xs
xsm
sm
md
lg

ใกล้รู้ผล...คดี “ปูโกงข้าว” อสส.สั่งฟันหรือมียื้อ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตระกูล วินิจนัยภาค
รายงานการเมือง

เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะทำงานอัยการพิจารณาสำนวนคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีความเห็นสั่งฟ้องคดีอาญาต่อ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ในกรณีโครงการรับจำนำข้าวที่ทางคณะทำงานประชุมกันนัดสุดท้ายและมีความเห็นเสนอไปยัง “ตระกูล วินิจนัยภาค” อัยการสูงสุด (อสส.) แล้ว

แต่ไม่มีข่าวรั่วออกมาใดๆ ว่า คณะทำงานมีความเห็นในคดีอย่างไร คาดว่าคงมีการกำชับมาเป็นพิเศษในคณะทำงานว่าห้ามเปิดเผยผลสรุปและข้อเสนอของคณะทำงานต่อสื่อมวลชนใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งหมดรอให้ อสส.แถลงแต่เพียงผู้เดียว

ในส่วนของเอกสารความเห็นของคณะทำงานอย่างเป็นทางการ ยังไม่ชัดว่ามีการส่งไปยังอัยการสูงสุดหรือยัง แต่คาดหมายกันว่าน่าจะสรุปไปแล้ว แต่แม้หนังสือความเห็นยังไม่ส่ง แต่ป่านนี้ อสส.ก็ต้องรับรู้ผลอย่างไม่เป็นทางการของคณะทำงานแล้วว่าคณะทำงานเห็นควรอย่างไร ซึ่งก็มีแค่สองทางเท่านั้น คือ

1. เห็นด้วยกับมติที่ประชุมใหญ่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เห็นว่า “ยิ่งลักษณ์” กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.รบ ป.ป.ช. ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจโดยมิชอบจากกรณีทุกจริตโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท เห็นควรให้ อสส.ยื่นฟ้องคดีอาญาต่อ “ยิ่งลักษณ์” ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเลยเพราะเห็นว่าสำนวนที่ ป.ป.ช.ส่งมาแน่นหนาพอแล้วกับการสั่งฟ้อง

2. เห็นว่าสำนวนยังไม่สมบูรณ์ พบข้อไม่สมบูรณ์ในมติ ป.ป.ช.และสำนวนที่ส่งมา จึงเห็นว่าควรต้องมีการสอบเพิ่มเติม เช่น การเรียกพยานบุคคลมาสอบถามเพิ่มเติมตามที่ทนายความยิ่งลักษณ์ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด

หากออกมาตามข้อ 2 ก็อาจต้องให้อัยการสูงสุดทำหนังสือถึงนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.เพื่อขอให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมสองฝ่าย คือ อัยการ กับ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาสำนวนคดีอีกครั้งเพื่อนำไปสู่ความเห็นในขั้นสุดท้ายว่าจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง หากคณะทำงานสองฝ่ายเห็นตรงกันว่าสำนวนแน่นหนาพอแล้วมีความเห็นให้สั่งฟ้อง อัยการสูงสุดก็จะยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ ต่อไป

แต่หากคณะทำงานคุยกันหลายรอบแล้ว ความเห็นไม่ลงรอยกันมีความห็นในทางคดีแตกต่างกันมาก สุดท้าย ก็คงอาจออกมาในสูตร ป.ป.ช.ก็จะดึงเรื่องกลับคืนมาแล้วยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ เองเหมือนกับหลายคดีก่อนหน้านี้เช่นคดีทุจริตรถดับเพลิงเป็นต้น

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสำนักงาน ป.ป.ช.ได้มายื่นเอกสารให้กับอัยการเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมาโดย อสส.จะต้องมีความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งภายในไม่เกิน 30 วัน หลัง ป.ป.ช.ส่งสำนวนมา

ดังนั้น ภายในไม่เกินสัปดาห์นี้ อสส.ต้องทำความห็นออกมาแล้วว่าจะเอาอย่างไร จะมีความเห็นสั่งฟ้องยิ่งลักษณ์ต่อศาลฎีกาฯ เลยหรือจะเห็นว่าสำนวนยังไม่สมบูรณ์ควรต้องมีการตั้งคณะทำงานร่วมสองฝ่าย หากนับตามปฏิทินก็คือ อสส.น่าจะมีความชัดเจนภายในไม่เกินพฤหัสบดีที่ 4 ส.ค.นี้แล้ว

ก็ต้องดูกันว่า “ตระกูล-อสส.” ที่ได้รับตำแหน่งนี้เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.มีคำสั่งเด้ง “อรรถพล ใหญ่สว่าง” พ้นจากอัยการสูงสุด แล้วก็มีการตั้ง “ตระกูล” ขึ้นมาเป็น อสส.แทน แล้ว อสส.คนนี้จะมีความเห็นในคดีนี้อย่างไร

ต้องถือว่าเป็นคดีสำคัญคดีแรกเลยสำหรับ อสส.ผู้นี้ที่คนจับตามองกันมาก เพราะนับแต่รับตำแหน่งมาร่วม 3 เดือน จะพบว่าแทบไม่มีการสั่งคดีใหญ่ๆ คดีไหนออกมา เพราะอาจเป็นช่วงที่ไม่ค่อยมีคดีอะไรมาก แต่เชื่อว่าคดียิ่งลักษณ์คดีนี้จะทำให้หลายคนได้ยินชื่อของตระกูล-อสส.คนนี้มากขึ้นนับจากนี้

จึงจับตามองว่า อสส.จะตัดสินใจอย่างไรบนพื้นฐานที่ได้รับความเห็นในสำนวนคดีมาจากคณะทำงานที่ตัวเองแต่งตั้งขึ้นหลังได้รับสำนวนมาประมาณ 4 วัน อันประกอบด้วย วุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รอง อสส.เป็นหัวหน้าคณะทำงานมีคณะทำงานคนอื่นๆ เช่น ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร รอง อสส.-ถาวร พานิชพันธ์ อัยการอาวุโส เป็นต้น

สายสืบเล่าให้ฟังจากตึกสำนักงานอัยการสูงสุดแถวศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ว่าที่ผ่านมาคณะทำงานประชุมกันไปประมาณ 4-5 ครั้งข่าวว่าประชุมกันเครียดพอสมควร แต่คณะทำงานบางคนก็มีข่าวว่าติดภารกิจสำคัญในงานราชการบางอย่างก็ไม่ได้เคยเข้าประชุมเลยแม้แต่นัดเดียว และในที่ประชุมคณะทำงานก็มีการอภิปรายเสนอความเห็นกันหลากหลาย บางประเด็นก็มีความเห็นแตกต่างกันค่อนข้างมาก เช่นเรื่องควรมีการเรียกพยานบุคคลที่ทนายความยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยื่นเรื่องมาหรือไม่ แต่ก็ไม่มีข่าวว่าคณะทำงานมีการอภิปรายประเด็นนี้อย่างไร

และได้มีการประชุมนัดสุดท้ายเมื่อวันพุธที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมาแล้วก็มีความเห็นเบื้องต้นออกมาแต่ข่าวปิดเงียบสนิทว่าคณะทำงานอัยการมีความเห็นออกมาแบบไหนทั้งหมดรอให้ อสส.แถลงแต่ผู้เดียว

จากสองแนวทางที่บอกข้างต้น ว่าคณะทำงานอัยการมีสิทธิ์เสนอมาได้สองทาง คือ 1. เห็นว่าสำนวนแน่นหนาพอแล้วสมควรยื่นฟ้องต่อยิ่งลักษณ์ตามมติ ป.ป.ช.กับ 2. ควรให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมสองฝ่ายเพื่อกลั่นกรอง-ทำสำนวนให้รัดกุมมากขึ้น ยิ่งคดีนี้เป็นคดีใหญ่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นระดับอดีตนายกรัฐมนตรีจึงควรต้องใช้เวลาอีกสักระยะเพื่อทำความเห็นในสำนวนคดีให้สมบูรณ์มากขึ้น

จึงมีการวิเคราะห์กันว่า มีโอกาสไหมที่คณะทำงานอัยการเสนออย่างใดอย่างหนึ่งมาแล้วอัยการสูงสุด จะมีความเห็นแตกต่างออกไป เช่น หากคณะทำงานอัยการเสนอว่าควรสั่งฟ้องแต่ อสส.อาจเห็นว่าควรให้ตั้งคณะทำงานร่วม หรือหากคณะทำงานเห็นว่าควรให้ตั้งคณะทำงานร่วม แต่ อสส.เห็นว่าควรสั่งฟ้องได้เลย

คำตอบนี้ในเชิงวิเคราะห์โดยพิจารณาจากองค์ประกอบหลายอย่างก็เห็นว่า มันขึ้นอยู่กับ อสส.แต่ละคน ย่อมมีอิสระและดุลยพินิจที่เป็นตัวของตัวเองโดยอาจไม่จำเป็นต้องฟังหรือเชื่อความเห็นของคณะทำงานทั้งหมดก็ได้ เพราะหลัง อสส.ได้รับทราบความเห็นของคณะทำงานแล้วก็อาจนำสำนวนต่างๆ มาตรวจทานโดยรอบคอบอีกครั้งแล้วก็อาจเห็นแตกต่างจากคณะทำงานก็ย่อมได้ แต่ส่วนใหญ่ตามที่เป็นข่าวคือเมื่อตัวเองเป็นคนตั้งคณะทำงานมากับมือและส่วนใหญ่ก็เป็นอัยการชั้นผู้ใหญ่ในสำนักงานเมื่อคณะทำงานสรุปและมีความเห็นออกมาแล้ว ตามหลักเบื้องต้นก็อาจต้องให้เกียรติกัน

เว้นแต่อาจมีข้อสงสัยบางอย่างก็อาจเรียกคณะทำงานมาสอบถามด้วยวาจาเพื่อซักถามข้อสงสัยประกอบการตัดสินใจอีกครั้งเพื่อหาเหตุผลทั้งข้อกฎหมาย-ข้อเท็จจริงว่าคณะทำงานมีความเห็นในแต่ละเรื่องอย่างไรจนสุดท้ายก็สรุปมาเป็นความเห็นของตัวเอง แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องยอมรับกันว่า อสส.ที่ผ่านมา ก็มักยึดความเห็นคณะทำงานที่ตัวเองกันเกือบทั้งสิ้น

เอาเป็นว่าหากไม่มีการผิดคิวหรือเล่นปิดเงียบ ปล่อยให้อึมครึม ยังไงก็ตาม สัปดาห์นี้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง น่าจะรู้ผลการสั่งคดีของ อสส.ว่าจะสั่งฟ้องยิ่งลักษณ์เลยหรือคดีจะยื้อต่อไป?
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
กำลังโหลดความคิดเห็น