xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ชี้งบ 58 ไม่ต่างปีก่อนๆ ห่วงแบกภาระประชานิยมเดิม จี้เผยความเสียหาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หน.ปชป.ชำแหละงบ 58 ไม่ต่างจากปีก่อนๆ ย้ำปัญหาที่ต้องเจอคือภาระงบที่เกิดจากประชานิยมเดิม ไร้ประโยชน์ต่อ ศก.กว่าแสนล้าน แนะควรเปิดข้อมูลความเสียหายให้ ปชช.ทราบเพื่อเป็นบทเรียนต่อการปฏิรูปประเทศ พร้อมทบทวนเลิกงบแทรกแซงราคาพืชผลหวั่นทำกำลังซื้อซบเซา ย้ำ กมธ.ต้องเปิดเผยโปร่งใส



วันนี้ (19 ส.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ว่า โครงสร้างของงบประมาณปี 58 ไม่แตกต่างจากโครงสร้างงบประมาณหลายปีที่ผ่านมา คือเป็นลักษณะขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและอยู่ในระดับที่ไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาหนี้สาธารณะ แม้แต่สัดส่วนงบประมาณเป็นรายกระทรวงในปีนี้ก็ไม่ได้มีความแตกต่างจากเดิมมากมายนัก แต่ปัญหาสำคัญที่ต้องเผชิญ คือ ภาระงบประมาณที่เกิดขึ้นจากโครงการประชานิยมเดิม ยังเป็นภาระค่าใช้จ่ายต่องบประมาณในปีนี้ โดยไม่มีประโยชน์เกิดขึ้นใดๆ ทั้งสิ้นต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น งบประมาณในโครงการจำนำข้าวซึ่งปีนี้ตั้งไว้กว่า 7.1 หมื่นล้านบาท เพื่อชดใช้หนี้ ธ.ก.ส. งบประมาณเพื่อชดใช้เงินคงคลังอีกเกือบ 4.2 หมื่นล้านบาท เข้าใจว่าเป็นการชดใช้เงินคงคลังจากโครงการรถคันแรก เป็นต้น จะเห็นได้ว่ามีงบประมาณกว่า 1 แสนล้านบาทที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ทางเศรษฐกิจเลย

“ภาระทางการคลังที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าวถือว่าเป็นภาระที่หนักมาก และจะต้องมีการจัดงบประมาณ 7-8 หมื่นล้านในร่าง พ.ร.บงงบประมาณอย่างน้อย 3-4 ปี เพราะมีภาระที่ค้างอยู่ไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท ถือเป็นบทเรียนว่าการทำโครงการโดยหวังคะแนนนิยมไม่ฟังคำเตือนจากทุกฝ่ายสุดท้ายผู้ที่รับภาระคือประชาชนที่เสียภาษี ซึ่งต้องให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเหล่านี้ เพราะจะเป็นข้อจำกัดในเรื่องจัดทำงบประมาณ คสช.ควรจะให้ข้อมูลความเสียหายจากโครงการกับประชาชนเกี่ยวกับตัวเลขการขาดทุนในโครงการนี้ ว่ามีทั้งหมดเท่าไหร่เพราะยุติการดำเนินโครงการแล้ว โดยก่อนหน้านี้มีการสรุปตัวเลขสิ้นเดือน พ.ค. 56 ว่าผลขาดทุนประมาณ 3 แสนล้านบาท การให้ข้อมูลกับประชาชนจะเป็นประโยชน์กับการปฏิรูปประเทศเพื่อกำหนดวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปซึ่งอยากให้กรรมาธิการประเมินด้วยว่ายังมีโครงการที่เป็นภาระลักษณะนี้อีกกี่โครงการเพื่อจะได้จัดทำแผนสำหรับการจัดงบประมาณระยะกลางต่อไป”

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วงคือ คสช.ได้ตัดสินใจที่จะไม่ทำโครงการแทรกแซงราคาพืชผล รวมทั้งไม่จัดงบประมาณให้หลายโครงการ เช่น โครงการกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งจะทำให้เกิดการหยุดชะงักของการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ ทำให้กำลังซื้อซบเซา จากราคาพืชผลที่ตกต่ำ เช่น ราคาข้าว ราคายาง ทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจยากที่จะเพิ่มขึ้น เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก็ยังไม่มีความชัดเจนในพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ฉบับนี้ ดังนั้น ถ้าตั้งหลักว่าจะไม่มีการแทรกแซงราคาพืชผลการเกษตรเลยจะมีปัญหา เพราเป็นคนละส่วนกับการปรับโครงสร้างระยะยาวทั้งเรื่องการลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต ที่ต้องทำควบคู่กันไป แต่ขณะเดียวกันต้องเสริมกำลังซื้อ จึงอยากให้มีการทบทวน เพราะมีการพูดว่าโครงการประกันรายได้กับจำนำข้าวเหมือนกันทั้งที่ไม่เหมือน จึงอยากให้ไปทบทวนว่าจะปรับปรุงอย่างไรให้มีมาตรการมาช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในชนบท

ดังนั้น คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ควรจะพิจารณาให้ครอบคลุม โดยประเมินภาระงบประมาณที่เกิดขึ้นจากโครงการเก่าๆ ให้ชัดเจน เพื่อตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการบริหารทางการเงินการคลังในระยะกลางว่าศักยภาพของการใช้จ่ายของรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีมากน้อยเพียงใด ปรับลดงบประมาณในโครงการต่างๆ ที่มีอยู่ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ตามที่หัวหน้า คสช.ได้ยืนยันว่าน่าจะสามารถกระทำได้ จากการขจัดปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ นำงบประมาณที่ปรับลดได้มาจัดสรรในโครงการที่จะช่วยเหลือเศรษฐกิจในชนบท โดยปรับปรุงโครงการหลายโครงการที่เคยดำเนินการในอดีต เช่น โครงการประกันรายได้ เพิ่มเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับพื้นฐาน และนำวงเงินที่ปรับลดได้อีกบางส่วน สนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในเรื่องน้ำ และระบบคมนาคมขนส่ง โดยไม่จำเป็นต้องกู้เงินนอกงบประมาณ หากรายละเอียดโครงการยังไม่พร้อม ก็อาจจัดทำในรูปของงบประมาณกลางปีได้

“ผมอยากให้การทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เป็นไปโดยเปิดเผยและโปร่งใสและทำงานอย่างจริงจัง เพราะเป็นเงินของประชาชน และหัวหน้า คสช.บอกเองว่าต้องการทำให้โปร่งใส เมื่อบอกว่าสามารถปรับลดได้กรรมาธิการควรทำเพื่อเงินดังกล่าวมาใช้ทางเศรฐกิจ เนื่องจากมีเวลาจำกัดในการพิจารณาวงเงินมหาศาล เพราะการใช้จ่ายงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ และโปร่งใสเท่านั้น จะทำให้เกิดความมั่นคงในทางเศรษฐกิจและการเมืองในระยะที่ 2 ของโรดแมป”


กำลังโหลดความคิดเห็น