เลขาฯ กกต.สรุป 11 วัน สมัคร สปช.รวม 2,045 ราย เผยการศึกษามากสุด ตามมาด้วย สังคม อื่นๆ ส่วนพลังงาน ต่ำสุดมีแค่ 22 คน พบ หนองบัวลำภู คึกคักสมัครมากสุด 50 คน ประจวบคีรีขันธ์ น้อยสุดแค่ 4 คน วอนเชื่อมั่น กก.สรรหา
วันนี้ (24 ส.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงสรุปยอดการเปิดรับเสนอรายชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) วันที่ 11 ว่า ตลอดทั้งวันมีองค์กรนิติกรบุคคลไม่แสวงหากำไรยื่นเสนอรายชื่อผู้ที่เหมาะสมเข้ารับการสรรหาเป็น สปช.ในส่วนของสำนักงาน กกต.กลาง จำนวน 11 ด้าน รวม 62 คน โดยเป็นองค์กรนิติบุคคลยื่นเอง 13 คน และส่งเอกสารทางไปรษณีย์ จำนวน 49 คน ส่วนที่เข้าเสนอชื่อต่อคณะกรรมการสรรหาระดับจังหวัดมี 44 คน รวมวันนี้ทั่วประเทศมีผู้เสนอชื่อ 106 คน สรุป 11 วันของการเปิดรับการเสนอชื่อเมื่อวันที่ 14 ส.ค.-21 ส.ค. มีองค์กรนิติบุคคลที่เสนอชื่อเข้ามา จำนวน 660 คน สมัครทางจังหวัด 1,385 คน รวมทั้งสิ้น 2,045 คน ดังนั้น ขณะนี้เหลือเวลาอีก 9 วัน ที่คาดว่าจะมีองค์กรนิติบุคคลเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาประมาณ 3,000 คน ก็น่าจะเป็นไปได้ โดยองค์กรนิติบุคคลที่ประสงค์จะเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาก็ขอให้เร่งดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม จากการเปิดรับการเสนอชื่อ 10 วัน พบว่า 5 ด้านที่มีการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหามากที่สุด ได้แก่ ด้านการศึกษา 119 คน ด้านสังคม 97 คน ด้านอื่นๆ 93 คน ด้านการปกครองท้องถิ่น 82 คน และด้านการเมือง 59 คน โดยด้านมีผู้เขัาเสนอชื่อน้อยที่สุดคือ ด้านพลังงาน มีเพียง 22 คน
ส่วนในระดับจังหวัดที่เปิดให้มีการเสนอชื่อ และทาบทามพบว่า 10 อันดับจังหวัดที่มีการเสนอชื่อมากที่สุด คือ หนองบัวลำภู 50 คน มหาสารคาม 46 คน กาฬสินธุ์ 45 คน นครสวรรค์ และสงขลาจังหวัดละ 40 คน เชียงใหม่ 38 คน นครปฐม และนครพนม จังหวัดละ 34 คน กรุงเทพมหานคร 32 คน พิษณุโลก 29 คน และกำแพงเพชร 28 คน ขณะที่จังหวัดที่มีการเสนอชื่อ และทาบทามน้อยที่สุดคือ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีเพียง 4 คนเท่านั้น
นายภุชงค์ กล่าวอีกว่า แม้ด้านพลังงานในขณะนี้จะมีผู้เข้ารับการเสนอชื่อแค่เพียง 22 คน หากปิดรับการสรรหาแล้วยังมีจำนวนเท่านี้ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการสรรหา สปช. กำหนดให้คณะกรรมการสรรหาแต่ละด้านคัดเลือกผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อในด้านละไม่เกิน 50 คนให้แก่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็จริง แต่ก็ระบุไว้ว่า คณะกรรมการสรรหาต้องเสนอชื่อไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อทั้งหมด ดังนั้น ถ้ามีผู้ได้รับการเสนอชื่อเพียง 40 คน คณะกรรมการสรรหาก็ต้องเสนอชื่อให้ คสช.พิจารณาไม่น้อยกว่า 20 คน ส่วนกรณีทีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า เผยผลสำรวจความเห็นประชาชนว่า ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการสรรหา สปช.ของคณะกรรมการสรรหาระดับจังหวัดนั้น ทั้ง กกต.และกระทรวงมหาดไทย ก็ได้มีหนังสือกำชับไปยังผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัด ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสรรหา และผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ส่วนใหญ่จะเป็นประธานคณะกรรมการสรรหาว่าจะไม่สามารถลงมติคัดเลือกบุคคลที่สมควรเป็น สปช.ได้ก่อนวันที่ 2 ก.ย. เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของการเปิดรับการเสนอชื่อ
อย่างไรก็ตาม อยากให้ประชาชนเชื่อมั่นในคณะกรรมการสรรหาทั้ง 11 ด้านที่เป็นผู้ที่ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ เชื่อว่าในกระบวนการสรรหาคณะกรรมการสรรหาทั้ง 11 ด้าน จะให้ความยุติธรรม และความเสมอภาคแก่ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ เช่นเดียวกับคณะกรรมการสรรหาระดับจังหวัด ล้วนแต่เป็นข้าราชการประจำระดับสูง ซึ่งประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ประธาน กกต.จังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และผู้แทนชุมชน จึงขอให้เชื่อมั่น และรอดูผลการคัดเลือก หากคัดเลือกแล้วพบว่ามีเหตุสงสัยก็สามารถแจ้งมายังสำนักงาน กกต.ได้ ซึ่งกรณีนี้ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าที่นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคสช.ก็ได้กำชับให้คณะกรรมการสรรหาทั้ง 11 ด้าน และคณะกรรมการสรรหาระดับจังหวัดพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อด้วยความรอบคอบยุติธรรม