xs
xsm
sm
md
lg

มติ กกต.ยกคำร้อง “ยิ่งลักษณ์-ครม.” ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้ง “ศรส.” ชี้ใช้อำนาจตาม กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.(แฟ้มภาพ)
เสียงข้างมาก กกต. มีมติ ยกคำร้อง “ยิ่งลักษณ์ - ครม.” ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้ง “ศรส.” ตามที่อดีต ส.ส.ปชป.และอดีต ส.ว. ร้อง ชี้เป็นอำนาจตาม กม. ที่ให้ฝ่ายบริหารให้ดุลพินิจในการพิจารณาสถานการณ์ต่างๆ ไม่ใช่การแต่งตั้งโยกย้าย ขรก. ที่ กกต. ต้องเห็นชอบก่อน ส่วนงบในการใช้จ่ายก็ไม่ขัด กม. และระเบียบ ขณะเดียวกัน ไม่พบสร้างโอกาสให้ พท. ได้รับเลือกตั้ง ส่วนการเพิกถอนสิทธิ รมต. ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย เหตุ รธน. ปี 50 ได้สิ้นสุดลงแล้ว ตามประกาศ คสช.

วันนี้ (2 ก.ค.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง แถลงว่า ที่ประชุม กกต. มีมติเสียงข้างมากเห็นตามที่คณะกรรมการไต่สวนมีมติเป็นเอกฉันท์เสนอให้ยกคำร้องกรณี นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต ส.ว.สรรหา ร้องขอให้ตรวจสอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีในขณะนั้น สมาชิกพรรคเพื่อไทยจำนวน 36 คน และพรรคเพื่อไทย กระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยได้ดำเนินการออกประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จัดตั้งศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) แต่งตั้งข้าราชการไปปฏิบัติหน้าที่ ใช้งบประมาณในการดำเนินการโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต. และเอื้อประโยชน์ต่อสมาชิกและพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งอันจะนำไปสู่การพิจารณาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือไม่

ซึ่ง กกต. เห็นว่า การออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย ประกอบกับศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 ก.พ. ว่า การออกประกาศฯ เป็นกรณีที่กฎหมายให้อำนาจฝ่ายบริหารในการใช้ดุลพินิจโดยเฉพาะในการพิจารณาสถานการณ์ต่างๆ ว่า มีเหตุการณ์ความรุนแรงเพียงพอที่จะออกประกาศฯหรือไม่ และเมื่อออกประกาศแล้วย่อมเป็นอำนาจฝ่ายบริหารที่จะจัดตั้ง ศรส. และแต่งตั้งพนักงาน ข้าราชการไปปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นรูปแบบของคณะกรรมการ ไม่ใช่การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ก่อน

ส่วนเรื่องงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เห็นว่าค่าใช้จ่าย กกต. เคยมีมติเมื่อวันที่ 13 มี.ค. และ 21 พ.ค. 57 ว่า มีความจำเป็นเพื่อเป็นการรักษาประโยชน์ของรัฐไม่ให้เกิดความเสียหายทางราชการ อีกทั้งสำนักงบประมาณก็มีความเห็นว่า การนำงบปกติไปใช้ก่อนแล้วจึงค่อยขอรับการสนับสนุนงบกลางเพื่อสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นไปคืนงบปกติที่ใช้ไปนั้น ไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ปรากฏว่าเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป และไม่มีลักษณะเป็นการสร้างโอกาสให้การเลือกตั้งให้กับพรรคเพื่อไทย หรือผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย

ส่วนการพิจารณาที่จะนำไปสู่การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้นในปัจจุบันรัฐธรรมนูญ 50 ได้สิ้นสุดลง ยกเว้นหมวด 2 และคณะรัฐมนตรีรักษาการได้สิ้นสุดลงตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 11 ส่งผลให้ความเป็นรัฐมนตรีรักษาการสิ้นสุดลงทั้งคณะ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในเรื่องความเป็นรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม ในส่วนสำนวนร้องคัดค้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้นยังเหลืออีกประมาณ 5 สำนวน ซึ่ง กกต. ก็จะได้เร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น