xs
xsm
sm
md
lg

“โกงจำนำข้าว” ขยะใต้พรม เรื่องที่ “คสช.” ต้องปัดกวาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

ม้ว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะออกตัวแรงในการบริหารประเทศ หลังรัฐประหารชนิดได้ใจประชาชนโดยเฉพาะชาวนา จากการเร่งชำระหนี้และจ่ายเงินให้อย่างรวดเร็ว หลังจากชาวนาต้องทนทุกข์อย่างแสนสาหัสจากความใจดำของของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ไร้อำนาจ แต่ยังกอดอำนาจโดยไม่สนความตายของชาวนาที่ต้องสังเวยชีวิตเซ่นจำนำข้าวไปแล้วเกือบ 20 ราย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้า คสช. จึงกลายเป็นเสมือน “อัศวินม้าขาว” ที่เข้ามาชุบชีวิตให้ข้าวในท้องนาออกรวงได้อีกครั้ง หลังแห้งเหี่ยวยืนต้นตายมานานกว่า 6 เดือน

แต่น่าเสียดายว่า ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คสช.กลับไม่ทำอะไรเพิ่มเติมที่จะสะสางโครงการจำนำข้าว ที่ทำลายอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ นอกจากการทำโฆษณาชวนเชื่อเพื่อตอกย้ำให้คนไทยเกิดความรู้สึกว่า “พล.อ.ประยุทธ์คือฮีโร่” โดยไม่มีการพูดถึงปัญหาจากโครงการจำนำข้าว ไม่แม้แต่จะประกาศรื้อโครงการ เพื่อกางข้อมูลที่ถูกปกปิดมาตลอดให้คนไทยได้รับทราบว่า ตกลงแล้วจำนำข้าวที่ “ทักษิณคิด ยิ่งลักษณ์ทำ” ชาติฉิบหายไปเท่าไหร่

เมื่อมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวที่มี กุลิศ สมบัติศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน สรุปว่ามีผลขาดทุนจากโครงการนี้กว่า 5 แสนล้านบาท แถมยังมีข้าวหายไปอีกเกือบ 3 ล้านตัน เรื่องนี้กลับหายเข้าไปในกลีบเมฆ โดยไม่มี คสช.คนใดออกมาแสดงความสนใจต่อความเสียหายอย่างใหญ่หลวงที่เกิดกับประเทศจากโครงการนี้เลยแม้แต่คนเดียว

ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ.ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของ คสช. ก็ไม่เคยออกมาแสดงจุดยืนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อผลขาดทุนดังกล่าว และจะทำอย่างไรต่อไปกับโครงการจำนำข้าว นอกจากจะมีการกู้เงินเพิ่มอีก 9 หมื่นล้านบาทและอนุมัติให้สำนักบริหารหนี้สาธารณะ ปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 2557 ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการให้รายละเอียดใดๆ ต่อสังคม ว่าการกู้เงินที่ทำให้คนเฮกันทั้งประเทศดังกล่าว ส่งผลอย่างไรต่อสถานะการคลัง และปริมาณหนี้สาธารณะของประเทศ

ถ้าจำกันได้ การบริหารโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ประสบปัญหาเรื่องเงินหมุนเวียนในโครงการมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาการใช้เงินเกินกรอบที่ ครม. มีมติไว้ที่ 5 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นสองส่วน คือ 41,000 ล้านบาท มาจากการกู้เงินของกระทรวงการคลัง ส่วนอีก 9,000 ล้านบาท มาจากการสำรองจ่ายของ ธ.ก.ส. แต่ผลสรุปของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวที่ สุภา ปิยะจิตติ เป็นประธานสรุปไว้ว่า มีการใช้เงินในโครงการจำนำข้าวจนถึงห้วงเวลาที่มีการปิดบัญชี ณ วันที่ 31 พ.ค. 56 ว่างบบานไปแล้วถึง 6.5 แสนล้านบาท เท่ากับมีการใช้เกินกรอบวงเงินที่ ครม. กำหนดถึง 1.5 แสนล้านบาท ไม่นับรวมยอดขาดทุนประมาณ 2.2 แสนล้านบาท

สอดคล้องกับยอดขาดทุนล่าสุดที่ปรากฏเป็นรายงานข่าวว่าเป็นผลสรุปของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีที่มี กุลิศ เป็นประธาน ว่าการขาดทุนจนถึง พ.ค. 57 ยอดสูงราว 5 แสนล้านบาท เพราะหากบวกจากยอดขาดทุนที่มีการสรุปในครั้งแรก มาบวกเพิ่มจากการทำโครงการต่อเนื่อง ก็จะพบว่าผลขาดทุนจะอยู่ในราว 5 แสนล้านบาทเช่นเดียวกัน

แต่ที่น่าสังเกต คือ ทั้งปลัดกระทรวงการคลัง และ กุลิศ กลับออกมาปฏิเสธ ยอดขาดทุนและกรณีสต๊อกลมข้าวสาร 2.98 ล้านตัน ซึ่งมีเพียงแค่ตัวเลข แต่ไม่มีข้าวสารจริงอยู่ในโกดัง ว่าไม่ได้เป็นจริงตามที่เป็นข่าว โดยในส่วนของ กุลิศ ซึ่งไปชี้แจงต่อ ป.ป.ช. ในการไต่สวนคดีที่มีการกล่าวหา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้เกิดการทุจริตโครงการจำนำข้าวจนรัฐเสียหาย เพื่อสรุปสำนวนว่าจะมีการดำเนินคดีอาญาเพิ่มเติมหรือไม่ ก็ไม่ยอมให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน และยังอ้างว่าคณะอนุกรรมการฯ ที่ตัวเองเป็นประธานนั้น สิ้นสภาพไปพร้อมกับการหมดอำนาจของ ครม.ยิ่งลักษณ์แล้ว ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลที่ปลัดกระทรวงการคลัง ออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า คณะอนุกรรมการฯชุดนี้ ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่

สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นเค้าลางว่าอาจจะมีความพยายามปกปิดตัวเลขความเสียหายจากโครงการจำนำข้าว ไม่ต่างจากที่เคยมีการปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่ ยิ่งลักษณ์ ยังเรืองอำนาจ เพราะล่าสุดปลัดกระทรวงการคลัง ยังยืนยันกระต่ายขาเดียวว่า ผลขาดทุนไม่น่าจะสูงถึง 5 แสนล้านบาท

ในขณะที่ คสช.เงียบ ทั้งที่มีอำนาจเต็มในการสังคายนาโครงการนี้เพื่อให้เกิดความกระจ่างต่อสาธารณชน แต่ คสช.กลับเลือกที่จะนิ่งเฉย ไม่เดินหน้ากวาดขยะที่ซุกอยู่ใต้พรมจากโครงการนี้

ที่สำคัญคือ ตอนนี้ คสช.คือส่วนหนึ่งในกระบวนการจำนำข้าวที่ต้องร่วมรับผิดชอบต่อความเสียหายของโครงการด้วย เพราะการที่ พล.อ.ประยุทธ์ เซ็นกู้เงิน 9 หมื่นล้านบาทในทันที แม้ว่าจะได้คะแนนเสียง แต่จะทำให้ปัญหาหมักหมมเกี่ยวกับเงินหมุนเวียนในโครงการนี้เพิ่มมากขึ้นไปอีก หลังจากที่ยุ่งเหยิงกลายเป็นลิงแก้แห จนทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่สามารถกู้เงินจ่ายชาวนาได้ แม้ว่าจะมีการอนุมัติวงเงินเพิ่มอีก 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่นอกวงเงินในกรอบ 5 แสนล้าน ตั้งแต่ยังไม่มีการยุบสภา แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถกู้เงินได้ เพราะเป็นการอนุมัติแค่ตัวเลข เพื่อตบตาว่า โครงการไม่ได้ถังแตก เท่านั้น

โดยสำนักบริหารหนี้สาธารณะ ยืนกรานว่าการจะกู้เงินเพิ่มต้องอยู่ภายใต้กรอบวงเงินเดิม จึงเป็นสาเหตุให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ แม้ในยามที่มีอำนาจเต็ม ก็ไม่สามารถกู้เงินเพิ่มได้เนื่องจากใช้เกินโควต้าไปแล้ว

จึงมีคำถามว่า การกู้เงินล่าสุดที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้เซ็นอนุมัตินั้น เกินกรอบวงเงิน 5 แสนล้านหรือไม่ เพราะถ้าเกินกว่ากรอบที่กำหนดไว้ ก็ต้องตอบคำถามเพิ่มว่า กระทบต่อการก่อหนี้และสถานะการคลังอย่างไร รวมถึงวงเงินค้ำประกันที่กระทรวงการคลัง มีเพดานค้ำประกันเงินกู้ให้กับหน่วยงานรัฐได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม เมื่อมีการกู้เพิ่มนอกเหนือจากแผนเดิมจะกระทบอย่างไรต่อวงเงินกู้ในส่วนที่จะนำไปลงทุนพัฒนาประเทศ ซึ่ง คสช.ตีปี๊บไว้ว่าจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็จะรักษาวินัยการเงินการคลังด้วย

แต่สิ่งที่ คสช.ทำ กลับตรงกันข้ามกับภาพที่พยายามโฆษณาชวนเชื่อว่าสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับการรักษาวินัยการเงินการคลัง ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ คสช.ประกาศว่า ไม่เอาโครงการประชานิยม แต่กลับไม่เคยพูดให้ชัดเจนว่า จะยุติโครงการประชานิยมที่ต่อเนื่องจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อย่างไร

โดยเฉพาะความเสียหายจากโครงการจำนำข้าว ว่าส่งผลกระทบอย่างไรต่อทั้งชาวนา และประเทศชาติ ไม่เคยคิดที่จะกระชากหน้ากากว่าใครอยู่เบื้องหลังการทุจริต เป็นมอดกัดกินข้าว จนทำให้ไม่เงินจ่ายหนี้ชาวนา
กำลังโหลดความคิดเห็น