นักวิชาการพระปกเกล้า เปิดตัวหนังสือ รธน.กลางแปลง พร้อมเสวนา แจงจุดเริ่มจาก รบ.ปู แก้ รธน.กลางแปลงมีนัยเผยเรื่องราว รธน.ให้ถกเพื่อเป็นร่าง รธน. มองสังคมเป็นหลัก แนะเร่งสมานฉันท์ ปฏิรูปองค์กรอิสระ จ่อชง กม.ให้ ปชช.มีส่วนร่วม ปฏิรูปต้องดูพลเมือง ปรับการศึกษาให้รู้ทำอะไรได้ ติงเงินกระจุก 2 พรรคใหญ่ “สุรชัย” แนะหารากเหง้าขัดแย้ง ส่วนตัวมองนักการเมือง จี้จัดสรรทรัพยากรให้ถึง ปชช.
วันนี้ (3 ก.ค.) ที่อาคารรำไพรรณี พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปิดตัวหนังสือเรื่อง “รัฐธรรมนูญกลางแปลง” จัดทำโดยทีมนักวิจัยและพัฒนาสถาบันพระปกเกล้า จากทุนวิจัยมูลนิธิเอเชีย พร้อมทั้งอภิปรายระดมความคิดเห็นเรื่อง “รัฐธรรมนูญกลางแปลงกับแนวทางการปฏิรูปเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย” โดยมีนางถวิลวดี บุรีกุล ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า และนางเรืองรวี พิชัยกุล ผู้ประสานงานอาวุโส มูลนิธิเอเชีย ร่วมเสวนา
นางเรืองรวีอภิปรายว่า ที่มาของการศึกษาจนออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นเพื่อตอบรับต่อกระแสรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีนโยบาย แก้รัฐธรรมนูญฉบับ 50 ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก่อนการเข้ามาของ คสช. หากมองในทางวิชาการแล้ว คำว่า “กลางแปลง” ก็จะมีนัยของการเปิดเผยเรื่องราวของรัฐธรรมนูญออกมาให้สังคมมาร่วมรับฟังรับรู้ และถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญที่ดูเหมือนซับซ้อนให้สังคมได้เข้าใจ จึงหวังว่าการจะแปลงสารจากหนังสือเล่มนี้ให้เป็นที่ศึกษาแก่ชาวบ้าน ที่จะมีการตอบสนองกลับคืนมาว่าเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร เผื่อไว้เป็นข้อเสนอแนะสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเรา
ด้านนางถวิลวดีกล่าวว่า สภาพปัญหาของประเทศไทยในช่วงรัฐธรรมนูญ 50 ที่เริ่มมีความขัดแย้งเกิดขึ้น จนมีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ สถาบันพระปกเกล้าที่มีการวิจัยศึกษาสังคมอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วจึงมาศึกษาว่าหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญควรจะมีประเด็นอะไรบ้างที่ต้องแก้ไขเพื่อให้บ้านเมืองสามารถเดินหน้าต่อไป โดยมีหลายประเด็นทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ สถาบันการเมือง จนกระทั่งถึงด้านสิทธิเสรีภาพและการกระจายอำนาจ
นางถวิลวดีกล่าวต่อว่า หนังสือเล่มนี้จะมองจากคุณภาพสังคมเป็นหลักหวังว่าประชาชนมีความมั่นคง ประชาชนเกิดความสามัคคีไม่แบ่งแยกด้วยการสร้างพลังทางสังคม ซึ่งประเทศไทยกำลังป่วย ดังนั้นหากเราต้องปฏิรูปการเมืองและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา เราก็ต้องพิจารณากันว่าจะต้องเริ่มจากอะไร และวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญนั้นคืออะไร โดยอาจเพื่อการเป็นรัฐสวัสดิการ หรือเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย เป็นต้น
“มองความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยยังมีไม่เพียงพอ ยังมีจำประชาชนอีกครึ่งหนึ่งของประเทศที่ยังไม่มีเงิน ซึ่งมันส่งผลให้ความสามัคคีของคนในชาติขาดหายไป เกิดความไม่มั่นใจในการเมือง เกิดความไม่ไว้วางใจประเทศเพื่อนบ้าน เกิดการรังเกียจเดียดฉันกันขึ้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องสร้างพลังทางสังคม เพื่อให้ประชาชนมีร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง ส่วนนี้ประเทศไทยยังไม่มี ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเร่งสร้างความสมานฉันท์”
