xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดสัปดาห์หน้าเงินบาทแข็งค่าเล็กน้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 6-9 พ.ค.57) เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ 32.20-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยต้องจับตาประเด็นการเมืองในประเทศ และข้อมูลเศรษฐกิจเดือน เม.ย. ของจีน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM ภาคบริการเดือน เม.ย. สต๊อกสินค้าภาคค้าส่งเดือน มี.ค. ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือน ก.พ. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ อนึ่ง ตลาดการเงินในประเทศจะปิดทำการในวันจันทร์ที่ 5 พ.ค. เนื่องในวันฉัตรมงคล

พร้อมสรุปภาพความความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท (Onshore) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่ากลับมาใกล้ระดับ 32.40 บาทต่อดอลลาร์อีกครั้ง ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ตามสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ก่อนจะทยอยอ่อนค่ากลับมาในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ในตลาด Offshore ก่อนการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) นอกจากนี้ แรงซื้อเงินดอลลาร์จากนักลงทุน และผู้ประกอบการในประเทศ รวมถึงดัชนี ISM ภาคการผลิตของสหรัฐฯ เดือนเม.ย. ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ก็เพิ่มแรงกดดันต่อเงินบาทเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่นักลงทุนรอการประกาศตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ในช่วงตลาดนิวยอร์ก  

โดยปิดตลาดในวันศุกร์ 2 พ.ค. เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับระดับ 32.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (25 เม.ย.)
         
ขณะที่ภาพรวมความเคลื่อนไหวค่าเงินสกุลสำคัญ เงินยูโร และเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์
เงินยูโรผันผวน โดยเงินยูโรขยับขึ้นท่ามกลางความกังวลต่อวิกฤตยูเครนในช่วงต้นสัปดาห์ (กระตุ้นให้มีความต้องการเงินยูโรเพิ่มขึ้น) ก่อนจะล้างช่วงบวกลงในช่วงต่อมา หลังอัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีออกมาต่ำกว่าที่คาด ประกอบกับมีแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ก่อนการประชุมเฟด อย่างไรก็ดี เงินยูโรดีดตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงกลางสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ดิ่งลงอย่างหนัก หลังการเปิดเผยข้อมูลจีดีพีของสหรัฐฯ ประจำไตรมาส 1/57 ที่อ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด และถ้อยแถลงของเฟดที่สะท้อนว่า อัตราดอกเบี้ย Fed Funds จะอยู่ในระดับต่ำต่อไป เงินยูโรทรงตัวในกรอบแคบๆ ในช่วงปลายสัปดาห์ ก่อนการรายงานตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ในช่วงตลาดนิวยอร์ก

เงินเยนอ่อนค่าลงเล็กน้อย เงินเยนถูกดดันในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลาร์ ก่อนการประชุมเฟด ก่อนจะฟื้นตัวขึ้นช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์จากกระแสการไหลเวียนของเม็ดเงินในญี่ปุ่นในช่วงสิ้นเดือน และการคงนโยบายการเงินไว้ตามเดิมของธนาคารกลางญี่ปุ่นในการประชุมวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ข้อมูลภาคการผลิตของสหรัฐฯ เดือนเม.ย. ที่แข็งแกร่งช่วยให้เงินดอลลาร์ทยอยฟื้นตัวขึ้นช่วงปลายสัปดาห์  

ในวันศุกร์ (2 พ.ค.) เงินยูโรอยู่ที่ 1.3861 เทียบกับ 1.3831 ดอลลาร์ต่อยูโรในวันศุกร์ก่อนหน้า (25 เม.ย.) ส่วนเงินเยนอยู่ที่ 102.50 เทียบกับ 102.15 เยนต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า

ทั้งนี้ การที่เงินบาทอ่อนค่าส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นทรงตัวต่อเนื่อง โดยธนาคารพาณิชย์มีการปิดสำรองสภาพคล่องรายปักษ์ในวันอังคาร และเข้าสู่ปักษ์ใหม่ในวันพฤหัสบดี  ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ประเภทกู้ยืมข้ามคืน (Overnight) อยู่ที่ 1.90% ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อน ส่วนอัตราผลตอบแทนถัวเฉลี่ยที่ประมูลได้ของธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคี (Bilateral Repo) ระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน อยู่ที่ 2.00% เท่ากับสัปดาห์ก่อนเช่นกัน

ในสัปดาห์ระหว่างวันที่ 6-9 พ.ค.2557 จะมีการตัดจ่ายเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายผ่านระบบธนาคารในช่วงกลางสัปดาห์ ขณะที่อาจมีสภาพคล่องไหลกลับเข้าสู่ระบบธนาคารพาณิชย์หลังวันหยุดยาว โดยตลาดการเงินไทยจะปิดทำการในวันจันทร์ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินน่าจะยังทรงตัวต่อเนื่องใกล้ระดับ 2.00% 

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย และสหรัฐฯ

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ประเภทอายุ 5 ปี ปิดที่ระดับ  3.08% ในวันศุกร์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระดับ 3.03% ในสัปดาห์ก่อน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนี่องในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ โดยมีแรงขายทำกำไรจากนักลงทุน หลังจากที่ราคาพันธบัตรไทยปรับตัวขึ้นไปมากในช่วงก่อนหน้า

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ประเภทอายุ 10 ปี ปิดที่ระดับ 2.66% ในวันพฤหัสบดี ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับระดับ 2.72% ในสัปดาห์ก่อน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในวันจันทร์ โดยได้แรงหนุนจากข้อมูลภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมาดี ก่อนที่จะปรับลดลงเล็กน้อยต่อเนื่องในช่วงกลางสัปดาห์ จากความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ข้อมูล GDP สหรัฐฯ ในไตรมาส 1/57 ออกมาน่าผิดหวัง
กำลังโหลดความคิดเห็น