xs
xsm
sm
md
lg

เด้ง “อรรถพล”พ้นอัยการสูงสุด “ปู”หนาวแน่คดีโกงจำนำข้าว!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

อรรถพล ใหญ่สว่าง
ไม่มีโอ้เอ้ มัวแต่รำป้อ จนทหารยุคคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.)เรืองอำนาจ ต่างทำงานฉับไวอยู่แล้ว โดยเฉพาะหากเรื่องไหนเป็นคำสั่งตรงหรือนโยบายจาก “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา”หัวหน้าคณะคสช. ทั้งทหาร-พลเรือน ก็ขานรับกันโดยพร้อมเพียงชาติเจ๊ง แล้วค่อยมาสะสาง สำหรับ

ด้วยเหตุนี้ไม่ถึงสัปดาห์ หลังคสช.มีนโยบายเข้าร่วมตรวจสอบปัญหาการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ก็พบว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายจังหวัดเช่น ชัยนาท พระนครศรีอยุธยาฯ อุบลราชธานี ก็มีการส่งกำลังทหารไปโรงสีข้าวเพื่อตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวที่อยู่ในโครงการรับจำนำข้าวและเก็บไว้ในโกดังโรงสีต่างๆ กันไปแล้วหลายจุด

ปฏิบัติการครั้งนี้ของทหาร เป็นนโยบายของบิ๊กทหารในคสช.ที่ต้องการเข้ามาแบ่งเบาภาระให้กับกระทรวงพาณิชย์และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่กำลังเดินหน้าสอบโครงการทุจริตจำนำข้าวอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อทหารมาช่วยแล้ว ก็จะได้รู้ข้อเท็จจริงว่าข้าวที่อยู่ในโกดังมีปริมาณเท่าไหร่ ตรงกับที่มีการแจ้งไว้กับกระทรวงพาณิชย์หรือไม่

ยิ่งเมื่อมีกระแสข่าวข้าวหายไปจากระบบร่วม 2.9 ล้านตัน ทาง คสช.ก็ดูจะนิ่งนอนใจไม่ได้ ดังนั้นพอมีนโยบายส่งทหารเข้าตรวจสอบโกดังข้าว แค่ไม่กี่วัน ก็ลงมือทันที ทำเอาหลายโรงสีในหลายจังหวัด ตั้งตัวกันแทบไม่ติด กับปฏิบัติการฉับไวของคสช.

เบื้องต้นพบว่า รูปแบบการตรวจสอบโกดังข้าวทั่วประเทศของทหาร มีการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวในโกดังอย่างละเอียด บางแห่งมีข่าวว่ามีการตรวจดูแทบทุกกระสอบ รวมถึงขอตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อดูว่าข้าวสารในโกดังมีปริมาณตรงกับที่ลงบัญชีไว้กับจังหวัดหรือไม่ จะได้รู้ว่ามีอะไรผิดปกติหรือมีการเวียนเทียนข้าวในโกดังลักลอบออกไปขายหรือไม่

ถือเป็นการทำงานของทหารที่หลายฝ่ายชื่นชมพอสมควร เดากันว่า เหตุที่คสช.ต้องส่งทหารเข้าไปตรวจสอบโกดังข้าว เพราะคสช.เองก็อาจไม่ค่อยวางใจกระทรวงพาณิชย์มากนัก จึงต้องการทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดในภาพรวมของโครงการรับจำนำข้าว เนื่องจากหลายฝ่ายก็รู้กันดีว่าข้าราชการระดับสูงของกระทรวงส่วนใหญ่ก็เป็นคนของพรรคเพื่อไทยทั้งสิ้น และอาจมีส่วนร่วมกับการทำโครงการรับจำนำข้าวที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางงบประมาณหลายแสนล้านบาท

คสช.ก็เลยต้องส่งกำลังทหารเข้าไปร่วมวางแผนสนธิกำลังกันกับฝ่ายปกครองและพาณิชย์จังหวัด เพื่อตรวจสอบโกดังข้าวทุกแห่ง ที่นอกจากจะนำข้อมูลที่ได้ส่งไปยังศูนย์บัญชาการของคสช.แล้ว ตามข่าวบอกว่า คสช.เองก็จะรวบรวมแล้วส่งไปให้คณะกรรมการป.ป.ช.จะได้เป็นข้อมูลสำคัญในการพิจารณาไต่สวนคดีรับจำนำข้าวต่อไป

ซึ่งปฏิบัติการของคสช.ในการเข้าตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวยังไม่หมดแค่นี้ ยังจะมีปฏิบัติการต่อเนื่องต่อไปอีก ตามแผนปฏิบัติการของคสช.ที่คณะทำงานฝ่ายเศรษฐกิจ โดยพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช.วางไว้ เช่นหลังจากนี้ คสช.จะแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว ซึ่งเป็นกรรมการคนละชุดกับคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.)แต่อำนาจหน้าที่จะเป็นอย่างไร ยังอยู่ระหว่างการเตรียมการ ตลอดจน คสช.จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการย่อยเพื่อทำบัญชีข้าวและดำเนินการตรวจสอบโครงการทั้งระบบอีกด้วย

