xs
xsm
sm
md
lg

เทแสนล.ใช้หนี้ยุค”ปู” เลือกนายกฯ21ส.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- "ประยุทธ์" ขึงขังให้เน้นตรวจสอบการใช้งบฯ พร้อมรายงานผลการปฏิบัติให้คสช.ทราบ ขณะที่กมธ.ถกงบฯ 58 ปิดหู ปิดตา ห้ามสื่อเข้าฟัง นัดโหวตเลือกนายกฯ 21 ส.ค.นี้ "มาร์ค" อัดงบฯ 58 แบกภาระหนี้ประชานิยม"ปู" กว่าแสนล้าน โดยไม่เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ย้ำคสช.ต้องเปิดเผยความเสียหายให้ประชาชนได้รับรู้ ด้านเพื่อไทยจี้ปรับลดงบซื้ออาวุธ เอาไปพัฒนาการศึกษา เศรษฐกิจแทน

วานนี้ (19ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) เป็นประธานการประชุม คสช.ชุดใหญ่ ครั้งที่ 11 ซึ่งมีหัวหน้าฝ่ายต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมครบทุกภาคส่วน โดยก่อนการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวขอบคุณทุกส่วนงานที่มีส่วนทำให้การประชุม เพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 วาระแรก ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ทางสำนักงบประมาณ รวมทั้งทุกส่วนงานในคสช. ต้องมีแผนการตรวจสอบการใช้งบประมาณ รวมทั้งติดตามรายงานผลการปฏิบัติตามแผนงบประมาณรายจ่ายที่กำหนดไว้ให้ทราบอย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย ทั้งนี้เพื่อความโปร่งใส และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับเรื่องอื่นๆ ที่ได้มีการเสนอเพื่อทราบและเพื่อพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ คสช. มีหลายเรื่อง เช่น การพิจารณาโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โครงการขยายระบบขนส่งไฟฟ้า ระยะที่ 12 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการลดอัตราภาษีสรรพสามิต 2 ฉบับ ว่าด้วยการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล หรือ อีโค คาร์ ระยะที่ 2 การดำเนินการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยของ จ.พระนครศรีอยุธยา และการพิจารณาเพื่ออนุมัติระบายสต็อกยางพารา ของโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง

นอกจากนี้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้กล่าวยืนยันถึงเรื่องข่าวที่มีการระบุว่า คสช. เตรียมพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมให้กับอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วยว่า คสช.ไม่มีแนวคิดดังกล่าวอย่างแน่นอน

** ปิดหู ปิดตา ห้ามสื่อฟังกมธ.ถกงบฯ

เมื่อเวลา 13.40 น. วานนี้ มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งก่อนเข้าสู่วาระ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า นายณรงค์ชัย อัครเศรณี สนช. ได้ขอลาออกจากกรรมาธิการงบฯ ทำให้เหลือกรรมาธิการเหลือ 49 คน โดยไม่มีการตั้งเพิ่มแต่อย่างใด

จากนั้นได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนจาก 4 หน่วยงานหลัก ประกอบด้วย สำนักเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ เข้าชี้แจง

ทั้งนี้ พล.อ.ฉัตรชัย ได้ฝากข้อสังเกตต่อที่ประชุมว่า ร่าง งบประมาณฯ ได้พิจารณา และจัดทำรายละเอียดมาแล้ว แต่ขอให้ กมธ.ร่วมกันพิจารณาปรับลดในรายละเอียด อาทิ โครงการฝึกอบรม การจัดสัมมนา การโฆษณาประชาสัมพันธ์ และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ ให้เป็นไปตามสำนักงบประมาณกำหนด และให้พิจารณาตามความเหมาะสม และจำเป็น หากมีการซ้ำซ้อน ก็ขอให้ปรับลดงบประมาณ ส่วนงบลงทุน ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ขอให้มีราคามาตรฐาน และเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม กมธ.งบฯครั้งนี้ (19 ส.ค.) เป็นนัดแรก เริ่มพิจารณาเนื้อหาสาระของงบประมาณ แต่ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังการพิจารณา และไม่มีการถ่ายทอดเสียงการประชุม

นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สนช. กล่าวถึงกรณี กมธ.วิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนติดตามการพิจารณางบฯ ว่า เรื่องนี้ เป็นอำนาจของกมธ.ว่าจะอนุญาต หรือไม่ ในส่วนของสำนักเลขาธิการวุฒิสภาไม่มีหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ส่วนสาเหตุที่ไม่ให้สื่อเข้านั้น อาจเป็นเพราะว่า ต้องการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ให้รวดเร็ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปิดกั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนไม่ใช่ครั้งแรก ตั้งแต่ คสช. เข้ามายึดอำนาจ เพราะในการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในวาระแรก รับหลักการ เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ก็ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนขึ้นไปสัมภาษณ์ คณะคสช. บริเวณชั้นลอย อาคารรัฐสภา 1 ที่ปกติสื่อมวลชนสามารถไปรอสัมภาษณ์นายกฯ และครม.ได้

ล่าสุด ได้รับแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ของวุฒิสภา ว่า ที่ประชุมกรรมาธิการ มีมติว่าการถ่ายทอดวงจรปิด จะอนุญาตให้เฉพาะผู้เข้าร่วมชี้แจง รับชมเท่านั้น และหากสื่อมวลชนต้องการจะบันทึกภาพ ระหว่างประชุม ให้แสดงความประสงค์ต่อประธานกมธ. เป็นครั้งๆไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า ประธานกมธ.จะอนุญาตหรือไม่ ส่วนการให้ข่าวนั้น กมธ.จะมีสรุปแจกเป็นเอกสารเท่านั้น

** "มาร์ค" ชี้งบ 58 ใช้หนี้ประชานิยม"ปู"

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี สนช.รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 58 ว่า โครงสร้างของงบประมาณปี 58 ไม่แตกต่างจากโครงสร้างงบฯ ของหลายปีที่ผ่านมา คือ เป็นลักษณะขาดดุล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ปัญหาสำคัญที่ ต้องเผชิญ คือภาระงบประมาณที่เกิดขึ้นจากโครงการประชานิยมเดิม ซึ่งยังเป็นภาระค่าใช้จ่ายต่องบประมาณในปีนี้ โดยไม่มีประโยชน์เกิดขึ้นใดๆ ทั้งสิ้นต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น งบประมาณในโครงการจำนำข้าว ซึ่งปีนี้ตั้งไว้ กว่า 7.1 หมื่น ล้านบาท เพื่อชดใช้หนี้ ธ.ก.ส. งบประมาณเพื่อชดใช้เงินคงคลังอีกเกือบ 4.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการชดใช้เงินคงคลัง จากโครงการรถคันแรก เป็นต้น จะเห็นได้ว่า มีงบประมาณกว่า 1 แสนล้านบาทที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆทางเศรษฐกิจเลย

"ภาระทางการคลังที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าว ถือว่าเป็นภาระที่หนักมาก และจะต้องมีการจัดงบประมาณ 7-8 หมื่นล้านในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณอย่างน้อย 3-4 ปี เพราะมีภาระที่ค้างอยู่ไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท ถือเป็นบทเรียนว่า การทำโครงการโดยหวังคะแนนนิยมไม่ฟังคำเตือนจากทุกฝ่าย สุดท้ายผู้ที่รับภาระ คือ ประชาชนที่เสียภาษี ซึ่งต้องให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเหล่านี้ เพราะจะเป็นข้อจำกัดในเรื่องจัดทำงบประมาณ คสช. ควรจะให้ข้อมูลความเสียหายจากโครงการกับประชาชน เกี่ยวกับตัวเลขการขาดทุนในโครงการนี้ ว่ามีทั้งหมดเท่าไหร่ เพราะยุติการดำเนินโครงการแล้ว โดยก่อนหน้านี้ มีการสรุปตัวเลขสิ้นเดือนพ.ค. 56 ว่า ผลขาดทุนประมาณ 3 แสนล้านบาท การให้ข้อมูลกับประชาชน จะเป็นประโยชน์กับการปฏิรูปประเทศ เพื่อกำหนดวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป ซึ่งอยากให้กรรมาธิการประเมินด้วยว่า ยังมีโครงการที่เป็นภาระลักษณะนี้อีกกี่โครงการ เพื่อจะได้จัดทำแผนสำหรับการจัดงบประมาณระยะกลางต่อไป"

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วงคือ คสช.ได้ตัดสินใจที่จะไม่ทำโครงการแทรกแซงราคาพืชผล รวมทั้งไม่จัดงบประมาณให้หลายโครงการ เช่น โครงการกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งจะทำให้เกิดการหยุดชะงักของการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ ทำให้กำลังซื้อซบเซา จากราคาพืชผลที่ตกต่ำ เช่น ราคาข้าว ราคายาง ทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจยากที่จะเพิ่มขึ้น เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ก็ยังไม่มีความชัดเจนใน พ.ร.บ.งบประมาณฯ ฉบับนี้ ดังนั้นถ้าตั้งหลักว่า จะไม่มีการแทรกแซงราคาพืชผลการเกษตรเลย จะมีปัญหา เพราะเป็นคนละส่วนกับการปรับโครงสร้างระยะยาว

ดังนั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ควรจะพิจารณาให้ครอบคลุมโดย ประเมินภาระงบประมาณที่เกิดขึ้นจากโครงการเก่าๆ ให้ชัดเจน เพื่อตั้งข้อสังเกต เกี่ยวกับการบริหารทางการเงินการคลังในระยะกลางว่าศักยภาพของการใช้จ่ายของรัฐ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีมากน้อยเพียงใด ปรับลดงบประมาณในโครงการต่างๆ ที่มีอยู่ ประมาณ 10-20 เปอร์เซนต์ ตามที่หัวหน้าคสช.ได้ยืนยันว่า น่าจะสามารถกระทำได้ จากการขจัดปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ นำงบประมาณที่ปรับลดได้มาจัดสรรในโครงการที่จะช่วยเหลือเศรษฐกิจในชนบท โดยปรับปรุงโครงการหลายโครงการที่เคยดำเนินการในอดีต

"ผมอยากให้การทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เป็นไปโดยเปิดเผย และโปร่งใส และทำงานอย่างจริงจัง เพราะเป็นเงินของประชาชน และหัวหน้าคสช. บอกเองว่าต้องการทำให้โปร่งใส เมื่อบอกว่าสามารถปรับลดได้ กรรมาธิการควรทำเพื่อเงินดังกล่าวมาใช้ทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีเวลาจำกัดในการพิจารณาวงเงินมหาศาล เพราะการใช้จ่ายงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ และโปร่งใสเท่านั้น จะทำให้เกิดความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ และการเมืองในระยะที่สองของโรดแมป" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

** พท.จี้ปรับลดงบซื้ออาวุธ

นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการพิจารณางบประมาณ ว่า อยากฝากไปถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญฯให้พิจารณาอย่างรอบคอบ คำนึงถึงความเหมาะสม เพราะงบฯ ตั้งไว้สูงมากถึง 2.575 ล้านล้านบาท ซึ่งในความเป็นจริง สามารถตัดออกได้ถึงร้อยละ 20-30 หรือไม่ต่ำกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท โดยเมื่อครั้งพิจารณางบฯ 57 ก็มีการตัดไป 2-3 หมื่นล้านบาท

"อยากให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาหลายๆ ด้าน ช่วยกันพิจารณางบประมาณ ไม่ใช่ใช้แค่วงใหญ่วงเดียว จะได้ตัดทอนเงินออกมา เผื่อไว้สำหรับหน่วยงานที่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณ ขอผ่านคณะรัฐมนตรีในภายหลัง จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ" นายอำนวย กล่าว

ด้านนางกุสุมาลวตี ศิริโกมุท อดีต ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ 58 ควรมีวิจารณญาณในการพิจารณา สิ่งใดสมควรจัดสรรให้เป็นธรรม ไม่ควรมีอคติ ส่วนเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ควรจัดสรรให้ตามหลักการกระจายอำนาจ เพราะทุกวันนี้ คสช. มาทำให้ผิดหลักการไป

นอกจากนี้ งบการจัดซื้ออาวุธควรปรับลดลงบ้าง เพราะบ้านเมืองเราไม่ได้ไปสู้รบกับใครที่ไหน ควรเพิ่มให้กับเรื่องพัฒนาการศึกษา และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

**โหวตเลือกนายกฯ 21 ส.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ได้ออกหนังสือด่วนมาก ที่ สว (สนช) 0007 /(น 6) ถึงสมาชิก สนช. เรื่อง การประชุมสนช.

เนื่องด้วยประธาน สนช. มีคำสั่งให้นัดประชุม สนช. ครั้งที่ 3/2557 ในวันที่ 21 ส.ค.57 เวลา 10.00 น. ณ ตึกรัฐสภา โดยมีระเบียบวาระการประชุม เรื่องด่วน คือ พิจารณาผู้ที่สมควรได้รับความเห็นชอบจาก สนช. ให้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557

**ลุ้นสนช.ตัดสินเรื่องถอดถอน 4 เรื่อง

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. กล่าวถึงการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 4 เรื่อง คือ ที่ค้างการพิจารณาใน ส.ว.ชุดที่แล้วจะมีการนำมาพิจารณาในสนช.หรือไม่นั้น รองประธาน สนช. กล่าวว่า เป็นเรื่องที่สำนักเลขาธิการวุฒิสภาจะพิจารณา ว่าจะเสนอให้ สนช. พิจารณาหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่การดองเรื่องไว้ที่ข้าราชการ หรือเป็นการปัดความรับผิดชอบแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องขั้นตอนการนำเสนอเรื่องที่ตกค้างก่อนที่จะมี สนช. หากตน หรือประธาน สนช. ไปสั่งการให้เสนอเรื่องเข้ามา ก็อาจถูกวิจารณ์ว่าล้วงลูก มีเจตนาตามล้าง ทำให้ต้องระมัดระวัง และไม่อยากให้คิดว่าเรื่องถอดถอน เป็นวาระทางการเมือง หรือวาระซ่อนเร้น แต่ให้คิดเหมือนกับกฎหมายที่ค้างอยู่ ซึ่งเลขาของสองสภา ก็เป็นผู้พิจารณาแล้วเสนอขึ้นมา

อย่างไรก็ตามยอมรับว่า เรื่องการถอดถอนที่ค้างอยู่นั้น มีประเด็นที่ถกเถียงในข้อกฎหมายว่า สนช. มีอำนาจที่จะดำเนินการได้หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้ระบุเกี่ยวกับหน้าที่ถอดถอนเอาไว้ ซึ่งตนคนเดียวคงวินิจฉัยไม่ได้ เนื่องจากมีความเห็นต่างกัน ทั้งในเรื่องอำนาจของ สนช. และฐานความผิดที่มีการชี้มูลด้วย อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่าในกรณีที่มีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับแง่มุมทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ก็เสนอให้ที่ประชุมลงมติ ตัดสินใจว่า กระบวนการถอดถอนที่ค้างอยู่นั้น สนช.จะเดินหน้าต่อได้ หรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ดูแนวโน้มแล้วเรื่องถอดถอนทั้งสี่เรื่อง อาจไม่ได้รับการพิจารณา ถือเป็นการสูญเปล่าหรือไม่ เพราะมีการดำเนินการจาก ป.ป.ช. จนได้มติแล้ว แต่กลับดำเนินการต่อไม่ได้ นายสุรชัย กล่าวว่าทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่า กฎหมายให้ทำได้หรือไม่ เพราะฝ่ายนิติบัญญัติ ก็ต้องทำตามกฎหมาย ถ้ากฎหมายไปไม่ถึง ก็ไปไม่ถึง ส่วนตอนนี้กฎหมายจะไปถึงหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ ที่ประชุม สนช. จะต้องเป็นผู้พิจารณา หากว่ามีการเสนอเรื่องเข้ามา

สำหรับเรื่องถอดถอน 4 เรื่องที่ค้างอยู่ประกอบด้วย การถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตจำนำข้าว กรณีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช กระทำผิดต่อหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. และ กรณี 36 ส.ว. แก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

** ขอบคุณทีมวอลเลย์บอลหญิงสร้างความสุข

เวลา 14.30 น. วานนี้ พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคสช. แถลงผลการประชุม คสช.ว่า ในระหว่างการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องของราคาสินค้าเกษตร หาแนวทางในการขายสินค้าของเกษตรกรโดยตรง ไม่ต้องรอมาตรการของภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว ในส่วนการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ให้ทุกภาคส่วนหาแนวทางเพื่อให้การแก้ดำเนินการได้ผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมทั้งยังแสดงความเป็นห่วงเกษตรกร ผู้ปลูกยางพารา ซึ่งราคาตกต่ำลง โดยกำชับให้ช่วยเหลือในเรื่องของการเสริมสินเชื่อแปรรูป และผลิต เพื่อบรรเทาปัญหาของเกษตรกร

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ศึกษารายละเอียดโครงการพัฒนาโครงข่ายขนส่งคมนาคมทางรถไฟ ที่เชื่อว่าจะสามารถส่งเสริมการลงทุน และเศรษฐกิจของประเทศได้

**กำหนดเกณฑ์ภาษีอีโคคาร์ใหม่

น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษก คสช. แถลงผลการประชุม คสช.ในส่วนของมาตรการส่งเสริมการผลิตรถอีโคคาร์ในไทย ว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง ถึงการลดอัตราภาษีสรรพสามิต ฉบับที่ 81 และ 109 เพื่อส่งเสริมการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล หรืออีโคคาร์ ในระยะที่ 2 ซึ่งในประกาศฉบับที่ 81 จะแก้ไขมาตรฐานมลพิษจากยูโร 4 เป็นยูโร 5 อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซด์ เดิมอยู่ที่ 120 กรัม ต่อ กิโลเมตร เป็น 100 กรัมต่อ กิโลเมตร อัตราใช้พลังงานเชื้อเพลิง 5 ลิตร ต่อ 100 กิโลเมตร เป็น 4.3 ลิตร ต่อ 100 กิโลเมตร และกำหนดขนาดเครื่องเบนซิน เป็น 1300 ซีซี ดีเซล เป็น 1500 ซีซี และ E85 และ B10 ขณะที่ยังคงอัตราภาษีเดิม คือ ร้อยละ 17 สำหรับประกาศฉบับที่ 109 มีเนื้อหาปรับแก้อัตราภาษีในส่วนของอีโคคาร์ เครื่องยนต์ดีเซล จาก 1400 ซีซี เป็น 1500 ซีซี ที่ร้อยละ 14 และ E85 และB10 อยู่ที่ร้อยละ 12 คสช. อนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และปรับปรุงระบบสายส่ง ทั้งระบบกว่า 1.6 แสนล้านบาท

น.พ.ยงยุทธ ยังได้กล่าวถึงการพิจารณาเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ด้านพลังงานด้วยว่า ที่ประชุมได้อนุมัติงบประมาณเพื่อจัดสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 ซึ่งจะปลดการทำงานในวันที่ 31 ธ.ค.60 โดยเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนวงเงิน 36,811 ล้านบาท เบิกจ่ายงบลงทุน ประจำปีงบประมาณ 57 วงเงิน 4,059 ล้านบาท ใช้เงินตราต่างประเทศ 26,247 ล้านบาท และเงินบาทไทย 10,564 ล้านบาท แผนการดำเนินการก่อสร้าง 48 เดือน ซึ่งทางหัวหน้า คสช.ให้ไปศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้รอบด้านก่อนที่จะเริ่มแผนงาน

นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ขยายระบบส่งไฟฟ้าระยะที่ 12 วงเงิน 60,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ 14,500 ล้านบาท และเป็นค่าใช้จ่ายซื้ออุปกรณ์ในประเทศและก่อสร้าง 45,000 ล้านบาท ดำเนินการภายในระยะเวลา 7 ปี 3 เดือน (ม.ค.56 - มี.ค.63) ซึ่งจะเป็นการสร้างสายส่งและสถานีไฟฟ้าเพิ่ม รวมไปถึงอนุมัติงบประมาณ 63,200 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงระบบไฟฟ้าภาคตะวันตกและภาคใต้ และเห็นชอบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกู้เงินสำหรับงานใน 17 โครงการ งบประมาณปี 2557 วงเงิน 8,839 ล้านบาทด้วย

น.พ.ยงยุทธ เปิดเผยด้วยว่า คสช.ยังอนุมัติแผนแก้ปัญหาขยะมูลฝอยทั่วประเทศ โดยจะเริ่มนำร่องที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยใช้เทคโนโลยีแปลงขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงก่อนจะขยายไปยังพื้นที่อื่น พร้อมทั้งเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม แก้ไขกฎหมายป้องกัน และปราบปรามการค้างาช้าง ตามอนุสัญญาว่า ด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่า หรือพืชป่า ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรือไซเตส ให้แล้วเสร็จในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ก่อนจะรายงานความคืบหน้าให้ที่ประชุมไซเตสรับทราบในปีหน้า

** เพิ่มเงินค่าครองชีพตุลาการศาลปค.

น.ส.ปถมาภรณ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ทีมโฆษก คสช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมรับทราบรายงานการสอบบัญชีงบการเงินของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ถึงวันที่ 31 ธ.ค.55 โดยสรุปตัวเลขทั้งหมด กบข. มีทรัพย์สินรวมกว่า 580,000 ล้านบาท หนี้สินกว่า 3,618 ล้านบาท และมีผลกำไรจากการดำเนินงานล่าสุดกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้รับการตรวจสอบความถูกต้องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

นอกจากนี้ คสช. ได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมในการดำเนินงานหลังจากนี้ คือ การแสดงผลตอบแทนในแต่ละแผนการลงทุนส่งให้กับสมาชิก เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกแผนการลงทุนต่างๆ และการเตรียมความพร้อมกรณีสมาชิกเลือกใช้สิทธิในร่าง พ.ร.บ.กลับไปใช้ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ต่อไป รวมถึงการให้สิทธิแก่ผู้เกษียณอายุราชการ สามารถเข้าถึงข้อมูลในเวปไซต์ กบข. ได้อย่างสะดวก

น.ส.ปัทมาภรณ์ กล่าวด้วยว่า คสช.เห็นชอบกำหนดอัตราเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว ให้แก่ตุลาการศาลปกครอง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 55 เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อปรับให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องจากไม่มีการปรับมาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งการปรับจะเทียบเคียงกับอัตราเงินเดือนหรือเงินเดือนประจำตำแหน่ง และเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวของข้าราชการตุลาการ โดยตุลาการศาลปกครองชั้นหนึ่ง ได้แก่ตุลาการศาลปกครองชั้นต้น จะได้เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว 6,700 บาท ตุลาการปกครองชั้นสอง ได้แก่ตุลาการปกครองชั้นต้นถึงรองอธิบดีศาลปกครองชั้นต้น จะได้เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว 6,900 บาท ตุลาการปกครองชั้นที่สาม ได้แก่ ตุลาการศาลปกครองชั้นต้นถึงรองประธานศาลปกครองสูงสุด 7,300 บาท และตุลาการปกครองชั้นที่สี่ ได้แก่ ประธานศาลปกครองสูงสุด 12,500 บาท

ทั้งนี้ คสช.เห็นชอบให้กรมราชทัณฑ์ก่อหนี้ผูกพันเกินวงเงินจำนวนกว่า 890 ล้านบาท รวมถึงอนุมัติงบฯ กลาง เพื่อใช้เป็นค่าอาหารปี 2556-2557 วงเงินกว่า 3,417 ล้านบาท ซึ่งหัวหน้าคสช. ยังสั่งการให้กรมราชทัณฑ์พิจารณาลดจำนวนผู้ต้องขัง รวมทั้งให้หาสถานที่ปลูกพืชเสริมเพื่อใช้ประกอบอาหารให้ผู้ต้องขัง และกระจายสินค้าราชทัณฑ์
กำลังโหลดความคิดเห็น