xs
xsm
sm
md
lg

สอบพิกัดปมบ่อน้ำมัน ซื้อที่ส.ป.ก.4-01เจาะจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กรรมการสอบปมลอบขุดน้ำมัน พร้อม คตช.บุกตรวจพิกัดฐานเจาะน้ำมันดิบ L44-V D1-D2 เมืองมะขามหวาน เจอเจ้าของสัมปทานขวาง อนุญาตแต่ จนท.รัฐเข้าพื้นที่ พบซื้อที่ ส.ป.ก.9 ไร่ 1.7 ล้านมาเจาะน้ำมันจริง ยันความผิดสำเร็จแล้ว ด้าน"รสนา" จี้ รื้อระบบสัมปทาน อย่าปล่อยเอกชนกุมความมั่นคงพลังงานชาติ

วานนี้ (24 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจเรศักดิ์ นันตะวงษ์ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) เพชรบูรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานตรวจสอบกรณีข่าวลักลอบขุดเจาะน้ำมันของบริษัทเอกชนที่ ต.บ่อรัง อ.วิเชียรบุรี ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ แต่งตั้งขึ้น ได้เดินทางไปที่ฐานขุดเจาะน้ำมันดิบ L44-V D1-D2 ที่บ้านหนองบัวขาว ต.บ่อรัง อ.ศรีเทพ พร้อมกับนำอุปกรณ์วัดค่าพิกัดจีพีเอสดาวเทียมไปตรวจวัดค่าพิกัดหลุมขุดเจาะน้ำมัน

แต่เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้รับสัมปทานปิโตรเลียม อ้างระเบียบความปลอดภัยจึงห้ามสื่อมวลชน และคณะเครือข่ายภาคีต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

รวมทั้ง พ.ท.รัฐเขต แจ้งจำรัส นายทหารประจำกองบัญชาการกองทัพไทย เข้าไปภายในฐานขุดเจาะน้ำมัน โดยอนุญาตให้เฉพาะคณะทำงานตรวจวัดค่าพิกัดฐานขุดเจาะรอบๆ จำนวน 2 แห่ง

ส่วนผลการตรวจวัดวันนี้ พบว่า ฐานขุดเจาะอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก.410 จำนวน 9 ไร่ ผู้ถือครอง ที่เป็นราษฎรบ้านใหม่วิไลวรรณ์ หมู่ 10 ต.บ่อรัง ได้ขายให้บริษัทฯ ผู้ขุดเจาะน้ำมันดิบในราคา 1.7 ล้านบาท โดยส่งเงินโอนเข้าทางบัญชีเจ้าของที่ดินโดยตรงจากนั้นผู้ประกอบการได้เข้ามาทำการขุดเจาะน้ำมันดิบออกจากพื้นที่ไป

ขณะที่ผลการสำรวจตามพิกัด จีพีเอส บ่งบอกว่า พื้นที่ดังกล่าว อยู่ในเขตป่าไม้ถาวร และป่า 2484 ที่ทางกรมป่าไม้จะต้องรับผิดชอบ ทั้งเรื่องการบุกรุก ซึ่งผู้กล่าวโทษคือ ทหารประการกองทัพไทย และนำเรียนไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.รับทราบ

ผศ.ดร.วิวัฒน์ชัย กุลมาตย์ ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ เครือข่ายภาคีต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (คตช.) ระบุว่า ความผิดในเรื่องนี้สำเร็จรูปแล้ว ซึ่งก่อนหน้าที่กองบังคับการตำรวจกองปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเข้ามาในพื้นที่ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาเก็บรวบรวมข้อมูลไว้เรียบร้อย จึงมั่นใจว่าหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีต่อบริษัทเอกชนรายนี้ได้ พร้อมเรียกร้องให้กรมเชื้อเพลิง ออกมาปกป้องผลประโยชน์ของชาติให้มากกว่านี้ด้วย

