ผ่าประเด็นร้อน
หากพิจารณาแบบค่อยๆทำความเข้าใจทีละมาตรา ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ตามที่ อดีต ส.ว.คำนูณ สิทธิสมาน ได้ชี้ช่องเอาไว้ ทำให้ได้เห็นเส้นทางข้างหน้าของนักการเมืองที่เคยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง เคยมีความผิดฐานทุจริต ก็จะหมดอนาคตทางการเมืองไปตลอดชีวิต นั่นหมายความว่าจะมีคนที่อยู่ในข่ายดัวกล่าว เกือบ 400 คน ซึ่งจะทำให้เกิดการพลิกโฉมหน้าใหม่ของประเทศกันเลยทีเดียว
สำหรับมาตราที่ อดีต ส.ว.คำนูณ สิทธิสมาน ชี้ให้ดูก็มี มาตรา 8 (4) มาตรา 20 (4)และมาตรา 35 (4) หรือที่เขาใช้คำว่า “รหัสร้อนหมายเลข 4” นั่นแหละ!!
เมื่อไล่เรียงไปทีละมาตราตามที่มีการชี้ช่องเอาไว้ดังกล่าว เริ่มจากมาตรา 8 (4) ที่ระบุคุณสมบัติต้องห้ามสำหรับสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) คือ “เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” นั่นก็ทำให้บางคนต้องถอนตัวออกไป เช่น พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย เนื่องจากเคยถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากกรณีเป็นผู้บริหารพรรคมัฌิมาธิปไตย แล้วถูกยุบพรรคจากคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะเดียวกัน ยังโยงไปถึงมาตรา 20 (4) ที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของการเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ที่ระบุว่า “ไม่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองภายในระยะเวลา 3 ปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8”
นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ยังกำหนดกรอบบังคับการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับถาวรในปี 2558 เอาไว้ล่วงหน้าที่เรียกว่า “บัญญัติ 10 ประการ” ซึ่งสาระสำคัญก็คือ
“กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคําพิพากษาหรือคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทําการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทําการอันทําให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดํารงตําแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด”
นั่นก็หมายความว่า คนที่ถูกคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือเคยต้องคำพิพากษาว่า “กระทำการโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด”
ความหมายชัดๆ ก็คือ คนที่ชื่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เพิ่งโดนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติชี้มูลความผิดในโครงการรับจำนำข้าวก็เข้าเงื่อนไขนี้ ถูกตัดสิทธิ “ห้ามเข้า” ตลอดชีวิตทันที
พิจารณากันแบบรวบรัดตัดความ แบบไม่ต้องย้อนกลับไปดูทีละมาตราในทางกฎหมายให้เวียนหัว เอาเป็นว่า ทั้งสามมาตราดังกล่าวในวงเล็บสี่ ล้วนสกัดกั้นนักการเมืองหรือใครก็ตามที่เคยถูกยุบพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง รวมไปถึงคนที่เคยโดนคำสั่งศาล และคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น คำสั่ง ป.ป.ช.เป็นต้น คนพวกนี้จะห้ามลงสมัคร ส.ส.เป็น วุฒิสมาชิก รวมทั้งห้ามเป็นนายกรัฐมนตรี ห้ามเป็นรัฐมนตรี ตลอดชีวิต หรือแม้แต่ตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆก็ห้ามอีกด้วย
ก่อนหน้านี้ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ที่เชื่อว่าต้องมีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรในวันข้างหน้าก็เคยชี้ช่องให้เห็นมาแล้ว โดยเฉพาะบอกให้จับตามาตรา 35 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวดังกล่าว
นั่นก็แสดงให้เห็นว่าในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะต้องมีกำหนดข้อห้ามไม่ให้คนที่มีคุณสมบัติต้องห้ามแบบนั้นเข้าสู่สนามการเมืองตลอดชีวิต
ที่แน่ๆก็จะมีพวกบ้านเลขที่ 111 บ้านเลขที่ 109 บวก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าไปด้วย รวมไปถึง “ตัวเด็ด” อย่าง ทักษิณ ชินวัตร ก็จะโดนแบนไปด้วย รวมไปถึง บรรหาร ศิลปอาชา สุวัจน์ ลิปตพัลลภ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และสุรเกียรติ์ เสถียรไทย พินิจ จารุสมบัติ เป็นต้น
ทีนี้ก็จะเหลือเพียงพรรคประชาธิปัตย์ และนักการเมืองจากพรรคนี้เป็นส่วนใหญ่ รวมไปถึงพวกนักการเมืองหน้าใหม่เท่านั้นที่เข้ามาได้ เพราะไม่เคยถูกสั่งยุบพรรค ไม่มีคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายในเรื่องการทุจริต
แน่นอนว่าเมื่อมีการกำหนดกรอบเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ทำให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรในปี 2558 ก็ต้องเดินไปตามนั้น ขณะเดียวกันเมื่อย้อนกลับไปพิจารณาจากคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งกำลังจะนั่งควบเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในอีกไม่กี่วันข้างหน้าเคยกล่าวไว้ว่า จะต้องวางกรอบกติกา โดยใช้กฎหมายปกติ และทุกคนต้องอยู่ในกรอบเดียวกัน ทุกอย่างมันก็เข้าเค้า
อย่างไรก็ดี คำถามก็คือ คนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช.จะกล้าหาญชาญชัยถึงขนาดเลยหรือ จะกล้าตัดตอนนักการเมือง “สายพันธุ์” พวกนี้ทิ้งไปทั้งหมดเลยหรือเปล่า เพราะต้องใช้ความเด็ดเดี่ยวพอสมควร นี่ยังไม่นับว่าคนพวกนี้ยังมีฤทธิ์เดช มีเครือข่ายมากมาย ที่จะก่อความวุ่นวายตามมาได้ทุกเมื่อ แต่ขณะเดียวกันถ้าเขามุ่งมั่นทำอย่างที่ว่าจริงๆ แน่นอนว่าต้องได้รับการสนับสนุนจากสังคมที่มีการตื่นตัวสูงอย่างเต็มที่ และนี่อาจเป็นการปฏิรูปบ้านเมืองครั้งสำคัญเลยก็ได้!!