คสช. ไฟเขียวเพิ่มงบสร้างโรงพัก 396 แห่ง รวมวงเงินกว่า 8 พันล้านบาท สั่ง สตช. เดินหน้าฟ้องแพ่งผู้เกี่ยวข้อง คาดฉายวีทีอาร์แถลงผลงาน 1 เดือนศุกร์นี้ รับทราบแนวทางช่วยเหลือชาวนา ย้ำยกเลิกแทรกแซงกลไกตลาด ใช้เน้นมาตรการลดต้นทุน
วันนี้ (24 มิ.ย.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงผลการประชุม คสช. ครั้งที่ 3/2557 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบโครงการสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจทดแทนจำนวน 396 แห่ง โดยปรับรายละเอียดในส่วนของงบประมาณจากเดิมที่เป็นงบประมาณผูกพันธ์ตั้งแต่ปีงบประมาณ 52-57 วงเงิน 6,672 ล้านบาทเป็น 8,357 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบประมาณที่กันไว้ระหว่างปี 52-57 จำนวน 2,459 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถก่อสร้างได้ทั้งหมด 181 หลัง ส่วนจำนวนที่เหลืออีก 215 หลังนั้น ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) บรรจุเข้าในงบประมาณปี 58 เพื่อดำเนินการขออนุมัติต่อไป ส่วนการดำเนินคดี ทุจริตโครงการดังกล่าวนั้น ยังคงเดินหน้าต่อไป โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้กำชับให้เร่งสร้างอาคารโดยเร็ว เพราะถือเป็นภาพลักษณ์ของหน่วยงานด้านความมั่นคง รวมทั้งได้สั่งการให้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดำเนินคดีทางแพ่งเรียกค่าเสียหายกับผู้เกี่ยวข้อง เนื่องจากทำให้ สตช. เสียหายจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีสถานที่ปฏิบัติ
พ.อ.วินธัย ยังได้กล่าวถึงกรณีที่สหภาพยุโรป (อียู) ออกมาตรการระงับความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วน และความร่วมมือด้วยว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจต่างๆ แล้ว โดยอาจจะต้องมีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นที่เป็นข้อสงสัย โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน และการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยที่ล่าสุดได้มีการปล่อยตัว ผู้ที่ถูกควบคุมแล้วทั้งหมด ดังนั้น อยากให้ต่างชาติมองที่ การทำงานของ คสช. เป็นหลัก
พ.อ.วินธัย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในที่ประชุมไม่มีการพูดถึงกรณี นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประกาศจัดตั้งองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย แต่เป็นการหารือในเรื่องการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรเสรีไทยฯ เบื้องต้นยังไม่ทราบรายละเอียด แต่เชื่อว่า เป็นการเคลื่อนไหวในลักษณะไม่เปิดเผยซึ่งหากทราบถึง ต้นทางของประเทศที่ให้การสนับสนุนก็จะมีการพูดคุยโดยตรง โดยจะมีการประสานในทุกช่องทาง แต่เชื่อว่า ตามหลักสากลแล้ว จะไม่มีประเทศใดให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าว และเชื่อว่านานาประเทศจะเข้าใจ กับสถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ และไม่ให้การสนับสนุน ขณะเดียวกัน คสช. จะไม่มีการจำกัดสิทธิ และเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็น เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล
ส่วนการแถลงผลงานครบรอบ 1 เดือนของ คสช.นั้น นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษก คสช. เปิดเผยว่า ได้เตรียมจัดทำเป็นวีดีโอสรุปผลการดำเนินการงานความยาว 15 - 20 นาที ซึ่งจะมีทั้งภาคภาษาไทย และภาคภาษาอังกฤษ และเตรียมนำเสนอในวันศุกร์นี้ (27 มิ.ย.) โดยหัวหน้า คสช. จะมีการพูดถึงผลงาน 1 เดือน ในรายการ คืนความสุขให้คนในชาติ
ด้าน นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม คสช. ได้รับทราบแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี 57/58 โดยแนวทางการช่วยเหลือ นั้นจะไม่ทำตามแนวทางเดิม ที่ใช้นโยบายแทรกแซงการตลาด ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และเป็นการบิดเบือนราคาข้าว ส่งผลต่อเกษตรกร และการค้าข้าว ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหา ต้องการให้เป็นตามกลไกการตลาด ดังนั้น จึงมีการมาตรการ เพิ่มรายได้ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ซึ่งประกอบด้วยมาตรการหลัก และมาตรการสนับสนุน โดยต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 4,787 บาทต่อไร่ จะสามารถลดต้นทุน ลงได้ 432 บาทต่อไร่ เหลือประมาณการต้นทุนการผลิต 4,355 บาทต่อไร่ นอกจากนี้ มีมาตรการสนับสนุน ด้านการส่งเสริมปัจจัยการผลิต การลดดอกเบี้ยเกษตรกร การส่งเสริมการตลาด การส่งเสริมการขายข้าวทั้งในประเทศ และต่างประเทศ มาตรการส่งเสริมการมีส่วนร่วม ทั้งนี้จะใช้วงเงินในการดูแลราคาข้าวปีนี้ 4,747 ล้านบาท และจะทำให้ราคาข้าวอยู่ที่ 8,500 – 9,000 บาทต่อตัน
