ทีมโฆษก คสช. เผยที่ประชุม อนุมัติงบกลาง 115 ล้าน ซ่อมท่าเทียบเรือหัวหิน, อนุมัติ 1,200 ล้าน ตั้งศูนย์รังสีโปรตรอนบำบัด รพ.จุฬาภรณ์, ต่ออายุลดภาษีดีเซล อีก 1 เดือน, สรุปช่วยชาวสวนยาง 1,600 ล้าน, ช่วยประมงและปศุสัตว์ 5,498 ล้าน, อนุมัติ 835 ล้าน ปรับปรุงถนนชายแดนใต้ 974 กิโลเมตร, สั่งเร่งรัดร่าง พ.ร.บ. 12 ฉบับ “ประยุทธ์” ห่วงใช้บารากุ, สั่งโละ 3 โครงการประชานิยม ชะลอ 1 โอนย้าย 2 เอสเอ็มแอลโดนด้วย ส่วนกองทุนหมู่บ้านรอด
วันนี้ (29 ก.ค.) ที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ เมื่อเวลา 16.00 น. น.ส.ปถมาภรณ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ทีมโฆษก คสช. ฝ่ายพลเรือน แถลงข่าวภายหลังการประชุม คสช. ว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน ครั้งที่ 8/2557 ว่า ที่ประชุมอนุมัติงบกลางเป็นเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 115 ล้านบาท เพื่อซ่อมแซมท่าเทียบเรือประมงหัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งก่อสร้างขึ้นโดยพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน ณ พระราชวังไกลกังวล เมื่อปี 2506 เพื่อใช้เป็นสถานที่ขนถ่ายสัตว์น้ำของชาวประมง อ.หัวหิน และใกล้เคียง ซึ่งได้เกิดชำรุด ปัจจุบันท่าเทียบเรือดังกล่าวเป็นที่พักผ่อน และจุดชมวิวของประชาชน และใช้เป็นที่จอดเรือของกองทัพเรือ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ระหว่างที่ดูแลความเรียบร้อย และความปลอดภัย รอบพระราชวังไกลกังวล
น.ส.ปถมาภรณ์ แถลงว่า นอกจากนี้ คสช. อนุมัติงบประมาณ 1,200 ล้านบาท ในการจัดตั้งศูนย์รังสีโปรตรอนบำบัดของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นงบผูกพันข้ามปี 2558 - 2561 เพื่อเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียนในการรักษาโรคมะเร็ง นอกจากนี้ เห็นชอบขยายการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิต น้ำมันดีเซล ที่จะครบกำหนด ในวันที่ 31 ก.ค. ออกไปอีก 1 เดือน จนถึงวันที่ 31 ส.ค. เพื่อลดภาระของประชาชน และเพื่อทำความเข้าใจถึงโครงสร้างพลังงาน
น.ส.ปถมาภรณ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้สรุปมาตรการช่วยเหลือเกษตรชาวสวนยางพารา โดยใช้งบประมาณ 1,600 ล้านบาทเศษ เพื่อจ่ายให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน ผ่านการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์แล้ว กว่า 79,000 ครัวเรือน โดยโอนเงินให้เกษตรกรแล้ว 1,900 ล้านบาทเศษ และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณพิจารณาโอนเงินอีก 193 ล้านบาท หรือ 15,000 ครัวเรือน ทั้งนี้ จะดำเนินการให้แล้วเสร็จ วันที่ 31 ก.ค. นี้ นอกจากนี้ คสช. ยังได้อนุมัติงบเงินช่วยเกษตรกรชาวประมง และปศุสัตว์ ในพื้นที่ 68 จังหวัด จำนวน 5,498 ล้านบาท โดยโอนเงินให้เกษตรกรแล้ว 1,451 ล้านบาทเศษ และส่วนที่เหลือจะเร่งดำเนินการต่อไป
ขณะเดียวกัน คสช. อนุมัติงบประมาณกว่า 835 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจัดสร้าง ปรับปรุงถนนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา รวม 37 สาย ระยะทาง 974 กิโลเมตร ทั้งนี้ ทางเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน โดยให้กรมการทหารช่าง ใช้ยางธรรมชาติ ผสมยางมะตอย และดำเนินการให้แล้วเสร็จในเวลา 360 วัน รวมถึงมอบหมายให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาลิกัลยะ รองหัวหน้า คสช. ไปหารือกับกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สนับสนุนการใช้ยางพาราในประเทศ
น.ส.ปถมาภรณ์ แถลงว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ที่ควรเร่งรัดให้มีผลใช้บังคับตามนโยบาย คสช. รวม 12 ฉบับ ดังนี้ 1. ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ..... 2. ร่าง พ.ร.บ.การกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 พ.ศ.... 3.ร่าง พ.ร.บ.กองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่...) พ.ศ... 4. ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ... 5. ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ... 6. ร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน (ฉบับที่...) พ.ศ... 7. ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.นิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ.2540 พ.ศ... 8. ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.การชลประทานราษฎร์ พ.ศ. 2482 พ.ศ... 9. ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ... 10. ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่...) พ.ศ... 11. ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางบก (ฉบับที่...) พ.ศ... และ 12. ร่าง พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ...
ด้าน ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงว่า ที่ประชุม คสช. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้สารระเหยในกลุ่มโวลาไทล์อัลคิลไนไตรท์ เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ... ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกำหนดมาตรการควบคุมสาระเหยในกลุ่มนี้ เนื่องจากเป็นสารที่ใช้ประกอบยาในการมอมเมาผู้หญิง ตามที่คณะกรรมการป้องกันการใช้สารระเหยเห็นชอบ ที่กำหนดให้สารระเหยกลุ่มนี้เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้า ส่งออก เพื่อกำกับดูแลไม่ให้มีการนำมาใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้ หัวหน้า คสช. ได้แสดงความห่วงใยต่อการใช้บารากุ ซึ่งต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการที่เหมาะสมทางด้านสุขอนามัย เนื่องจากบารากุมีสารประกอบของทาร์ และนิโคติน
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า หัวหน้า คสช. กำชับถึงการใช้งบประมาณของ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) รวมไปถึงงบประมาณในกองทุนต่างๆ ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ สลน. ทำการพิจารณาทบทวน 6 กองทุนที่รับผิดชอบ โดยส่วนที่ให้ดำเนินการต่อไป คือ กองทุนหมู่บ้านและชุมนุมเมือง ทาง คสช. เห็นว่าควรให้ดำเนินการต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าการดำเนินการไม่ได้ก่อหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) เกินกว่า 10% จากการสำรวจทั่วประเทศพบว่าเกณฑ์การดำเนินงาน 30-40% ระดับดี 50-60% ระดับปานกลาง และเพียง 10% ต้องปรับปรุง โดยปีงบประมาณ 2557 ได้รับงบสนับสนุนเพิ่มทุน 2.6 หมื่นล้านบาท และมีเงินทุนสะสมทั้งหมด 3.4 หมื่นล้านบาท
นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า ส่วนที่ให้ยุติการดำเนินการ คือ 1. กองทุนพัฒนาศักยภาพหมุ่บ้าน/ชุมชน หรือกองทุนเอสเอ็มแอล ทาง คสช. ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนและดำเนินการในส่วนของปี 55 - 56 พร้อมกับยุติโครงการในงบปี 57 วงเงิน 5.7 พันล้านบาท 2. กองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการในชุมชน ทาง คสช. ให้ยุติการใช้งบประมาณ 3 พันล้านบาท และ 3. กองทุนพัฒนาเมืองในภูมิภาค ให้ยุติการดำเนินการในส่วนของปี 57 วงเงิน 1,225 ล้านบาท ทั้งนี้ งบประมาณในส่วนของข้อ 1 - 2 ให้โอนไปให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า สำหรับ กองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ วงเงิน 596 ล้านบาท ได้ให้ชะลอการดำเนินการ และโอนงบประมาณไปยังโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) หรือ กองทุน สสว. ต่อไป นอกจากนี้ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ทาง คสช. ให้โอนย้ายไปสังกัดกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พร้อมกับให้ทบทวน หรือยุบรวมภารกิจเข้ากับกระทรวง เช่นเดียวกับ สภาเกษตรกร ที่ให้นำไปรวมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งทบทวน หรือยุบภารกิจเข้ากับกระทรวงดำเนินการแทน ทั้งนี้ งบประมาณที่ คสช. เรียกคืนจาก สลน. จากทั้ง 5 กองทุนที่ให้ยุติและทบทวน รวมเป็นเงินราว 9,925 ล้านบาท โดยงบดังกล่าวจะนำไปสนับสนุน กยศ. และกองทุน สสว. ตามที่ระบุข้างต้น นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณที่เหลืออยู่บางส่วน ซึ่งจะมีการสั่งการนำไปใช้ในภารกิจต่างๆ อีกครั้ง
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ที่ประชุม คสช. พิจารณาร่างพระราชบัญญัติรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 โดยมีการปรับลดงบประมาณ จำนวน 7,700 ล้านบาท เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้เร่งด่วนแบบบูรณาการ 14 ด้าน ให้ต่อเนื่องระหว่างปี 2557 - 2558