รายงานการเมือง
เป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้วที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
แม้นว่าขณะนี้สถานการณ์บ้านเมืองจะเริ่มเข้ารูปเข้ารอย ตามวาทะที่ “บิ๊กตู่” เคยลั่นสัญญาไว้ภายหลังการยึดอำนาจ และกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ระยะที่ 2 โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเลือกประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปี 2557 พร้อมด้วยรองประธานอีก 2 คน เพื่อเตรียมสรรหานายกรัฐมนตรีก็ตาม
อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญเช่นนี้ นักการเมืองหลากค่ายหลายสีต่างถูกเตือน “ห้ามตั้งคำถาม” ใดๆ ที่เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการ “คืนความสุข” ตามนโยบาย คสช.
ดังจะเห็นได้จากคำพูดของ “บิ๊กตู่” ที่หล่นผ่านรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศผ่านโทรทัศน์เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557 เตือนนักการเมืองและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแหลมคมและเจ็บแสบ โดยระบุว่า ในช่วงที่ตัวเองมีอำนาจทำไมถึงไม่แก้ไขในช่วงนั้น แต่พอ คสช.เข้ามากลับพูดให้ทำนู่นทำนี่ ดังนั้นขอร้องอย่าพูดอะไรเลยดีกว่า ขอเวลาให้ คสช.ปฏิรูปเรื่องต่างๆ ให้เสร็จสิ้นกระบวนความเสียก่อน
แต่ท่ามกลาง “ความเงียบ” ของบรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองซึ่งถือเป็นความหวังของประชาชนเช่นนี้ กลับมีนักการเมืองรายหนึ่ง ที่ใครหลายคนอาจมองว่า ไม่มีความสำคัญ และไม่มีความจำเป็นจะต้องติดตามข่าวเพื่อลงพื้นที่ในหน้าหนังสือพิมพ์ด้วยซ้ำ กลับออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ คสช. ติดตามตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของ “ขั้วอำนาจเก่า-รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ที่เคย “ทำมิดีมิร้าย” ไว้กับประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา
เปรียบได้ดั่ง “แสงเทียน” ที่ลุกสว่างโชติช่วงท่ามกลางความมืดมิดและหนาวเหน็บของสังคมไทยในช่วงนี้ เตือนความจำให้ใครหลายคนที่เคยลืมเลือนไปแล้วว่า “รัฐบาลเก่า” แอบทำอะไรผิดหลักผิดเกณฑ์ไปบ้าง?
ชื่อของ “เดอะแจ็ค-วัชระ เพชรทอง” อดีต “ส.ส.ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธานอนุกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการสื่อสารมวลชนแห่งรัฐสภา ถูกสังคมจับตามองอีกครั้งในห้วงเดือนที่ผ่านมา ภายหลังเข้ายื่นหนังสือร้อง คสช. และองค์กรอิสระต่างๆ ถึงพฤติกรรมส่อปฏิบัติมิชอบใน “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ในหลายประเด็น
โดยประเด็นที่โดดเด่นและน่าจับตา และอาจเป็นประเด็นที่หลายคนอาจลืมไปแล้วคือ กรณีไม่ดำเนินการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพี่สาว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่นายวัชระเคยยื่นไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นประธานสำนักงานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินให้จำคุก 2 ปี จากคดีที่ดินย่านรัชดาภิเษก
แม้ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีมติในกรณีดังกล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ ร.ต.อ.เฉลิม ไม่ใช่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจในการพิจารณาถอดยศ และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในขณะนั้น ไม่ได้กระทำที่เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ก็ตาม โดยสรุปว่าไม่สามารถถอดยศได้ เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับ สตช.
แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า สตช.ไม่ได้นำข้อเท็จจริงประเด็นที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาแล้วหลบหนีตามหมายจับของศาลฎีกาฯ รวม 5 คดี ซึ่งอยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ 1 (6) แห่งระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. 2547 ที่ สตช. จะต้องนำมาพิจารณาประกอบในการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินจึงขอให้ สตช. ดำเนินการตามระเบียบดังกล่าวเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน
ทั้งนี้ แม้ว่านายวัชระจะยื่นเรื่องดังกล่าวให้กับ คสช. เพื่อให้ “บิ๊กตู่” พิจารณาในกรณีนี้ด้วยตัวเอง เพื่อให้ระเบียบและกฎหมายบังคับใช้ได้โดยเสมอภาค อย่างไรก็ดี คสช. กลับโยนเรื่องนี้คืนมาให้ สตช.พิจารณาแทน ทั้งที่ความเป็นจริง พล.อ.ประยุทธ์ สามารถตัดสินใจได้ว่าสมควรถอดยศออกหรือไม่?
“พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะที่เป็นเจ้าของรัฏฐาธิปัตย์แต่เพียงผู้เดียว ควรใช้ความเด็ดขาดพิจารณาปัญหาทุกเรื่อง อย่าโยนไปต้นสังกัดและตัดสินใจให้เด็ดขาดว่าจะถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่ ถ้าไม่ถอดเพราะอะไร ควรแจ้งให้ประชาชนรับทราบเพื่อความชัดเจนจะได้ไม่อึมครึมอีกต่อไป”
เป็นข้อเรียกร้องที่นายวัชระที่ยิงคำถามตรงไปถึง “บิ๊กตู่” ให้แก้ไขสถานการณ์โดยด่วน เพื่อลดข้อครหาของสังคม และคลี่คลายปัญหาที่คาราคาซังมาเนิ่นนานให้จบสิ้นลงเสียที
นอกจากนี้ นายวัชระยังยื่นหนังสือถึงหัวหน้า คสช. ในประเด็นที่นายเอกยุทธ อัญชันบุตร นักธุรกิจ ที่ถูกฆาตกรรมสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการสรุปสำนวนว่าเป็นการฆ่าชิงทรัพย์ ต่อมาเพิ่มข้อกล่าวหานายสันติภาพ เพ็งด้วง กับพวกว่าฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
นายวัชระเชื่อว่าเรื่องนี้ค้านสายตาสังคมเป็นอย่างมาก เนื่องจากตามพยานบุคคลและผลการชันสูตรของแพทย์ไม่ได้เป็นไปตามที่ผู้ต้องหาในคดีน้ให้การ ดังนั้นท่ามกลางสถานการณ์ “คืนความสุข” ของ คสช. จึงขอเรียกร้องให้รื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นมาใหม่ หรือให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมด้วย
ขณะเดียวกัน นายวัชระได้เข้ายื่นหนังสือต่อองค์กรอิสระต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ยอมรับโครงการรับจำนำข้าวเป็นคดีพิเศษ พร้อมสำทับว่า หากนายธาริตรับคดีนี้ไว้ตั้งแต่กลางปี 2556 ความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าวคงไม่มากมายเหยียบ 5 แสนล้านบาทในปัจจุบัน!
รวมไปถึงเข้ายื่นเรื่องต่อ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อธิบดีดีเอสไอใหม่แกะกล่อง หลัง คสช.ตะเพิด “ธาริต” พ้นตำแหน่งเก็บเข้ากรุ เพื่อขอให้รับกรณี “โฮมสเตย์ ฟีออร์เร่ ปาร์ค” ซึ่งเป็นบ้านของภรรยานายธาริตที่จังหวัดนครราชสีมา เข้าเป็นคดีพิเศษ เพราะพื้นที่บางส่วนบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ
โดยสาเหตุสำคัญคือ การรื้อบ้านของนายธาริต ที่สังคมต่างจับตาว่าหากไม่ผิดจริงแล้วจะชิงรื้อบ้านด้วยเหตุอะไร? ดังนั้นจึงขอให้ดำเนินการสอบสวนเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา เพราะเป็นถึงอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
ทั้งหมดนี้ข้อเรียกร้องสำคัญที่นายวัชระยิงตรงไปถึง “บิ๊กตู่” หัวหน้า คสช. ที่เปรียบได้กับ “หัวเรือใหญ่” ในการนำพาประเทศไทยก้าวไปสู่ “อนาคตที่ดีกว่า” ตามวาจาที่ลั่นไว้กับประชาชนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา
ดังนั้น “บิ๊กตู่” สมควรรับฟังเสียงคนการเมืองตัวเล็กๆ อย่างนายวัชระบ้าง แม้นใครหลายคนจะเคลือบแคลงว่าอาจมีผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่ เนื่องจากเป็นอดีตนักการเมือง และคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการเมืองมาหลายปี ย่อมรู้ทิศทางลมในการแฝงชื่อเข้าไปสร้างประโยชน์ให้กับตัวเองได้เป็นอย่างดี
แต่สิ่งที่สำคัญเหนือผลประโยชน์ทางการเมือง นั่นก็คือ “ผลประโยชน์ของประชาชน” ที่ฝากฝังไว้กับ “บิ๊กตู่” ในการแก้ปัญหาสิ่งที่นักการเมืองหมักหมมไว้ และล้มเหลวในการแก้ไขมานานนับ 10 ปี!