หัวหน้า คสช. สั่งเร่งซื้อเมล์ NGV 3,500 คัน ให้เสร็จในปี 58 มอบ คตร. เข้าตรวจสอบก่อนจัดซื้อ พร้อมให้กู้เงิน 4 พันล้าน จ่ายค่าน้ำมัน ไฟเขียวไทยเจรจาร่วมก่อตั้งแบงก์ AIIB ให้ขยายเวลาเบิกจ่ายงบ “ไทยเข้มแข็ง” 2.3 พันล้านต่อ เทงบกลาง 1.3 พันล้าน ติดตั้งอุปกรณ์ทางไกลผ่านดาวเทียมให้ 15,441 โรงเรียนทั่วประเทศ อีกด้านอนุมัติ 252 ล. เนรมิตทำเนียบ
วันนี้ (22 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงผลการประชุม คสช. เพื่อการบริหารราชการแผ่นดินครั้งที่ 7/2557 ว่า ที่ประชุมความเห็นชอบในหลักการให้มีการแสดงเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank : AIIB) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อรักษาโอกาสให้ไทยสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดรายละเอียดการระดมเงินทุน การจัดสรรหุ้น สิทธิการออกเสียง โครงสร้างการบริหาร ธรรมาภิบาล ตลอดจนรายละเอียดสำคัญของบันทึกความเข้าใจ (MOU) และร่างความตกลงเพื่อการจัดตั้ง AIIB ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยมากที่สุด ทั้งนี้ มติในวันนี้ยังไม่มีผลผูกพันว่า ประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นผู้ถือหุ้นของ AIIB จนกว่าการเจรจาเพื่อยกร่างความตกลงเพื่อการจัดตั้ง AIIB แล้วเสร็จและมีการลงนาม
นพ.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม คสช. ยังได้อนุมัติให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กู้เงินเพื่อนำไปชำระค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าเหมาซ่อมสำหรับปีงบประมาณ 2558 จำนวน 4,401 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 2,870 ล้านบาท และค่าเหมาซ่อม 1,531 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน และให้เกิดการประหยัดดอกเบี้ยจ่ายกรณีผิดนัดชำระหนี้ โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ รวมทั้งพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข รายละเอียดต่างๆ ในการกู้เงินตามที่ ขสมก. เสนอ ซึ่งหากพิจารณาเปรียบเทียบการคิดอัตราดอกเบี้ยระหว่างอัตราดอกเบี้ยค้างชำระค่าน้ำมันเชื้อเพลิง กับอัตราดอกเบี้ยการขออนุมัติเงินกู้ในครั้งนี้ จะทำให้ประหยัดค่าดอกเบี้ยจ่ายได้ประมาณเดือนละ 13.7 ล้านบาท หรือปีละ 164.2 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ขสมก. ควรเร่งจัดทำแผนบริหารหนี้สิน เสนอต่อคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) เพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินและฐานะการเงินที่ชัดเจน และเกิดผลที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
นพ.ยงยุทธ เปิดเผยด้วยว่า นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ยังได้กำชับให้ ขสมก. เร่งรัดการจัดซื้อรถเมล์ NGV ใหม่จำนวน 3,500 คันตามแผนงานของ ขสมก. ให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2558 เพื่อให้ ขสมก. สามารถนำรถใหม่มาให้บริการประชาชนได้โดยเร็ว ทั้งนี้ ได้ให้ คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เข้าไปตรวจสอบความโปร่งใสและความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการ รวมไปถึงให้หน่วยงานที่รับผิดชอบร่วมพิจารณาความพร้อมของสถานีจ่ายก๊าซ NGV เพื่อรองรับการให้บริการดังกล่าว พร้อมจัดทำแผนเส้นทางเดินรถให้เกิดรายได้ที่เหมาะสมระหว่างรถเมล์ ขสมก.กับรถร่วมบริการ ขสมก.
นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า ที่ประชุม คสช. อนุมัติให้ขยายระยะเวลาการดำเนินงานและการเบิกจ่ายเงินภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้โครงการไทยเข้มแข็ง พ.ศ. 2555 ที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ภายในปีงบประมาณ 2556 โดยให้สามารถเบิกจ่ายเงินต่อไปได้จนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ แต่ต้องไม่เกินปีงบประมาณ 2557 จำนวน 32 โครงการ วงเงินรวม 2,304 ล้านบาทเศษ ทั้งนี้ ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการที่ไม่สามารถดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2556 ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นและประมาณการเบิกจ่ายรายเดือนเพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติและรายงานผลการพิจารณาต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป
นพ.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ในการเห็นชอบการออกร่างอำนวยความสะดวกทางการค้า (TFA) เพื่อให้เกิดความสะดวกในการนำเข้าและส่งออกสินค้ากับผู้ประกอบการ รวมทั้งจะเสนอองค์การการค้าโลก (WTO) ต่อไป เพื่อให้การดำเนินการเกิดขึ้นภายในวันที่ 31 ก.ค. 57 นอกจากนี้ ยังอนุมัติให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การค้ำประกันจากเดิมที่ค้ำประกันอยู่ในอัตราร้อยละ 18 ปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 50 เพื่ออำนวยความสะดวก รวมไปถึงค้ำประกันให้กับภาคเอกชนและสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงเป็นการสนับสนุนธุรกิจรายย่อย หรือ SMEs ด้วย
ส่วน พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษก คสช.กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง เสนอให้ขยายเวลาดำเนินโครงการกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เฉพาะปีการศึกษา 2558 ไปก่อน เพื่อลดผลกระทบต่อนักศึกษารายใหม่ที่เข้าเรียนชั้นปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2558 และผู้กู้ยืมรายเก่าที่จำเป็นต้องกู้ กรอ.ต่อเนื่องจนจบหลักสูตร ทั้งนี้ ให้มีผลจนกว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ. .... ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างการจัดทำขึ้นเพื่อรองรับการดำเนินโครงการ กรอ. โดยเป็นการรวบรวมกฎหมายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และ กรอ. ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้การขยายเวลาดำเนินโครงการ กรอ. เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการชำระหนี้คืนจากเหตุไม่สำเร็จการศึกษาและเสริมสร้างโอกาสการสร้างงานให้เยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
พ.อ.วินธัย กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบโครงการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมตามที่ กระทรวงศึกษาธิการ โดยสนับสนุนงบกลาง 1,300 ล้านบาท เพื่อการจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์เกี่ยวกับการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมให้กับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและโรงเรียนในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน จำนวน 15,441 โรงเรียนทั่วประเทศ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากข้อสั่งการของหัวหน้า คสช. ที่มอบหมายให้ฝ่ายสังคมและจิตวิทยา พิจารณาแก้ไขปัญหา การขาดแคลนครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล และการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กโดยเฉพาะการพัฒนาการเชื่อมโยงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โดยให้เร่งดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนในระยะที่ 1 ของ คสช. ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนที่ได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการขยายผลโครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
วันเดียวกัน ที่ บก.ทบ. ในการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน ครั้งที่ 7/2557 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นประธาน อนุมัติงบประมาณ 252 ล้านบาท โครงการพัฒนาปรับปรุงทำเนียบรัฐบาลและบ้านพิษณุโลก ตามที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช. ฝ่ายกิจการพิเศษ เสนอขออนุมัติงบประมาณ โดยอยู่ในส่วนค่าใช้จ่ายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์รัฐบาล คสช. แบ่งเป็นกรมยุทธโยธาทหารบก 20 ล้านบาท สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) 10 ล้านบาท การประปานครหลวง 5 ล้านบาท กรมโยธาธิการและผังเมือง 196 ล้านบาท กรมศิลปากร 17 ล้านบาท และงบที่เหลือ 4 ล้านบาท ใช้ปรับปรุงบ้านพิษณุโลกและอื่นๆ