“ทางกระทรวงพาณิชย์ได้ประเมินราคาขายข้าวในฤดูกาลนี้ที่ 8,500 - 9,000 บาทต่อตัน โดยดูราคาเฉลี่ยจากปี 2552-2553 ซึ่งเป็นช่วงที่ยังไม่มีนโยบายประกันหรือจำนำราคาข้าว ซึ่งเมื่อไม่มีมาตรการในการแทรกแซงกลไกราคาดังกล่าว ก็คาดว่า ราคาจะกลับไปใกล้เคียงกับช่วงนั้น” นายขจร ระบุ
นายขจร กล่าวอีกว่า หัวหน้า คสช. ได้เน้นย้ำให้ช่วยเหลือเกษตรกร โดยจัดตั้งศูนย์กลางช่วยเหลือสินค้าทางการเกษตรทุกชนิด ด้วยการตั้งศูนย์เฉพาะกิจในทุกจังหวัด เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับส่วนกลาง โดยกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ดูแล เพื่อแก้ไขปัญหา และเน้นให้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส และเป็นธรรม สำหรับโครงการประกันภัยนาข้าว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติต่างๆ อาทิ อุทกภัย อัคคีภัย วาตภัย เป็นต้น โดยจะแบ่งพื้นที่รับประกันเป็นโซนพื้นที่ และมีผู้รับประกันภัย 4 ราย ประกอบด้วย บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด บริษัท ทิพยประกัน จำกัด (มหาชน) บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด และบริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) เพื่อช่วยเหลือประกันภัยเพิ่มเติมส่วน นอกเหนือจากที่รัฐบาลได้ช่วยเหลือ
ขณะเดียวกัน ที่ประชุม คสช. ยังอนุมัติงบประมาณ 90 ล้านบาท ให้กรมประมงจัดหาพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์กุ้ง เพื่อแก้ปัญหากุ้งตายด่วน และเร่งดำเนินการผลิตลูกกุ้ง เพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรต่อไป
ต่อมา นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในการต่ออายุ มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 0.05 ต่อไปอีก 1 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 - 31 ก.ค.57 เพื่อให้บรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนได้ใช้ดีเซลราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร อย่างไรก็ตามจากวิกฤตการณ์ในตะวันออกกลาง ทำให้ราคาน้ำมันดิบเริ่มสูงขึ้น จึงต้องให้ช่วยกันใช้น้ำมันอย่างประหยัด และอาจต้องขึ้นตามกลไลราคาตลาดโลก
นายรังสรรค์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีมาตรการการช่วยเหลือผู้ปรกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี โดยมอบหมายให้สถาบันการเงินภาครัฐ ทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารเพื่อธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และให้ธนาคารแห่งประเทศไทย แจ้งไปยังธนาคารพาณิชย์ให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ในเรื่องของการลดอัตราดอกเบี้ย ขณะเดียวกัน กองทุนเพื่อการอนุรักษ์โอโซน ได้อนุมัติเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า จำนวน 700 ล้านบาท ให้กับไทย เพื่อใช้ดำเนินการควบคุมการใช้สารไฮโดรคลอโรฟูลโอโรคาร์บอน (HCFCs) ที่สารผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศ
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบลงนามความตกลงว่าด้วยมาตราการการช่วยเหลือด้านการเงินของกลุ่มประเทศอาเซียน 10+3 (ซีเอ็มไอเอ็ม) ประกอบด้วยประเทศในแถบอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และประเทศญี่ปุ่น จีน เกาหลี เป็นมาตรการช่วยเหลือประเทศสมาชิกในกลุ่มที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ก็จะมีวงเงินช่วยเหลือ โดย 10 ประเทศอาเซียนได้ลงวงเงินร้อยละ 20 และประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ลงวงเงินร้อยละ 80 โดยเมื่อมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงินจะได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนทันที โดยไม่ต้องรอ จากประเทศอื่น (ไอเอ็มเอฟ)
ทางด้าน นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ประชุม คสช. อนุมัติ โดยกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายประจำปี 2555/2556 ในราคาเฉลี่ยทั่วประเทศ 999.20 สตางค์ต่อตัน และการให้ความช่วยเหลือ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ที่ 160 บาทต่อตัน ช่วยเหลือ เกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 3 แสนราย เป็นค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ เช่น เป็นต้นทุนในการผลิตครั้งต่อไป ทั้งนี้ คสช. ให้ กระทรวงอุตสาหกรรม ไปกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อดำเนินการโครงการดังกล่าว
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ทั้งนี้ หัวหน้า คสช. ได้กำชับให้ช่วยเหลือเกษตรกรด้านอื่นด้วย ซึ่งจะมีการดูแลอย่างเป็นระบบ พร้อมเตรียมเสนอวางแผนโครงการในระยะกลาง และระยะยาว และมีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นระยะเวลา 8 ปี รวมถึงแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ เพื่อรองรับ การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)