บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส หรือ มูดี้ส์ ประกาศเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่า ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลของประเทศไทยที่ระดับ Baa1 เหมือนเดิม พร้อมทั้งยืนยันแนวโน้มความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ระดับมีเสถียรภาพ
ในฐานะสถาบันจัดอันดับที่มีอิทธิพลที่สุด 1 ใน 3 แห่งของโลกที่ทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยงของลูกหนึ้ให้กับนักลงทุนในตลาดการเงินโลก คำประกาศของมูดีส์เสมือนคำรับประกันว่า เงินที่นักลงทุนให้รัฐบาลไทยกู้นั้น ไม่ได้มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระหนี้เพิ่มขึ้นจากเมื่อก่อนแต่อย่างใด ถึงแม้ว่า ประเทศไทยในขณะนี้จะอยู่ภายใต้การปกครองแบบเบ็ดเสร็จของคณะทหาร
มูดี้ส์ไม่สนใจว่า ไทยจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ จะมีการเลือกตั้งหรือไม่ สิ่งที่มูดี้ส์ให้ความสำคัญคือ เงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ มั่นคงปลอดภัย มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระหนี้คืนหรือไม่
เช่นเดียวกับภาวะการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในตลาด เมื่อย่างเข้าสู่สัปดาห์ที่สองของการยึดอำนาจ และหลังจากที่คณะรักษาความสงบแหง่ชาติ หรือ คสช. ประกาศขั้นตอนการบริหารประเทศเบื้องต้น หรือ“ โรดแมป “ ที่สำคัญคือการให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ
สิ่งเหล่านี้คือความชัดเจน ที่ตลาดการเงินโลกต้องการเห็น เพื่อที่จะได้ประเมินว่า จะจัดการกับการลงทุนในประเทศไทยต่อไปอย่างไร นี่คือความเป็นจริงของชีวิตในศตวรรษที่ 21 ที่ระบบทุนนิยมมีบทบาทครอบงำโลก ทุกสิ่งทุกอย่างตัดสินกันด้วย กำไร-ขาดทุน ผลตอบแทนจากการลงทุน ไม่ใช่วัดกันที่ มีหรือไม่มีการเลือกตั้ง
ท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ประเทศสมาชิกอียู และออสเตรเลีย ที่แสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อการยึดอำนาจของ คสช. อย่างชัดเจน เรียกร้องให้จัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เป็นเพียงการแสดงออกตามแบบพิธีของ“ฝรั่ง” ที่จำเป็นต้องทำ เพราะได้ประกาศตัวไปแล้วว่า จะส่งเสริมเชิดชูระบอบประชาธิปไตยและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ความจริงแล้วจะเป็นประชาธิปไตย หรือเผด็จการ ไม่สำคัญเท่ากับว่าความเสี่ยงและผลตอบแทนจากการลงทุนในประเทศต่างๆ ซึ่งตรงนี้ กลุ่มทุนของสหรัฐฯ อียู หรือออสเตรเลีย จะเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่รัฐบาล
เพราะมิฉะนั้นแล้ว สหรัฐฯ และอียูก็คงจะมีการลงทุน ทำมาค้าขายกับอินเดียซึ่งมีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องมายาวนาน มากกว่าการลงทุนกับจีนที่มีการปกครองแบบเผด็จการหลายสิบ หลายร้อยเท่าตัว
การประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ของมูดี้ส์นั้น ก็คือคำรับรองว่าประเทศไทยภายใต้การปกครองของคณะทหารมีคุณสมบัติเพียงพอที่ตลาดการเงินโลก ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่วอลสตรีทจะคบค้าทำมาหากินด้วย
สำหรับปัจจัยหลักในการยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ Baa1 ได้แก่ 1.ความสามารถในการบริหารการคลังของรัฐบาลอย่างไม่บกพร่อง 2.โครงสร้างสถาบันที่เข้มแข็งและไม่ได้รับผลกระทบจากรัฐประหาร ในกรณีนี้ มูดี้ส์ระบุด้วยว่า คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) และ 3. ความแข็งแกร่งของภาคต่างประเทศที่ยังคงดำรงอยู่
ย้อนหลังกลับไปเมื่อปลายปีก่อน ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มาจกการเลือกตั้งแบบที่ฝรั่งชอบ นักวิเคราะห์ของมูดี้สเคยมีความเห็นว่า ความไม่โปร่งใสในโครงการจำนำข้าว อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการปรับลดเรตติ้งประเทศไทยของมูดี้ส์ได้ เพราะว่า เคยขอข้อมูลจากกระทรวงการคลังเกี่ยวกับโครงการจำนำข้าวมาหลายครั้ง แต่ไม่มีใครที่จะชี้แจงให้ความชัดเจนได้
มาถึงยุคที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองโดยทหาร แบบที่ฝรั่งไม่ชอบ หน่วยงานของกระทรวงการคลังสองหน่วยงานคือ สศค.และ สบน. กลับได้รับความชื่นชมจากมูดี้ส๋ว่า มีความเข้มแข็ง
นอกจากมูดีส์แล้ว สถาบันจัดอันดับความ่นาเชื่อถืออีก 2 แห่งคือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ หรือ เอสแอนด์พี และ ฟิตช์ เรตติ้ง โดย เอสแอนด์พี ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินตราต่างประเทศ ที่ระดับ BBB+/A-2 และอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินบาท ที่ระดับ A-/A-2 ซึ่งเป็นอันดับเดิมที่ประเทศไทยได้รับก่อนการเข้าควบคุมอำนาจ
ขณะที่ฟิตซ์ระบุ รัฐประหารไม่ได้เป็นปัจจัยลบถึงขั้นกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย แต่มีคำเตือนว่า จะจับตามมองหากการเมืองยังไม่มีเสถียรภาพช่วงต้นครึ่งปีหลังอาจส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือได้