ทีมโฆษก คสช.เผยผลประชุม คสช. “นายกฯ ตู่” ย้ำเดินหน้าชาติ เร่งฟื้นฟูทุกด้านเน้นเศรษฐกิจ ฉุนพวกอ้างชื่อ คสช.แจกโควตาพลังงาน ลั่นไม่จริง ห่วงปัญหาราคายางตกต่ำ ทุ่มงบ 5,938 ล้านบาท ทำแผนพัฒนา 10 ปี พร้อมอนุมัติเงินกว่า 3 หมื่นล้านสร้างบ้านการเคหะฯ ยกคุณภาพชีวิต ปชช.ระดับล่าง
วันนี้ (26 ส.ค.) พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก และทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยผลการประชุม คสช.ครั้งที่ 12/2557 ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวก่อนการประชุมว่า การดำเนินการเรื่องเร่งด่วนหลักๆ คือ เรื่องเศรษฐกิจ แผนฟื้นฟูเฉพาะหน้า มาตรการระยะยาวที่จะแก้ปัญหาสินค้าเกษตร การจัดระเบียบสังคม และเรื่องของความมั่นคง ด้านการเจรจากับทางมาเลเซีย โดยเน้นย้ำให้ผู้เกี่ยวข้องนำผลสรุปของการหารือมานำเสนอด้วย ส่วนการเร่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า ไม่ได้เน้นเรื่องปัญหาแรงงานที่จะไหลเข้ามาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีองค์ประกอบสำคัญอย่างอื่นอีก เช่นการเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมให้มากขึ้นไม่กระจุกตัวในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยให้พื้นที่อุตสาหกรรมกว้างขวางขึ้น ลดปัญหาการขนส่งที่มีต้นทุนสูง หากเศรษฐกิจอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ก็จะช่วยลดปัจจัยการขนส่งได้ และจะเป็นการเพิ่มความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในเรื่องการจัดการปัญหาขยะให้เป็นระบบ โดยลดปัญหาขยะ และเพิ่มเติมพลังงานทดแทนในรูปแบบการกำจัดขยะ ซึ่งฝ่ายสังคมจิตวิทยา ได้เสนอ คสช. ให้พิจารณาเห็นชอบโรดแมพ การจัดการขยะมูลฝอย และของเสียอันตราย และแผนปฏิบัติการแก้ไชพื้นที่วิกฤตที่ต้องเร่งแก้ปัญหาการกำจัดขยะมูลฝอยให้ถูกต้อง และให้ความเห็นชอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยในท้องที่นครปฐม ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สมุทรปราการ และสระบุรี โดยอนุมัติให้ใช้งบประมาณกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 520 ล้านบาท
สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้เน้นการดำเนินการในรูปแบบที่ยั่งยืน ส่วนการรักษาความปลอดภัยชีวิตทรัพย์สิน จะพยายามใช้กฎหมายปกติเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการกฎหมายที่มีความเข้มข้นสูง อย่างกฎอัยการศึกอย่างเดียว ขณะเดียวกันพลเอกประยุทธ์ ยังให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสอีโบล่า โดยได้ชื่นชมหญิงไทย ที่เดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง เห็นว่าตัวเองมีไข้ก็มีการบริหารจัดการตัวเอง ด้วยการแจ้งเจ้าหน้าที่พร้อมทิ้งเบอร์โทรศัพท์ เพื่อให้ภาครัฐติดตามดูแล ซึ่งหัวหน้า คสช.เน้นย้ำให้หน่วยงานเกี่ยวข้องมีมาตรการดูแล เชื่อไวรัสทั้งอีโบล่า และเชื้ออื่นๆ ที่จะอาจส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในอนาคต โดยการเตรียมความพร้อมอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่ หรือเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือให้พร้อม รวมถึงระบบการตรวจสอบคัดกรองกลุ่มเสี่ยงต่างๆ และอาจมีการตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะ สามารถพิจารณาขอรับการสนับสนุนงบประมาณได้ตามความจำเป็น
ทั้งนี้ หัวหน้า คสช.ฝากให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพลังงาน หน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยจัดให้ความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งจะจัดขึ้นที่สโมสรกองทัพบก เทเวศร์ ในวันที่ 27 ส.ค. 2557 เวลา 09.00 น. จึงอยากเชิญชวนผู้ที่มีความสงสัยหรือต้องการข้อมูลมาร่วมรับฟัง และแลกเปลี่ยนความเห็นดังกล่าว
