำเนินการได้หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้ระบุเกี่ยวกับหน้าที่ถอดถอนเอาไว้ ตนคนเดียวคงวินิจฉัยไม่ได้เนื่องจากมีความเห็นต่างกันทั้งในเรื่องอำนาจของ สนช. และฐานความผิดที่มีการชี้มูลด้วย อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่าในกรณีที่มีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับแง่มุมทางกฎหมายรัฐธรรมนูญก็เสนอให้ที่ประชุมลงมติตัดสินใจว่า กระบวนการถอดถอนที่ค้างอยู่นั้น สนช.จะเดินหน้าต่อได้หรือไม่

ผู้สิ่อข่าวถามว่า ดูแนวโน้มแล้วเรื่องถอดถอนทั้งสี่เรื่องอาจไม่ได้รับการพิจารณาถือเป็นการสูญเปล่าหรือไม่ เพราะมีการดำเนินการจาก ป.ป.ช.จนได้มติแล้วแต่กลับดำเนินการต่อไม่ได้ นายสุรชัยกล่าวว่า ทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่ากฎหมายให้ทำได้หรือไม่ เพราะฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องทำตามกฎหมาย ถ้ากฎหมายไปไม่ถึงก็ไปไม่ถึง ส่วนตอนนี้กฎหมายจะไปถึงหรือไม่ยังตอบไม่ได้ ที่ประชุม สนช.จะต้องเป็นผู้พิจารณาหากว่ามีการเสนอเรื่องเข้ามา

สำหรับเรื่องถอดถอน 4 เรื่องที่ค้างอยู่ ประกอบด้วย การถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตจำนำข้าว กรณีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กระทำผิดต่อหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. และ กรณี 36 ส.ว.แก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

นายสุรชัยกล่าวถึงกระบวนการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีปัญหาการล็อคสเปกว่า ได้ข่าวแล้วก็รู้สึกไม่สบายใจ และอยากให้สังคมเข้าใจว่ากระบวนการสรรหาแยกเป็น 2 ส่วน คือ กรรมการสรรหาระดับจังหวัดกับ ส่วนกลางที่สรรหาตามกลุ่มอาชีพซึ่งทำงานแยกจากกันไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ แต่ถ้ามีโอกาสจะหารือระหว่างกรรมการสรรหาแต่ละกลุ่มเพื่อเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ไปดูแลสอดส่องเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะตนไม่อยากให้เกิดปัญหาว่าหลักเกณฑ์ที่เปิดช่องให้มีการใช้ดุลพินิจจากกรรมการสรรหาพิจารณาอาจทำให้ไม่ได้ตัวเลือกที่จะมาทำงานด้านการปฏิรูปอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น