xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดสัปดาห์หน้าเงินบาทแข็งแค่ขึ้นเล็กน้อย แนะจับตาการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท ระหว่างวันที่ 21-25 เมษายน 2557 ว่า เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ 32.15-32.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยต้องจับตาสถานการณ์การเมืองไทย และผลการประชุมนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ กนง. ในวันที่ 23 เมษายน 2557 

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายงานโดยรอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกน เดือนเม.ย. ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน มี.ค. ดัชนีราคาบ้านเดือน ก.พ. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดอาจจับตารายงานดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการ (เบื้องต้น) เดือนเม.ย. และความคืบหน้าในการแก้ไขสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครนด้วยเช่นกัน 

ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นทรงตัวต่อเนื่อง โดยมีสภาพคล่องไหลกลับสู่ระบบหลังวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ปิดสำรองสภาพคล่องรายปักษ์และเข้าสู่ปักษ์ใหม่ในวันพุธ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ประเภทกู้ยืมข้ามคืน (Overnight) อยู่ที่ 1.90% ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อน ส่วนอัตราผลตอบแทนถัวเฉลี่ยที่ประมูลได้ของธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคี (Bilateral Repo) ระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน อยู่ที่ 2.00% เท่ากับสัปดาห์ก่อนเช่นกัน

ทั้งนี้ ในสัปดาห์ระหว่างวันที่ 21-25 เม.ย.2557 จะมีการตัดจ่ายเงินภาษีมูลค่าเพิ่มรายเดือนผ่านระบบธนาคารในช่วงต้นสัปดาห์ ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.00% ในการประชุมวันที่ 23 เม.ย. นี้

สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ประเภทอายุ 5 ปี ปิดที่ระดับ 3.13% ในวันศุกร์ ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับระดับ 3.21% ในสัปดาห์ก่อน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่องหลังจากตลาดเปิดทำการซื้อขายในวันพุธ จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติหลังถ้อยแถลงของประธานเฟด กล่าวถึงแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ประเภทอายุ 10 ปี ปิดที่ระดับ 2.72% ในวันพฤหัสบดี ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระดับ 2.62% ในสัปดาห์ก่อน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นในวันจันทร์ โดยได้รับแรงหนุนจากข้อมูลยอดค้าปลีกที่แข็งแกร่ง ก่อนที่จะปรับตัวลดลงในช่วงกลางสัปดาห์จากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครน รวมทั้งคำแถลงของประธานเฟด ที่ส่งสัญญาณว่าเฟดจะยังคงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป อย่างไรก็ดี อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในวันพฤหัสบดี จากแรงขายทำกำไร

พร้อมสรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท ระหว่างวันที่ 16-18 เมษายน 2257 ว่า เงินบาทหลังจากเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ใกล้ระดับ 32.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ จากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งกว่าที่คาด (เช่น ยอดค้าปลีก และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน มี.ค.) อย่างไรก็ดี เงินบาทดีดตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้งในช่วงกลางสัปดาห์สอดคล้องกับแรงซื้อสุทธิหุ้น และพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ ตัวเลขจีดีพีประจำไตรมาส 1/57 ของจีนที่ชะลอตัวน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ก็เป็นปัจจัยบวกของเงินบาท และสินทรัพย์/สกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย ด้วยเช่นกัน

โดยในวันศุกร์ (18 เม.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.18 เทียบกับระดับ 32.26 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 เม.ย.)

สำหรับความเคลื่อนไหวค่าเงินสกุลสำคัญ ประกอบด้วย เงินยูโรอ่อนค่าลง โดยเงินยูโรเผชิญแรงเทขายช่วงต้นสัปดาห์ หลังจากถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) และเจ้าหน้าที่ ECB ท่านอื่นๆ ส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินอีก หากการแข็งค่าของเงินยูโร ส่งผลให้เงินเฟ้อทรงตัวในระดับต่ำยาวนาน อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินยูโรเป็นไปอย่างจำกัดในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ เองก็ได้รับแรงกดดันจากมุมมองของประธานเฟด ที่บ่งชี้ว่า ท่าทีนโยบายการเงินของสหรัฐฯ จะยังคงเป็นเชิงผ่อนคลาย เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และตลาดแรงงาน 

เงินเยนอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดยถูกกดดันจากสัญญาณการเข้าซื้อหุ้นญี่ปุ่นของกองทุนบำเหน็จบำนาญรัฐบาลญี่ปุ่น สวนทางกับเงินดอลลาร์ฯ ที่ได้รับแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ (ยอดค้าปลีกเดือน มี.ค. ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือน เม.ย.) นอกจากนี้ ความหวังที่ว่าจะมีวิธีทางการทูตยุติเหตุรุนแรงในยูเครน ก็กระตุ้นแรงเทขายเงินเยน (ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย) ออกมาในช่วงปลายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน

ในวันศุกร์ (18 เม.ย.) เงินยูโรอยู่ที่ 1.3818 เทียบกับ 1.3883 ดอลลาร์ฯ ต่อยูโรในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 เม.ย.) ส่วนเงินเยนอยู่ที่ 102.38 เทียบกับ 101.59 เยนต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น