ทั้งนี้ เนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยกำลังจะมีการปฏิรูปและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น หนังสือเล่มนี้ก็ได้มีการศึกษาถึงบรรดาองค์กรอิสระ กระบวนการเข้าสู่อำนาจของคณะกรรมการว่า มีความเหมาะสมชอบธรรมมากน้อยแค่ไหน เริ่มตั้งแต่ที่มาที่มาจากการเลือกสรรจาก ส.ว.สรรหา ต้องถามว่าเมื่อองค์กรอิสระและ ส.ว.ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบกันนั้นจะสามารถทำได้จริงและมีประสิทธิภาพหรือไม่ และหากมองในแง่ของอำนาจหน้าที่ ก็ต้องพิจารณาว่า แต่ละองค์กรดำเนินการไปตามหน้าที่เหมือนกันหรือทับซ้อนกันบ้างหรือไม่ อาทิ หน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) กับผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น
“สถาบันพระปกเกล้าที่ได้ศึกษาองค์กรอิสระมานาน จึงเห็นว่าองค์กรอิสระจำเป็นจะต้องปฏิรูป การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีการพิจารณากันแล้วว่าองค์กรอิสระควรเหลืออยู่กี่องค์กรและส่วนตัวมองว่า ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ และ กกต.กำลังได้รับความเชื่อถือจากสังคมลดลงตามลำดับ อย่างไรก็ตามหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ฟันธงว่า อะไรดีที่สุด แต่จะเป็นข้อเสนอสรุปรวมไว้ให้” นางถวิลวดีกล่าว
นอกจากนี้ สถาบันพระปกเกล้ายังได้เตรียมการเสนอกฎหมายฉบับหนึ่งไว้แล้ว เพื่อเตรียมนำเสนอเมื่อเรามี สนช.มาทำหน้าที่ซึ่งจะว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อนโยบายสาธารณะอย่างแท้จริง ที่ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ของประชาชนระหว่างภาครัฐหรือภาคเอกชน ซึ่งเราชื่อว่ากฎหมายส่งเสริมนี้จะมีประโยชน์ต่อประเทศไทยต่อไปในอนาคต โดยรายละเอียดหลักก็จะเป็นเพื่อการเปลี่ยนอำนาจจากข้าราชการมาสู่ประชาชน
ด้านนายสติธรกล่าวว่า เมื่อเราพูดถึงการปฏิรูปการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องดูพลเมืองของประเทศในแต่ละประเภทว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร เช่น พลเมืองนักการเมือง ก็มีการทุจริตคอร์รัปชัน พลเมืองนักเลือกตั้ง ก็เลือกคนไม่มีคุณภาพรับเงินซื้อเสียง ซึ่งเราได้ประเด็นทางออกจากปัญหาดังกล่าวที่น่าคิด คือ การศึกษา ที่ต้องพิจารณาเนื้อหาและกระบวนการการศึกษาทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน เพื่อเป็นการวางกรอบกว้างๆให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นสาระว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งในรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมี การส่งเสริมสิทธิเสรีภาพทางการเรียนรู้ และเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งเราเคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับ 40 และ 50 มาแล้ว แต่ขั้นตอนที่นำไปสู่การปฏิบัตินั้นไม่ถูกต้อง ตนไม่ได้คาดหวังว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญได้ตามนี้แล้วจะประสบความสำเร็จ แต่รัฐธรรมนูญจะสามารถออกแบบเชิงสถาบันทางความคิดได้ แล้วการปฏิบัติจริงก็จะตามมา แต่เราต้องเริ่มจากวิธีคิดด้วยการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญก่อน
“รัฐธรรมนูญกลางแปลงต้องการให้เกิดข้อถกเถียงกัน ระหว่างความคิดที่แตกต่างกัน อย่างเช่น ความเข้าใจในพรรคการเมือง ที่มีข้อถกเถียงว่าพรรคการเมืองแบบไหนมีความเหมาะสม ต้องรวมศูนย์อำนาจหรือไม่ หากมองในแง่การตัดสินใจของพรรค พ.ร.บ.พรรคการเมือง ได้เปิดช่องให้มีพรรคการเมืองมีเสถียรภาพมาก กำหนดให้สิทธิขาดอยู่ที่กรรมการบริหารพรรคเพียงไม่กี่คน ส่วนอีกแง่หนึ่งมองว่าพรรคการเมืองไม่ควรมีเสถียรภาพมากเพราะทำให้ขาดความเป็นสถาบันทางการเมือง” นายสติธรกล่าว