***"รสนา"จี้อย่าปล่อยเอกชนกุมพลังงานชาติ

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ในฐานะแกนนำกลุ่มจับตาการปฏิรูปพลังงานไทย ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก เช้าวานนี้ (24 มิ.ย.) ระบุว่า "ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ มีความสำคัญเกินกว่าจะปล่อยไว้ในมือของเอกชน"

กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงาน(จปพ.) เสนอต่อ คสช.ให้ชะลอการเปิดสัมปทานรอบ 21 ออกไปจนกว่าจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมพ.ศ 2514 เพื่อแก้ไขระบบการให้สิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากระบบสัมปทาน เป็นระบบอื่น

ระบบสัมปทาน คือ การยกกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมทั้งหมดให้เอกชนที่ได้สัมปทาน และรัฐได้ค่าเช่าพื้นที่ ที่ให้สัมปทานในรูปของค่าภาคหลวง และผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ

ส่วนระบบแบ่งปันผลผลิต คือ ระบบที่รัฐยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมที่ค้นพบทั้งใต้ดิน และที่นำขึ้นมา เป็นเจ้าของกรรมสิทธิในข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณสำรอง และเป็นเจ้าของอุปกรณ์การผลิต

เอกชนที่มาขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ไม่ใช่เจ้าของปิโตรเลียมทั้งหมด แต่เป็นเจ้าของเฉพาะส่วนแบ่งกำไรตามที่ตกลงกัน

ส่วนปิโตรเลียมในส่วนแบ่งที่เป็นของรัฐ หากรัฐขายในราคาตลาดโลก เงินที่ได้ก็จะเป็นรายได้สำหรับงบประมาณแผ่นดิน ที่ใช้สร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เป็นสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล หรือสวัสดิการด้านการศึกษาฟรีให้กับประชาชน ถ้ารัฐขายให้ประชาชนในราคาย่อมเยา ประชาชนก็ได้ประโยชน์ในการลดภาระค่าครองชีพ

แต่ในระบบสัมปทาน เอกชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมทั้งหมด จึงต้องการขายปิโตรเลียมในราคาที่ได้กำไรสูงสุด ดังนั้นกฎหมายปิโตรเลียม ยอมรับกรรมสิทธิ์ของเอกชน จึงระบุว่าหากเอกชนขายปิโตรเลียมที่ขุดได้ในประเทศก็ให้ขายคนไทยได้เทียบเท่า"ราคานำเข้า"

การที่รัฐถือหุ้นใหญ่ในปตท. จึงทำให้ปตท. ต้องอาศัยผู้บริหารในกระทรวงพลังงานที่นั่งอยู่ในบอร์ดปตท.ช่วยชงเรื่องขอมติ กพช.และ มติครม.ให้อนุมัติการจัดสรรก๊าซหุงต้มให้ปิโตรเคมีใช้จากโรงแยกก๊าซเป็นลำดับแรกพร้อมกับครัวเรือนก่อนผู้ใช้กลุ่มอื่น

มติครม.ดังกล่าวเป็นการเปิดช่องให้กลุ่มปิโตรเคมี ซึ่งเป็นธุรกิจเอกชนในเครือปตท. ได้ใช้วัตถุดิบในราคาถูกกว่าผู้ใช้กลุ่มอื่น และอำพรางการผลักประชาชนที่เป็นผู้ใช้กลุ่มอื่นไปใช้ก๊าซหุงต้มในราคาตลาดโลก ด้วยการดึงเงินจากผู้ใช้น้ำมันมาชดเชยให้บริษัทปตท. ผ่านกองทุนน้ำมัน

ข้ออ้างที่ว่าเพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงกิจการปตท. จึงเสนอให้รัฐขายหุ้นปตท.ออกไปเพื่อให้ ปตท.เป็นเอกชนนั้น ผลที่จะเกิดขึ้นคือ เมื่อปตท.เป็นเอกชนเต็มตัวโดยที่ยังครอบครองสาธารณสมบัติที่มีลักษณะผูกขาดอย่างท่อส่งก๊าซเป็นต้น ปตท.ก็สามารถผูกขาดทำกำไรสูงสุดในการเลือกจัดสรรทรัพยากรเพื่อผลกำไรของตนเองเป็นหลักได้โดยสะดวก

สภาพการณ์ที่จะเกิดขึ้นคือ ทรัพยากรปิโตรเลียมที่ผลิตได้ในประเทศตามระบบสัมปทาน ก็เป็นกรรมสิทธิของเอกชน ที่เอกชนสามารถค้ากำไรสูงสุด โดยประชาชนไม่มีเกราะป้องกัน

สิ่งที่คาดหมายได้คือประชาชนจะถูกกีดกันออกจากการเข้าถึงทรัพยากรของตนเอง พลังงานที่เป็นประดุจเลือดในระบบเศรษฐกิจของชาติ จะถูกผูกขาด กินรวบโดยสมบูรณ์จากกลุ่มทุนพลังงาน ที่ร้ายกาจไม่น้อยกว่านักการเมืองคอร์รัปชัน

กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย (จปพ.) จึงเสนอให้มีการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นใหม่เป็นบริษัทที่รัฐถือหุ้น100% บริหารแบบมืออาชีพ เพื่อดูแลการให้สิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมซึ่งเป็นกิจการต้นน้ำ และดูแลให้ราคาพลังงานที่ปลายน้ำมีราคาที่เป็นธรรมต่อประชาชน

บรรษัทพลังงานแห่งชาติบริหารงานเเบบบริษัท แต่มีภารกิจในฐานะเป็นองค์กรเพื่อการบริการสาธารณะแห่งชาติ( National Service) เพราะ "ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ มีความสำคัญเกินกว่าจะปล่อยไว้ในมือของเอกชน"

**** ลดภาษีดีเซลอีก1เดือน

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคสช. ได้เห็นชอบในการต่ออายุ มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล จาก10% เป็น 0.05% ต่อไปอีก 1 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 -31 ก.ค.57
แต่จากวิกฤตการณ์ในตะวันออกกลาง ทำให้ราคาน้ำมันดิบเริ่มสูงขึ้น จึงต้องให้ช่วยกันใช้น้ำมันอย่างประหยัด

นอกจากนี้ยังมีมาตรการการช่วยเหลือผู้ปรกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี โดยมอบหมายให้สถาบันการเงินภาครัฐ ทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารเพื่อธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงค์) เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และให้ธนาคารแห่งประเทศไทย แจ้งไปยังธนาคารพาณิชย์ให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ในเรื่องของการลดอัตราดอกเบี้ย ขณะเดียวกัน กองทุนเพื่อการอนุรักษ์โอโซน ได้อนุมัติเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า จำนวน 700 ล้านบาท ให้กับไทย เพื่อใช้ดำเนินการควบคุมการใช้สารไฮโดรคลอโรฟูลโอโรคาร์บอน (HCFCs) ที่สารผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศ

ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นชอบลงนามความตกลงว่าด้วยมาตรการการช่วยเหลือด้านการเงินของกลุ่มประเทศอาเซียน 10+3 (ซีเอ็มไอเอ็ม) ประกอบด้วยประเทศในแถบอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และประเทศญี่ปุ่น จีน เกาหลี เป็นมาตรการช่วยเหลือประเทศสมาชิกในกลุ่มที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ก็จะมีวงเงินช่วยเหลือ โดย 10 ประเทศอาเซียนได้ลงวงเงินร้อยละ 20 และประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ลงวงเงินร้อยละ 80 โดยเมื่อมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงินจะได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนทันที โดยไม่ต้องรอ จากประเทศอื่น (ไอเอ็มเอฟ)
กำลังโหลดความคิดเห็น