เห็นแบบนี้แล้ว มั่นใจได้ว่า หากคสช.ไม่แผ่วปลาย การเข้าตรวจสอบเรื่องโครงการรับจำนำข้าวทั้งระบบ รับรองได้เห็นอะไรดีๆ แน่นอน

เพราะหากคสช.ได้ข้อมูลเชิงลึกจากการตรวจสอบโกดังข้าว -การสอบเจ้าของโรงสีต่างๆ และคนที่อยู่ในกระบวนการรับจำนำข้าวในช่วงสองปีกว่าที่ผ่านมา ถ้า คสช.ค้นเจอขยะที่รัฐบาลเพื่อไทยและพวกแสวงหาผลประโยชน์ทั้งหลายในโครงการรับจำนำข้าวในช่วงที่ผ่านมาซุกซ่อนไว้ แล้วส่งไปให้ป.ป.ช. งานนี้ อาจได้เห็นคนติดคุก ในคดีอาญากันแน่นอน!

มาถึงตรงนี้ ก็ต้องรายงานความคืบหน้า การไต่สวนคดีรับจำนำข้าวของป.ป.ช.ไว้ด้วยเพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่า แม้สำนวนคดีที่ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์เมื่อช่วงต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาด้วยการชี้มูลความผิด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯในโครงการรับจำนำข้าว แม้สุดท้าย คดีจะไม่มีผลอะไรไปแล้วอย่างน้อยก็น่าจะหยุดชั่วขณะ เพราะวุฒิสภาถูกยุบไปแล้ว แต่คดีการเอาผิดทุจริตรับจำนำข้าวในส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะ “คดีอาญา”ก็ยังดำเนินต่อไป

โดยเฉพาะกับการเอาผิดคดีอาญายิ่งลักษณ์ ในฐานะอดีตนายกฯและอดีตประธาน กขช.พบว่ายังเดินหน้าไม่หยุด เช่นเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช. ก็เรียกพยานมาสอบปากคำเพิ่มเติมในสำนวนนี้ไปแล้วร่วม 4 ปากเช่น รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งมีข่าวว่า คณะทำงานของป.ป.ช.ก็เร่งเดินเครื่องปิดสำนวนคดีนี้กันอยู่ แต่ยิ่งป.ป.ช.ออกข่าวใกล้ปิดสำนวนทำความเห็นในคดีอาญากับยิ่งลักษณ์ ทางฝ่ายทนายความของยิ่งลักษณ์ ก็ดิ้นสู้สุดฤทธิ์พยายามขอยื้อเวลาให้นานที่สุดตามสไตล์ อันเป็นลูกไม้เดิมๆที่เคยทำก่อนหน้านี้ เช่นการยื่นเรื่องขอให้ป.ป.ช.เรียกพยานมาไต่สวนเพิ่มเติมถึง 8 ราย อาทิ อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นต้น

สามารถเดาทางได้ไม่ยากว่า ยิ่งลักษณ์และทีมทนายความ ต้องการประวิงเวลาการลงมติของป.ป.ช.ไปเรื่อยๆ หนำซ้ำยังยื่นหนังสือถึงป.ป.ช. เพื่อขอให้ ป.ป.ช.ไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มใน 3 ประเด็น คือ
 
1.เรื่องสต็อกข้าว 2.97 ล้านตันในโครงการที่ยังมีข้อโต้แย้งระหว่างคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง กับ อคส.และ อตก. เพื่อยืนยันว่าสต็อกข้าว 2.97 ล้านตันไม่ได้หาย

2.การคิดการเสื่อมสภาพข้าวในสต็อกที่ยังเห็นแตกต่างกันระหว่างคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ กับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

3.การคำนวณความเสียหายในโครงการที่มีความแตกต่างถึง 172,933 ล้านบาท

การยื่นเรื่องดังกล่าวของยิ่งลักษณ์ ก่อนป.ป.ช.จะสรุปผลคดีนี้ ทั้งหมดที่ทำ มันก็คือการดิ้นสู้ อีกยก น่าเชื่อว่าคงไม่ใช่ยกสุดท้ายของยิ่งลักษณ์ ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ คิดว่า ทางป.ป.ช.เอง ก็อ่านเกมออก ว่ามันคือแผนซื้อเวลาของยิ่งลักษณ์ แต่เนื่องจากยิ่งลักษณ์ ก็เป็นระดับอดีตนายกฯ ก็ต้องเปิดโอกาสให้สู้คดีเต็มที่ หากจะปฏิเสธข้อเรียกร้องของยิ่งลักษณ์

ในประเด็นไหน ทางป.ป.ช.ก็คงต้องพิจารณากันให้ดี เพื่อไม่ให้ฝ่ายยิ่งลักษณ์ ไปบิดเบือนได้ว่า ป.ป.ช.ไม่ให้ความเป็นธรรม