นายสติธรกล่าวต่อว่า เมื่อศึกษาเงินการจ่ายเงินอุดหนุนพรรคการเมืองของ กกต. กว่า 2,000 ล้านบาทนั้น 2 ใน 3 ของเงินทั้งหมดไปตกอยู่กับพรรคที่เข้มแข็งอยู่แล้วกับพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนเม็ดเงินที่เหลือถึงจะกระจายไปยังพรรคเล็กอีกหลายสิบพรรค ที่สุดแล้วรูปแบบดังกล่าวไม่ได้เอื้อให้พรรคการเมืองเล็กเติบโตได้ มีแต่พรรคการเมืองใหญ่ที่มีนายทุนหนุนหลังเท่านั้นที่อยู่ได้ นี่คือความสำคัญที่ทำให้เกิดความวุ่นวายและผู้มีอำนาจที่ต้องการให้ประเทศมีระเบียบจึงต้องเข้ามาจัดการ อย่างไรก็ดี หนังสือเล่มนี้จะบอกว่าแต่ละรูปแบบการเลือกตั้งของเราที่เคยใช้มาในอดีต มีข้อดีหรือข้อเสียอะไรบ้าง รูปแบบเขตเดียวเบอร์เดียว มีผลดีผลเสียอะไร ความยึดโยงกับคะแนนเสียงกับที่นั่งสภาเป็นอย่างไร เราควรจะกำหนดรูปแบบการเลือกตั้งแบบใหม่เพื่อให้คะแนนเสียงประชาชน สอดคล้องกับที่นั่งในสภาหรือไม่ ซึ่งมีอีกหลายรูปแบบที่เรายังไม่เคยลอง เช่น ประเทศออสเตรเลียที่ให้ประชาชนเลือกผู้ลงสมัครฯ ตามลำดับความชอบ แล้วมาดูคะแนนว่าใครได้ผลการเลือกตั้งเกินครึ่งก็ชนะ แต่ข้อเสียคือมันจะยุ่งยากไปหรือไม่ อีกทั้งหากมาใช้กับการเมืองที่แบ่งขั้วกันชัดเจนแบบบ้านเราจะยิ่งทำการเลือกตั้งในลักษณะดังกล่าวให้ยากมากขึ้น
หลังจากนั้นเป็นการวิพากษ์หนังสือ “รัฐธรรมนูญกลางแปลง” โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และ พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ อดีต ส.ว.สรรหา
โดยนายสุรชัยกล่าวว่า รัฐธรรมนูญต้องเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับประชาชน ว่าด้วยกฎเกณฑ์ และการจัดสรรทรัพยากร ระหว่างอำนาจรัฐกับประชาชน แต่หนังสือเล่มนี้ยังไม่ตอบโจทย์ ยังไม่มีการชี้ชัด ไม่ได้บอกว่าเรากำลังใช้ชีวิตร่วมกันในระบบอุปถัมภ์ ซึ่งไม่ได้ชี้ข้อดี-ข้อเสีย หากเรานำระบบนี้ไปช่วยคนในสังคมก็เป็นเรื่องที่ดี แต่เรากลับใช้ระบบอุปถัมภ์ไปสร้างความไม่ชอบธรรมจนกลายเป็นความเคยชินให้คนในสังคม เช่นการช่วยเหลือทางการงานและเศรษฐกิจ ทำให้สังคมนี้เป็นสังคมของผู้มีอิทธิพล ทำให้หมอทหารต้องเข้ามารักษาสังคม รัฐธรรมนูญกลางแปลง ไม่มีฉากที่ว่าด้วยความขัดแย้งของคนในสังคมไทย แต่เสนอทางออกประเทศด้วย รัฐสวัสดิการ สร้างพลังประชาชน แต่สิ่งที่ตนอยากเห็นเพื่อสะท้อนออกมาให้สังคมตระหนักว่า ห้วงเวลา 10 ปี มานี้เราอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง โดยคำถามคือว่า อะไรคือรากเหง้าความขัดแย้งที่อยู่มาร่วมทศวรรษ ถ้าหากเราหาไม่ได้เราก็ไม่อาจออกจากวิกฤตการณ์นี้ได้
“สิ่งที่อยากเห็น คือ การจัดสรรผลประโยชน์จากทรัพยากรที่มีประชาชนส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับการดูแลและตกเป็นเครื่องมือของพรรคการเมือง และนักการเมืองและประชานิยม และปัญหาในแง่ความยุติธรรมที่มีการโต้แย้งกันมากว่า มาตรฐานเดียวหรือสองมาตราฐาน” นายสุรชัยกล่าว
นายสุรชัยกล่าวต่อว่า ส่วนตัวมองว่ารากเหง้าความขัดแย้งอยู่ที่พรรคการเมืองและนักการเมือง ประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่าตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนไปใช้ ต้องไม่ใช่เอาอำนาจประชาชนไป แต่อำนาจของประชาชนยังอยู่ เราจำเป็นต้องการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากยิ่งขึ้น ตนมองว่าการเมือง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นการเมืองเพื่อพรรคการเมืองและนักการเมือง เพื่อให้ตัวเองชนะการเลือกตั้งในครั้งต่อไปอีก การนำเสนอนโยบายจึงเป็นประชานิยม เพื่อสร้างคะแนนิยมนำไปสู่การเลือกตั้ง ระบบการตลาดถูกนำมาใช้ จากภาษีอากรเพื่อนำไปสร้างประชานิยม ทำให้การเมืองไม่ยั่งยืน จนที่สุดนำไปสู่การเลือกข้างของประชาชนโดยไม่รู้ตัว จนกลายเป็นสภาพปัญหาทางสังคมหลายเรื่องที่คลาดเคลื่อนไปจากความถูกต้องของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย