รายงานการเมือง
ดูเหมือนว่าโรดแมปที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางไว้ยังคงดำเนินไปตามแผนงานเป๊ะๆ โดยอาศัยรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เป็นตัวขับเคลื่อน
โดย “วิษณุ เครืองาม” กุนซือกฎหมายของ คสช.เคยให้คำนิยามไว้ว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เป็นต้นทางของแม่น้ำ 5 สาย หรือ 5 องค์กรที่จะเกิดขึ้นภายใต้กฎหมายสูงสุดดังกล่าว ไล่ตั้งแต่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และ คสช.ที่ยังคงต้องอยู่คอนโทรลเกมต่อไป
“สนช.” ที่เป็นแม่น้ำสายหนึ่งก็ได้เริ่มหลั่งไหลแบบเต็มกำลังแล้ว ภายหลังจากที่มีการเลือก สนช.ชุดประเดิมเข้ามาประจำการทำหน้าที่ ยังเหลืออีกเพียงบางส่วนที่ยังเว้นว่างไว้ในยามที่เผื่อเหลือเผื่อขาด แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ให้ได้ยินเป็นระยะถึงหน้าตาของ สนช.ที่มีคนในเครื่องแบบอยู่ครึ่งค่อนสภา
สายธารที่เหลือก็ดูไม่น่ามีปัญหา เมื่อ สนช.เตรียมที่จะโหวตนายกรัฐมนตรีในอีกไม่กี่อึดใจนี้ ก็จะทำให้มี ครม.ชุดใหม่ภายในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งเดือน ส่วน 36 อรหันต์กรรมาธิการยกร่าง รธน.ที่จะเป็นลำธารสายสุดท้ายนั้นก็เชื่อว่าวันนี้เห็นหน้าเห็นตัวกันเกือบหมดแล้ว แต่ตามคิวต้องออกโรงเป็น “ชุดฟินาเล่” ในตอนท้าย
ที่น่าเป็นห่วงก็เห็นจะมี สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ที่กำหนดไว้ว่า ให้มีสมาชิกไม่เกิน 250 คน มาจากการสรรหาแบ่งมาจากจังหวัดต่างๆ 77 จังหวัด รวมกับผู้ทรงคุณวุฒิจาก 11 ด้านที่คระกรรมการสรรหาจะเป็นผู้ชงชื่อด้านละ 50 คน เพื่อให้ คสช.เคาะเหลือ 173 คน รวมเป็น 250 คนตามสูตรที่วางไว้
ที่น่าเป็นห่วงก็เพราะ ตลอดระยะเวลาราว 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา บรรยากาศการรับสมัครผู้เสนอตัวเป็น สปช.ไม่คึกคักอย่างที่คาดการณ์กันไว้ จนแม้แต่ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้า คสช.ยังต้องกำชับให้เร่งตีปิ๊บประชาสัมพันธ์ให้มีคนเข้ามาร่วมสรรหาเป็น สปช.ให้มากที่สุด
สะท้อนให้เห็นว่า คสช.ก็รู้ดีว่ายอด 500 กว่าคนจาก 6 วันที่เปิดรับสมัครไม่ถึงเป้าที่วางไว้ อีกทั้งเมื่อไล่สแกนเป็นรายคนก็จะเห็นว่าไร้ซึ่งเงาของบรรดา “บิ๊กเนม” ที่มาร่วมวงประชันเป็น สปช.ในคราวนี้
หลักเกณฑ์ที่ คสช.วางไว้โดยให้นิติบุคคลไม่แสวงผลกำไรเสนอชื่อคนเข้าร่วมประกวด มองแง่หนึ่งก็เพื่อเปิดกว้างให้มีบุคคลจากทุกภาคส่วนเข้ามาอยู่ในตะกร้าให้ คสช.คัดในรอบไฟนอล รวมทั้งไม่กีดกัน “นักการเมือง” เข้าร่วมเหมือนที่วางสเปก สนช.กับคนที่จะมาเป็นนายกฯ ก็เท่ากับว่าอยากเชิญชวนให้พรรคการเมืองในฐานะองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรส่งตัวแทนเข้าร่วมกระบวนการด้วย แต่อีกแง่ก็เหมือนจะทำให้ระบบคัดกรองคนมีปัญหา
เพราะองค์กรที่น่าจะเกี่ยวข้องไม่เข้าร่วม แต่องค์กรที่ดูห่างไกลกับคำว่าปฏิรูปชักแถวเสนอคนเข้ามาเต็มไปหมด จนถูกค่อนแคะว่า บรรดานิติบุคคลบ้านจัดสรร-คอนโดมิเนียม สมาคมครูผู้ปกครอง สมาคมโต๊ะสนุ้ก ก็ร่วมเสนอบุคคลได้
ขณะที่พรรคการเมืองก็ตั้งแง่มาตลอด ทั้ง “เพื่อไทย” ที่มีธงชัดเจนว่า จะไม่ขัดขวาง แต่ก็ไม่เอาตัวมาแปดเปื้อนกับการรัฐประหาร “ประชาธิปัตย์” ก็เลือกบทพระเอกตามถนัด ไม่อยากเข้าร่วมเพราะเกรงว่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน เฉกเช่นเดียวกับ “ชาติไทยพัฒนา” ที่เลือกแทงหวยไม่เข้าร่วมอีกคน
พรรคที่มีชื่อหน่อยที่ส่งคนให้ คสช.ตรวจสเปก ก็มี “ภูมิใจไทย” ที่ “เสี่ยหนู - อนุทิน ชาญวีรกูล” ส่ง “ชัยชิดชอบ” อดีตประธานรัฐสภาร่วมวง “ชาติพัฒนา” ก็เลือกให้ “พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร” เข้าชิงชัย และรายล่าสุด “พรรคคนไทย” โดย “อุเทน ชาติภิญโญ” หัวหน้าพรรคร่วมวงด้วยตัวเอง ขณะที่พรรคไม้ประดับอื่นๆกระโดดเข้าร่วมกันพรึ่บพรั่บตามคาด
ส่วนกระบวนการสรรหาของต่างจังหวัดก็ยิ่งมีปัญหา หลายจังหวัดไม่เปิดรับสมัครด้วยซ้ำ กลับเลือกใช้วิธีการทาบทาม โดยอ้างเหตุผลข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา ทั้งที่ 20 กว่าวันที่ รธน.ชั่วคราวกำหนดให้น่าจะเหลือ เมื่อเลือกที่จะทาบทามบุคคล แทนที่จะเปิดกว้างให้มีการสมัครเสนอตัว ก็หนีไม่พ้นข้อครหาที่ว่ามีการ “ล็อคตัว-ล็อคสเปก” กันไป
ลงลึกในกระบวนการทาบทามก็ไปกันใหญ่ เมื่อโจทย์ที่ คสช.ให้ไปนั้นคือ เปิดกว้าง หลากหลาย และถ้าจะให้ดีต้องมีตัวแทนกลุ่มการเมืองต่างๆเข้ามาร่วม พอไถ่ถาม “คนเพื่อไทย-คนประชาธิปัตย์” ในพื้นที่ก็พูดเหมือนๆกันว่า ช่วงนี้คนมาจีบไม่เว้นแต่ละวัน แต่ก็ยังไม่ใจอ่อน เพราะต้นสังกัดมีจุดยืนที่ชัดเจน
โดยเฉพาะ “คนเพื่อไทย-เสื้อแดง” ถูกไล่จับอย่างหนัก เพราะ คสช.ชี้เป้าอยากได้คน “ระบอบทักษิณ” เข้ามาเป็นส่วนผสมในกระบวนการปฏิรูปอย่างมาก
มองไม่ยากที่ 2 พรรคใหญ่ตั้งแง่ ก็เพราะอ่านเกมขาดว่า คสช.ไม่การันตีเก้าอี้ให้ หรือย่างน้อยหากหลุดเข้าไปได้ก็ไม่มีบทบาทสำคัญอะไร เป็นเพียงแค่ไม้ประดับ หรือเฟอร์นิเจอร์ประดับบ้าน สร้างความชอบธรรมให้กระบวนการปฏิรูปเท่านั้น
ยิ่งไปกว่าทั้งในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ในประกาศ คสช. หรือแม้แต่ระเบียบของ กกต.เกี่ยวกับการสรรหา สปช. พูดถึงเพียงสูตรในการคัดสรรบุคคล โดยให้จังหวัดต่างๆ ส่งชื่อมาจังหวัดละ 5 คน รวม 385 คน และคณะกรรมการสรรหาจัดมามา 550 คน ก่อนที่จะให้ คสช.เลือกให้เหลือ 250 คน โดยที่ไม่ได้พูดถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาว่า เลือกแบบไหนอย่างไรแม้แต่น้อย
ตรงนี้คือปมที่ฝ่ายการเมืองติดใจเป็นอย่างมาก และเกรงว่าจะตกรอบเสียหน้า-เสียฟอร์มกันไปใหญ่ การวางระยะห่างไม่เข้าร่วม ก็เหมือนการสงวนสิทธิ์ในการรุมถล่มในภายหลัง หากการปฏิรูปประเทศโดย คสช.พลาดพลั้งขึ้นมา
หากกระบวนการปฏิรูปประเทศ ไม่มีคนจากพรรคการเมืองใหญ่ “เพื่อไทย - ประชาธิปัตย์” หรือกลุ่มการเมือง “คนเสื้อแดง - กปปส.” คงดูไม่สมประกอบเท่าไรนัก แต่ด้วยพลังอำนาจที่ คสช.ก็เชื่อว่า จะเดินหน้าต่อไปได้ไม่ยาก
แต่บทสรุปออกมาในรูปแบบไหน เจ๊า-เจ๊ง-เจี๊ยะ คงต้องติดตามกันต่อไป...