ทั้งนี้หากดูจากมติป.ป.ช.ที่มีมติเอกฉันท์ ชี้มูลความผิดยิ่งลักษณ์ในคดีถอดถอนที่ส่งไปให้วุฒิสภาก่อนหน้านี้ ดังนั้นโอกาสที่ยิ่งลักษณ์จะรอดในคดีอาญา บอกได้คำเดียวว่า ยากและแทบเป็นไปไม่ได้

เหลือแค่ว่า ป.ป.ช.ต้องทำสำนวนคดีอาญาให้รัดกุมกว่าคดีถอดถอนมากขึ้นไปอีก เพราะต้องส่งสำนวนไปยังศาลด้วย ทำให้ การสอบพยานบุคคล-หาพยานเอกสาร อะไรต่างๆ จึงต้องใช้เวลาทำสำนวนให้แน่นหนามากกว่าคดีถอดถอนค่อนข้างมาก

โดยหากป.ป.ช.มีมติดำเนินคดีอาญากับยิ่งลักษณ์ ที่ตามข่าวบอกว่าอาจช่วงสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ หรืออย่างช้าไม่น่าจะเกินเดือนก.ค. เว้นแต่ต้องสอบพยานหลักฐานกันอีกหลายส่วน ถ้ากรรมการป.ป.ช.เห็นว่าสำนวนยังไม่แน่นหนาพอ คดีก็อาจล่าช้าไปอีกร่วมๆ 2 เดือนต่อจากนี้ แต่สุดท้าย หากป.ป.ช.มีมติดำเนินคดีอาญากับยิ่งลักษณ์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานไม่ระงับยับยั้งโครงการทั้งที่น่าจะเห็นอยู่แล้วว่าเป็นโครงการที่ไม่เป็นประโยชน์และมีการทุจริตคอรัปชั่น ทางป.ป.ช.ก็จะส่งสำนวนไปให้ อัยการสูงสุดพิจารณาความเห็นสั่งฟ้อง-ไม่ฟ้องต่อไป

ทั้งนี้ส่วนใหญ่แล้ว ขั้นตอนในชั้นอัยการจะกินเวลานาน ร่วมๆ เกือบ 1-2 ปีนับแต่รับสำนวนจากป.ป.ช.คดีถึงจะคืบหน้า บางคดีที่ป.ป.ช.ส่งไปให้อัยการ ผ่านมาร่วม 3-4 ปีแล้วยังไม่มีอะไรคืบหน้าก็มี และส่วนใหญ่ คดีที่ป.ป.ช.ส่งไป ก็มักจะมีปัญหาความเห็นในคดีไม่ตรงกันกับอัยการ จนต้องตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการกับป.ป.ช.เพื่อพิจารณาความเห็นในคดี แล้วก็มักจบที่ความเห็นขัดแย้งกัน จนป.ป.ช.ต้องยื่นฟ้องต่อศาลเอง

สำหรับคดียิ่งลักษณ์ก็เช่นกัน หลายคนก็คาดไว้ว่า หากสุดท้ายป.ป.ช.ส่งไปให้อัยการสูงสุดทำความเห็นสั่งฟ้อง ก็มีแนวโน้มที่คดีอาจไปแช่แข็งอยู่ที่อัยการนานจนลืม และอาจเป็นไปได้ ที่สุดท้ายป.ป.ช.ก็ต้องยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯเอง เพราะอัยการอาจสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่หลายคนวิเคราะห์กันไว้ ที่จริงๆ แล้วอาจไม่เป็นเช่นนี้ก็ได้ แต่ก็มีคนมองว่าก็อาจเป็นไปได้เช่นกันที่จะเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น

ทว่าพอคสช.มีคำสั่งช่วงค่ำ เมื่อ 11 มิ.ย.สั่งย้าย อรรถพล ใหญ่สว่าง ออกจากตำแหน่งอัยการสูงสุด แล้วให้ ไปปฏิบัติราชการที่สำนักปลัดสำนักนายกฯ และตั้ง ตระกูล วินิจนัยภาค รองอัยการสูงสุดที่เป็นรองอสส.ที่มีอาวุโสสูงสุดรักษาการแทน

แม้หลายคนไม่รู้สาเหตุที่ คสช.ตัดสินใจออกคำสั่ง ย้าย อรรถพล ที่เป็นหมายเลขหนึ่งขององค์กรอัยการ หน่วยงานสำคัญในกระบวนการยุติธรรม แต่มันก็อาจทำให้บางคนคาดการไปว่า คสช.คงมีข้อมูลอะไรลึกๆ บางอย่างถึงตัดสินใจเช่นนี้

กระนั้น คำสั่ง ย้าย อรรถพล ดังกล่าว ไม่แน่ อาจจะทำให้ ยิ่งลักษณ์และหลายคนในรัฐบาลเพื่อไทยที่มีคดีความอยู่กับ ป.ป.ช.ที่จะต้องส่งเรื่องไปให้อัยการสูงสุดทำความเห็นสั่งฟ้อง คงใจคอไม่ดีแน่นอน
วิชา มหาคุณ
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปให้การป.ป.ช.

กำลังโหลดความคิดเห็น