สำหรับการแก้ไขปัญหาเรื่องยางพารา หัวหน้า คสช.มีความเป็นห่วง และให้ความสำคัญอย่างมาก พยายามดำเนินการมาตรการระยะสั้น โดยการหาตลาดเพิ่ม และซื้อขายในราคาที่เหมาะสมไม่ให้กดดันราคา รวมถึงมาตรการระยะยาว ส่งเสริมเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยมีสถานบันการเงินให้การสนับสนุนเรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์เบื้องต้น รวมถึงให้ดำเนินการส่งเสริมจัดทำผลิตภัณฑ์ยางไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายในประเทศ พร้อมสนับสนุนจัดตั้งสถาบันวิจัยยาง และการสร้างความสมดุลระหว่างความต้องการในการซื้อ และขายให้มีความสัมพันธ์กันอย่างแท้จริง โดยที่ประชุมคสช. ได้เห็นชอบแนวทางการพัฒนายางทั้งระบบตามแผนเดิมในระยะเวลา 10 ปี ระหว่าง ปี 2557-2567 พร้อมให้ความเห็นชอบการดำเนินงานตามโครงการเพื่อให้การสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง ภายใต้แนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบจำนวน 3 โครงการ และอนุมัติกรอบวงเงินเพื่อดำเนินการตลอดระยะเวลาโครงการรวมประมาณ 5,938 ล้านบาท อนุมัติงบประมาณกลางประจำปี 2557 จำนวน 977 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สำหรับการดำเนินการในปีแรก โดยเหตุผลและความจำเป็นต่อแนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบทางคณะกรรมการนโยบายยางพาราแห่ชาติ (กนย.) ได้เห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2557 บริหารจัดการสต็อคยางลดอุปทานส่วนเกินในประเทศ และเสริมสภาพคล่องให้กับสถาบันเกษตรกร พัฒนาคุณภาพยาง เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยการแปรรูป พัฒนาระบบการตลาด และการวิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์
ส่วนกรณีที่มีความต้องการให้ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนระดับล่าง หรือที่ชุมชนแออัดในอนาคต ทางภาครัฐจะร่วมกับ กทม. และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดหาอาคารสถานที่ที่มีความเหมาะสมไม่ให้เกิดความแออัดกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างเช่นแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ คงต้องพยายามให้มีเพิ่มเติมมากขึ้น เพื่อควบคุมความต้องการประชาชนให้มาขึ้น โดยที่ประชุม คสช. ได้เห็นชอบในหลักการแผนการลงทุน โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุดที่ 1 ของการเคหะแห่งชาติในกรอบวงเงินลงทุนรวมประมาณ 3 หมื่นกว่าล้านบาท รวม 38 โครงการ จำนวน 16,146 หน่วย วงเงินลงทุนรวมประมาณ 9,577 ล้านบาท เงินอดหนุนรวม 1,249 ล้านบาท และเงินกู้ภายในประเทศ 7,113 ล้านบาท และเงินรายได้ของการเคหะ 1,214 ล้านบาท ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังจัดการและค้ำประกันเงินกู้ และเห็นชอบวงเงินอุดหนุนของรัฐบาลจำนวน 1,249 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี 2554 ที่เห็นชอบพลิกฟื้นองค์กรการเคหะแห่งชาติ โดยทางการเคหะแห่งขาติ ได้จัดทำแผนการลงทุนเสนอให้ ครม. พิจารณาเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556
ส่วนการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ หัวหน้า คสช.สั่งให้ดูรูปแบบรายละเอียดเฉพาะตัวของแต่ละองค์กร ซึ่งบางองค์กรสามารถแข่งขันกับเอกชนได้ แต่บางองค์กรภาครัฐต้องให้บริการประชาชน โดยไม่ได้หวังผลกำไรอย่างเดียว พร้อมกันนี้ยังเร่งรัดโครงการจัดทำภาพยนตร์ ส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยให้กระทรวงวัฒนธรรมเร่งดำเนินการ ส่วนปัญหาเด็กแว้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดทำมาตรการรณรงค์ และมาตรการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมสอดแทรกการปราบปรามเพื่อให้ผู้กระทำความผิดไปทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์รูปแบบต่างๆ
ส่วนกรณีที่มีการแอบอ้างชื่อ คสช.เพื่อการปฏิบัติ หรือดำเนินการบางอย่าง เช่น การอ้างชื่อ คสช.ขอเปลี่ยนแปลงชื่อผู้บริหารองค์กร กรรมการบริหารบริษัทต่างๆ ในเครือของรัฐวิสาหกิจ รวมถึงกระแสการอ้างชื่อ คสช.ขอโควตาประกอบกิจการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะส่งขายให้กับทางการไฟฟ้านั้นไม่เป็นความจริง ทางหัวหน้า คสช.ยืนยันไม่ได้มีการจัดสรรโควตา เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพลังงาน หรือทางการไฟฟ้า จะต้องเป็นผู้พิจารณาจัดสรร ซึ่งเป็นเรื่องของกฎระเบียบ และกติกาที่เป็นธรรม เปิดกว้างให้มีการแข่งขันของผู้ประกอบการอย่างเท่าเทียม ทาง คสช.ไม่ได้ดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของใคร หรือให้ใครไปแอบอ้าง หากพบการแอบอ้าง คสช.ในมุมใดก็ตาม สามารถสอบถาม และตรวจสอบข้อมูลจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ หรือทางทีมโฆษก เพื่อที่จะนำข้อเท็จจริงมาแจ้งสู่กันฟังได้