พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.)ไม่อ้างเหตุผลว่าเหตุที่ต้องยึดอำนาจเพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทุจริตคอรัปชั่น และไม่เคยพูดสักครั้งว่าคสช.พุ่งเป้าจะเข้าไปสอบทุจริตคอรัปชั่นในรัฐบาลเพื่อไทย
มีติติงเรื่องโครงการรับจำนำข้าวบ้างว่า มีข้อสงสัยของหลายฝ่ายในเรื่อง คุณภาพและปริมาณข้าวในโกดังเก็บข้าว คสช.จึงต้องส่งทหารเข้าไปตรวจสอบโรงสีและโกดังเก็บข้าว แต่พลเอกประยุทธ์ก็ไม่เคยพูดว่า รับจำนำข้าวมีการทุจริตอย่างไร ใครเกี่ยวข้องบ้าง
ถือเป็นการกันคสช.ออกจากคดีรับจำนำข้าวที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)สอบสวนอยู่
อาจจะเพื่อทำให้เห็นว่า คสช.ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องหรือชี้นำป.ป.ช.ให้สอบสวนเอาผิดใครและต้องทำให้เสร็จในเวลาเท่าใด
จึงทำให้การสอบสวนของป.ป.ช.ก็ดำเนินไปครรลองจะเสร็จช้าหรือเร็วก็อยู่ที่ป.ป.ช. ไม่เกี่ยวกับคสช. ทำให้ได้เห็นว่าป.ป.ช.ไม่ได้เร่งทำคดีรับจำนำข้าว เพื่อสนองตอบคณะคสช.
ทำให้ความเป็นไปของคดีนี้แลดูน่าเชื่อถือ เป็นกลาง คนไม่ได้มองว่า ป.ป.ช.จ้องกลั่นแกล้งเอาผิดกับยิ่งลักษณ์และคนในรัฐบาลเพื่อไทย ก็เป็นการรักษาระยะห่างระหว่างคสช.กับองค์กรอิสระอย่างป.ป.ช.ได้เหมาะสม
การที่พลเอกประยุทธ์ ไม่เคยพูดเรื่องทุจริตในรัฐบาลชุดที่แล้วแม้แต่ครั้งเดียว แม้คนทั้งประเทศ จะเห็นกันมาตลอดสองปีกว่าว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีปัญหาเรื่องการบริหารประเทศที่ไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์ให้กับเครือญาติและพวกพ้องทั้งแบบเนียนๆ และโจ่งแจ้ง ผ่านงบสารพัดโครงการ ตอนแรกๆ ก็มีคนผิดหวังอย่างมาก
มองว่า คสช.จะปล่อยให้คนผิดลอยนวล ปล่อยให้สารพัดโครตโกงที่เป็นมรดกบาปของรัฐบาลเพื่อไทยที่ยังมีซากเหลืออยู่ผ่านงบประมาณโครงการต่างๆที่มีการอนุมัติกันไปแล้ว ประมูลจัดซื้อจัดจ้าง ลงนามทำสัญญากันไปแล้ว ทำโครงการกันไปแล้วส่วนหนึ่ง เช่น โครงการประมูลงบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท สุดท้ายคนที่เกี่ยวข้องจะลอยนวลกันไปหมดแล้วโครงการต่างๆ ก็อาจเกิดปัญหาในอนาคต
ยิ่งเมื่อเสียงเรียกร้องจากบางฝ่ายให้ คสช.ทำตามแบบคมช. คือตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ”หรือ คตส.ภาค 2 โดยให้มีอำนาจพิเศษเหนือกว่าป.ป.ช.มาสอบสวนโครงการทุจริตในรัฐบาลเพื่อไทย
แต่ปรากฏว่า คสช.ไม่รับลูกในเรื่องนี้
ขณะเดียวกัน ก็ยังไม่มีท่าทีใดๆต่อเรื่องแผนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระยะยาวที่หลายฝ่ายเสนอต่อคสช. เช่น ที่หลายฝ่ายเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายให้คดีทุจริตคอรัปชั่นต้องไม่มีอายุความ โดยที่ผ่านมา คสช.มีท่าทีนิ่งเฉยต่อเรื่องการตั้ง คตส.ชุดที่ 2 และแผนยุทธศาสตร์ปราบทุจริตระยะยาว
จนทำให้กองเชียร์ บิ๊กตู่-คสช.ก็ดูจะผิดหวังไม่น้อย ที่ไม่เห็นท่าทีของพลเอกประยุทธ์ในเรื่องการลุยสอบทุจริตใดๆ ให้ปรากฏเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตาม พลเอกประยุทธ์จะออกคำสั่งคสช.ฉบับที่45 /2557 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐให้โปร่งใส และอยู่ในระเบียบวินัยการเงินและการคลัง โดยเป็นกรรมการที่มีด้วยกัน 18 คน มีพล.ท. อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีทหารบกเป็นประธาน
พร้อมกับระบุในคำสั่งแต่งตั้งคตร.ไว้โดยมองอำนาจให้คตร.สามารถเข้าไปตรวจสอบโครงการหรือการใช้งบประมาณของหน่วยงานรัฐได้ทุกโครงการ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชนและการพัฒนาประเทศ โดยหากมีผลการพิจารณาใดๆ ให้คตร.รายงานตรงต่อพลเอกประยุทธ์ทันทีและทำโดยเร็ว
คือหากมีอะไรก็ให้รายงานโดยยิงตรงถึงบิ๊กตู่ได้เลย ไม่ต้องผ่านใครทั้งสิ้น เพื่อให้หัวหน้าคณะคสช.พิจารณาดำเนินการขั้นต่อไป พร้อมทั้งให้อำนาจคตร.ในการเสนอแนะเพื่อให้มีการดำเนินการในลักษณะที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ ที่ก็คือหากเรื่องไหน ต้องส่งเรื่องต่อเพื่อให้มีการสอบสวนขยายผลทางลึกมากขึ้น ก็จะส่งไปให้ป.ป.ช.หรือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน พิจารณาตามระเบียบแบบแผนของทางราชการและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
แม้พลเอกประยุทธ์ จะมีการตั้งคตร.ขึ้นมาตั้งแต่3 มิ.ย. 57 แต่หลายคน ก็ดูจะไม่คาดหวังอะไรกับกรรมการชุดนี้มากนัก สาเหตุเพราะมองว่าคำสั่งดังกล่าวที่ตั้งคตร.แม้จะให้อำนาจคตร.มากพอสมควรและทำงานแบบเป็นหน่วยขึ้นตรงกับพลเอกประยุทธ์โดยตรง แต่เมื่อไปเทียบกับคตส.เมื่อปี 49 แล้วจะพบว่า อำนาจหน้าที่และโครงสร้างการทำงานแตกต่างกันมาก
ที่เห็นชัดก็คือ คตส.มีอำนาจเบ็ดเสร็จในตัวเอง คือทั้งไต่สวน-สอบสวน-ยื่นฟ้องต่อศาลเองก็ได้ อันเป็นอำนาจเดียวกับที่ป.ป.ช.มีอยู่ในเวลานี้ รวมถึงมีอำนาจพิเศษอื่นๆ อีกเช่น ใช้อำนาจตามกฎหมายฟอกเงินคือให้ คตส. สามารถสั่งให้สถาบันการเงินระงับการทำธุรกรรมของบุคคลใดก็ได้ที่คตส.ร้องขอเช่นให้อายัดบัญชีธนาคาร
จึงพบว่าที่คสช.ตั้ง คตร.ขึ้นมา ไม่ได้ให้อำนาจกับคตร.อย่างที่ คตส.เคยได้รับจากคมช. เลย
คตร.ทำได้แค่ เข้าไปพิจารณาโครงการ-การใช้เงินงบประมาณต่างๆ แล้วก็ส่งเรื่องให้หัวหน้าคณะคสช.และป.ป.ช.-สตง.ไปสอบสวนเพิ่มเติม จะเห็นได้ว่า คตร.ก็ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอะไรมากนัก
จึงทำให้ คนต่างมองว่า คตร.ไม่น่าจะมีบทบาทอะไรมาก ยิ่งเมื่อดูโครงสร้าง ของคตร.ทั้ง 18 คนจะพบว่า ล้วนมาจากคนในคสช.และสายข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ เช่น ปลัดกระทรวงการคลัง ผอ.สำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้แทนฝ่ายต่างๆ ของคสช.
คนเลยไม่ค่อยสนใจการทำงานของคตร.ที่ผ่านมา กันมากนัก แม้ดูจากโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของคตร.แล้วหลายคนบอกว่า มันก็คือ คตส.ในยุค คสช.นั่นเอง เพียงแต่อำนาจหน้าที่น้อยกว่า อย่างไรก็ตามไม่แน่ว่า หากมีภารกิจมากขึ้น มีงานมากขึ้น พลเอกประยุทธ์ก็อาจมอบอำนาจต่างๆให้มากขึ้นผ่านประกาศคสช.ก็ได้
มีบางคนแนะว่าให้จับตาบทบาทของ คตร.ให้ดี มาถึงตอนนี้ ผ่านมาได้หลายวัน คนก็เริ่มเห็นแล้วว่า บทบาทของคตร.ชักไม่ธรรมดาเสียแล้ว
เพราะเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา คตร.ประกาศเข้าไปตรวจสอบ 8 โครงการขนาดใหญ่ที่มีงบประมาณในการทำโครงการเกิน 1 พันล้านบาทขึ้นไป พูดประสาชาวบ้านก็คือ เข้าไปตรวจสอบหลังพบมีกลิ่นไม่ค่อยดีนั่นเอง ซึ่งพบว่าทั้ง 8 โครงการดังกล่าวล้วนเกิดขึ้นและทำโครงการในสมัยรัฐบาลเพื่อไทยและระบอบทักษิณทั้งสิ้น
อาทิเช่น โครงการจัดซื้อรถโดยสารรุ่นใหม่สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ 115 คันของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) วงเงิน 4,981 ล้านบาท ซึ่งมีข่าวก่อนหน้านี้ว่า การจัดซื้อรถดังกล่าวมีปัญหาเรื่องเงื่อนไขการประมูลที่การจัดซื้อไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในทีโออาร์คือจัดซื้อไม่ตรงตามสเปกนั่นเอง หรือโครงการจัดหาหัวรถจักร จำนวน 126 คันของร.ฟ.ท. ที่แบ่งออกเป็นหลายสเปกเช่น หัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า
นอกจากสองโครงการดังกล่าวที่อยู่ในสังกัดกระทรวงคมนาคมแล้ว ก็ยังมีโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 มูลค่า 62,503 ล้านบาทของบริษัทท่าอากาศยานไทย(ทอท.)อีกหนึ่งโครงการที่ คตร.เข้าตรวจสอบ ซึ่งจริงๆแล้ว เป็นโครงการที่มีการผลักดันกันอย่างจริงจัง ในสมัยพรรคภูมิใจไทยคุมกระทรวงคมนาคมในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผ่านโสภณ ซารัมย์ ตอนเป็นรมว.คมนาคมแต่ก็มีข่าวว่าภูมิใจไทยก็เข้ามาสานต่อโครงการหลังจากมีการวางโครงการไว้แล้วตั้งแต่สมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน และพอมาเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็มีการสานต่อโครงการอย่างต่อเนื่องเพราะเป็นโครงการที่ใช้งบผูกพัน แม้จะเป็นโครงการที่หลายฝ่ายสนับสนุนเพื่อทำให้สนามบินสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารที่นับวันจะมากขึ้นในแต่ละปี แต่เมื่อเป็นโครงการใหญ่และหลายฝ่ายจับตามองตลอด คตร.ก็เลยต้องเข้ามาตรวจสอบทางลึกมากขึ้นนั่นเอง
นอกจากนี้ก็ยังมี โครงการจ้างให้บริการระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า ของบริษัททอท. -กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (สำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน) -โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพาหรือที่รู้จักกันว่าโครงการจัดหาแท็บเล็ต ของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงไอซีที อันเป็นโครงการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เคยภูมิใจหนักหนา แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมานับแต่ทำโครงการมีแต่ปัญหาเกิดขึ้นตลอด -โครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และโครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (กสทช.) หรือโครงการแจกคูปองส่วนลดทีวีดิจิตอลมูลค่า 1 พันบาทให้กับประชาชน 25 ล้านครัวเรือน ใช้งบ 25,000 ล้านบาทนั่นเอง
การเข้าไปตรวจสอบ 8 โครงการดังกล่าวและยังไม่หมดเท่านี้ เพราะจะเข้าไปตรวจสอบอีกหลายโครงการที่ใช้งบเกิน 1 พันล้านบาทที่อยู่ในงบรายจ่ายปี57 ทำให้นับแต่นี้ บทบาทของ คตร.อยู่ในความสนใจของประชาชนอย่างมากเพราะเชื่อว่า อาจมีผลสรุปอะไรออกมาบางอย่างให้ถูกพูดถึงไม่น้อย
จึงไม่แปลกที่ตอนนี้ชื่อของ พล.ท.อนันตพร หรือ “เสธ.โย่ง”กำลังถูกพูดถึงไม่น้อยว่า เขาคือมือสอบและปราบคอรัปชั่น ที่บิ๊กตู่ส่งมาทำภารกิจพิเศษอันนี้ โดยไม่จำเป็นต้องมี”คตส.2”ให้ยุ่งยาก ถึงแม้ อำนาจของ คตร. อาจไม่ได้ผลเด็ดขาดแบบ คตส. แต่ผลงานที่จะออกมา ก็น่าจะทำให้กองเชียร์คสช.ได้ลุ้นบ้าง