ศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลชั้นต้น รับผู้ค้าจตุจักร 178 ราย ร่วมเป็นผู้ฟ้องคดีการรถไฟฯ เรียกเก็บค่าแผงแพงกว่าที่กำหนด อีกด้านตุลาการผู้แถลงคดี เสนอความเห็นให้ศาลปกครองกลางเพิกถอนโฉนดที่ดินเอกชน ที่ทับซ้อนพื้นที่ป่าบ้านทับยาง จ.พังงา
วันนี้ (24 มิ.ย.) ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ผู้ค้าในตลาดนัดจตุจักร อีก 178 ราย เป็นผู้ร้องสอดในคดีที่ ผู้ค้าในตลาดนัดจตุจักร นำโดย นายสงวน ดำรงค์ไทย กับพวกรวม 789 ราย ฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับพวกรวม 3 ราย ในคดีที่ ร.ฟ.ท. ออกประกาศเรียกเก็บค่าเช่าแผงค้าในอัตราที่แพงเกินกฎหมายกำหนด โดยก่อนหน้านี้ ศาลปกครองชั้นต้น มีคำสั่งไม่รับคำร้องสอดของผู้ค้าทั้ง 178 ราย ซึ่งเป็นผู้ฟ้องในลำดับที่ 621 - 789 ไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่าฟ้องเกิน 90 วัน นับแต่วันรู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้อง โดยศาลได้ยึดประกาศเรียกเก็บค่าเช่าแผงของ ร.ฟ.ท. ฉบับวันที่ 2 มี.ค. 2555 เป็นเหตุที่ควรฟ้องคดีแล้ว แต่ศาลปกครองสูงสุด กลับเห็นว่า ร.ฟ.ท. ได้มีการออกประกาศหลายฉบับในการนำมาใช้บังคับกับผู้ค้าสินค้าแต่ละประเภท ในวันและเวลาที่แตกต่างกัน จึงทำให้กรอบระยะเวลาที่รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี ย่อมแตกต่างกันไปด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาประกาศของ ร.ฟ.ท. ที่ออกมามีผลบังคับใช้ต่อผู้ค้าทั้ง 178 ราย พบว่าการฟ้องคดีต่อศาลปกครองของผู้ค้าทั้ง 178 ราย ไม่เกินกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ศาลจึงมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นให้รับคำร้องสอดของผู้ค้าทั้ง 178 ราย ไว้พิจารณา
อีกด้านหนึ่ง ศาลปกครองกลางออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีครั้งแรกในคดีที่ นางทัศนา นาเวศน์ ชาวชุมชนบ้านทับยาง ต.ท้ายเมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา กับพวกรวม 36 ราย ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมที่ดิน ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นายกเทศบาลตำบลท้ายเหมือง และ นายงิ้มต่าม ลิ่มดุลย์ ผู้ครอบครองเอกสารสิทธิที่ดินโฉนดเลขที่ 972 และ 973 รวมเนื้อที่ 170 ไร่ โดยอ้างจากเอกสาร ส.ค.1 ที่ซื้อสิทธิ์จากนายอุทัย ณ ระนอง ผู้ได้รับประทานบัตรเหมืองแร่ในพื้นที่บ้านทับยาง หมู่ 9 ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ว่าร่วมกันออกโฉนดที่ดินดังกล่าวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทับซ้อนพื้นที่สาธารณประโยชน์ พื้นที่ป่าไสอ่อน พื้นที่ป่าไสแก่ คลองพุกง เป็นเหตุให้ชาวบ้านบริเวณดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ทั้งนี้ ในการพิจารณาคดี ตุลาการเจ้าของคดีได้สรุปข้อเท็จจริงในคดี และให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายแถลงการณ์ปิดคดีด้วยวาจา
โดย นางทัศนา นาเวศน์ ผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า เหตุที่ตนกับพวกทั้ง 35 ราย อ้างว่าที่ดินดังกล่าวป็นของรัฐ เพราะเคยได้รับการบอกกล่าวจากคนงานเหมืองแร่ของนายอุทัย ณ ระนอง ว่า นายอุทัยได้เคยแจ้งแก่คนงานว่า เมื่อเลิกทำเหมืองแร่แล้ว ที่ดินดังกล่าวจะตกเป็นของรัฐ นอกจากนี้ ยังปรากฏในคดีพิพาทระหว่างนายงิ้มต่าม กับเทศบาลตำบลท้ายเหมืองว่า โฉนดที่ดินทั้งสองฉบับทับทางน้ำสาธารณประโยชน์ ขณะที่ นายสุราษฎร์ สุกปลั่ง ผู้รับมอบอำนาจจากนายงิ้มต่าม แจ้งต่อศาลว่า นายงิ้มต่าม ไม่ประสงค์แถลงด้วยวาจา
จากนั้น นายสมเกียรติ ชมวิสูตร ตุลาการผู้แถลงคดีได้แถลงความเห็นส่วนตัวที่ไม่มีผลผูกพันต่อการวินิจฉัยของคณะ โดยนายสมเกียรติ ระบุว่า จากหลักฐานข้อเท็จจริงในคดีนี้เห็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 972 และ 973 ที่นายงิ้มต่าม นำเอกสาร ส.ค.1 ที่ซื้อสิทธิ์จากนายอุทัย ณ ระนอง ผู้ได้รับประทานบัตรเหมืองแร่ในพื้นที่บ้านทับยาง หมู่ 9 ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา มาออกโฉนดนั้น เป็นการออกโฉนดทับซ้อนพื้นที่สาธารณประโยชน์ พื้นที่ป่าไสอ่อน พื้นที่ป่าไสแก่ คลองพุกง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงเห็นควรที่คณะตุลาการเจ้าสำนวนจะมีคำพิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดินเร่งดำเนินการเพิกโฉนดที่ดินในส่วนที่ทับซ้อนพื้นที่สาธารณะประโยชน์ พื้นที่ป่าไสอ่อน พื้นที่ป่าไสแก่ คลองพุกง โดยมีตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด