รายงานการเมือง
ความพยายามที่จะดันทุรังรักษาอำนาจไว้ให้ยาวนานที่สุดของระบอบทักษิณโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของบ้านเมืองเข้ากับคำกล่าวของ “ขงเบ้ง” ที่ว่า อำนาจที่ปราศจากเหตุผล คืออำนาจของคนพาล อำนาจที่ปราศจากความเมตตา คือ อำนาจที่นำมาซึ่งความปราชัย
ครม. รักษาการที่คิดว่าตัวเองมีอำนาจกำลังใช้อำนาจที่ปราศจากเหตุผลด้วยการหยิบยกข้อกฎหมายเฉพาะที่เป็นประโยชน์กับตนเองมาอ้างกล้า แม้กระทั่งอ้างถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแบบยอมรับครึ่งหนึ่ง ปฏิเสธอีกครึ่งหนึ่งอย่างไม่ละอาย
เพราะในขณะที่ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ซึ่งคิดว่าตัวเองมีอำนาจเทียบเท่านายกรัฐมนตรีหยิบยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ ครม. ที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมี ครม. ชุดใหม่ แต่บรรดารัฐมนตรีตกสวรรค์ ไม่ว่าจะเป็น สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล หรือ เฉลิม อยู่บำรุง ต่างออกมาต่อต้านไม่ยอมรับคำวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่งรัฐมนตรีไปพร้อมกับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ส่วนยิ่งลักษณ์ก็ไม่ยอมรับว่าตัวเองทำผิดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ตลกร้ายไปกว่านั้นคือ ชัยเกษม นิติสิริ ปฏิบัติหน้าที่ รมว.ยุติธรรม และ ศอ.รส. ขู่ว่าจะใช้มาตรา 7 ทูลเกล้าฯขอพระบรมราชวินิจฉัยเพื่อให้พวกตัวเองอยู่ในอำนาจต่อไป แต่ขี้ข้าด้วยกันกลับออกมาตีกันไม่ให้คนอื่นใช้มาตรา 7 เพื่อแก้ปัญหาประเทศ โดยอ้างว่าไม่เป็นประชาธิปไตยขัดรัฐธรรมนูญ
ทั้งที่มาตรา 7 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและรัฐบาลก็คิดที่จะใช้เพียงแต่ต้องการใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัวเองห้ามไม่ให้ผู้อื่นใช้เพราะเกรงว่าจะต้องสูญเสียอำนาจ
นี่คือบทพิสูจน์การใช้อำนาจที่ปราศจากเหตุผลจนทำให้ประเทศชาติถึงทางตันอันอาจนำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในชาติ
ในขณะที่หลายภาคส่วนพยายามทักท้วงไม่ให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก้รัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายกู้เงินสองล้านล้าน เลิกโครงการจำนำข้าว แต่รัฐบาลไม่ฟังเหตุผลเดินหน้าทุกอย่างที่สังคมไม่เห็นด้วย จนสร้างความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง นำมาสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้นจนประชาชนไม่ยอมรับกระบวนการเลือกตั้ง
แทนที่รัฐบาลจะทบทวนความผิดพลาด ยังดึงดันที่จะทำผิดซ้ำบีบบังคับให้สังคมต้องเดินตามแนวทางที่ตัวเองกำหนดกลับไปสู่การเลือกตั้งที่รัฐบาลคิดว่าได้เปรียบ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถเดินหน้าได้ และไม่เห็นอนาคตว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้จริง
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงแท้แน่นอนคือประเทศชาติเสียหายทุกวัน กับการรักษาอำนาจโดยใช้ประชาธิปไตยและความชอบธรรมจากชัยชนะในการเลือกตั้งที่เคยได้รับมาเป็นข้ออ้างทั้งที่ไม่สามารถอ้างได้อีกแล้ว เนื่องจากมีการประกาศยุบสภาไปแล้วผลการเลือกตั้งในปี 54 จึงไม่สามารถนำมาใช้ได้อีก
แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือผลจากการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ซึ่งประชาชนแสดงออกชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยมิได้เป็นเสียงข้างมากอีกต่อไป แต่เป็นเสียงข้างน้อยในสังคมนี้ เพราะจำนวนผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งบวกกับผู้ที่ไปใช้สิทธิแต่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนให้ใครและบัตรเสีย มีจำนวนสูงกว่าผู้ที่เลือกพรรคเพื่อไทยมาก
คิดง่ายๆ ว่าพรรคเพื่อไทยเคยได้คะแนนกว่า 15 ล้านในการเลือกตั้งปี 2554 แต่ในการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 มีบัตรดีจากการเลือกตั้งทั้งหมดกว่า 14 ล้าน น้อยกว่าคะแนนที่พรรคเพื่อไทยเคยได้ราว 1 ล้าน ยังไม่หักผู้ที่เลือกพรรคการเมืองอื่นแสดงให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยได้คะแนนน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ
ยิ่งรัฐบาลไม่ฟังเสียงสังคมตะแบงกฎหมายกอดอำนาจไว้กับตัวเอง ในขณะที่ทุกภาคส่วนต่างเห็นตรงกันว่าบ้านเมืองเสียหาย รัฐบาลต้องสละอำนาจเพื่อเปิดทางให้มีรัฐบาลคนกลางเข้ามาเปลี่ยนผ่านบ้านเมืองก่อนจะกลับไปสู่กระบวนการเลือกตั้ง
มีแต่รัฐบาลเพื่อไทยและคนเสื้อแดงที่ออกมาขัดขวาง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานการณ์ที่ตอกย้ำว่า รัฐบาลเพื่อไทยคือเสียงข้างน้อยในสังคมนี้
ยิ่งเมื่อหอการค้าไทยออกโรงวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่าไตรมาสแรกมีโอกาสจะติดลบ 1% ส่วนไตรมาส 2 จะขยายตัวได้ไม่เกิน 1% ทำให้จีดีพีทั้งปี 57 ขยายตัวได้ไม่เกิน 2.5% โดยฟันธงว่าหากไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายในครึ่งปีหลังจีดีพีทั้งปีก็มีโอกาสติดลบ
ที่สำคัญคือการส่งสัญญาณที่แรงและชัดเจนยิ่งของภาคเอกชน ที่ระบุว่า “ภาคเอกชนจะไม่เสนอแนวทางขั้นตอนการกำหนดวันเลือกตั้ง แต่ต้องการเห็นการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็วที่สุด เพื่อให้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 58 สามารถออกมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนได้ในปีต่อไป”
ท่าทีของหอการค้าไทยจึงถือเป็นการ “ตบหน้า” รัฐบาลเพื่อไทยอย่างแรง ที่อ้างว่าทุกอย่างจะดีขึ้นโดยมีการเลือกตั้งเป็นคำตอบ เพราะแม้แต่ภาคเอกชนที่ระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะไม่ให้ความเห็นทางการเมืองที่กระทบรัฐบาลยังอดรนทนไม่ได้ต้องออกมาตะโกนบอกสังคมว่า
“การเลือกตั้งไม่ใช่ทางออก แต่ความแน่นอนทางการเมืองต่างหากที่จะเป็นคำตอบได้โดยไม่สำคัญว่ารัฐบาลนั้นจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่”
นอกจากนี้ วงหาทางออกประเทศไทยที่ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธาน ส.ว. เป็นโต้โผใหญ่ หารือร่วมกับ 12 องค์กรอิสระ เอกชน และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเห็นพ้องต้องกันว่า จำเป็นต้องมี “รัฐบาลเฉพาะกิจ” เข้ามาบริหารประเทศแทนรัฐบาลเพื่อไทยที่เป็นอัมพาตอยู่ในขณะนี้
คำถามที่สังคมไทยต้องช่วยกันเค้นหาคำตอบจากรัฐบาลคือรักษาการเพื่อยื้ออำนาจไว้กับตัวเองนั้นมีปัญญาใช้อำนาจเพื่อแก้ปัญหาประเทศชาติและประชาชนหรือไม่
หากอำนาจที่ถืออยู่แก้ปัญหาบ้านเมืองไม่ได้มีแต่ซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายลงแล้วจะเก็บอำนาจไว้กับตัวทำไมถ้าไม่ใช่เพราะเห็นแก่ตัวจนไม่คำนึงถึงความเสียหายของชาติบ้านเมืองซึ่งไม่ได้เป็นความเสียหายเฉพาะด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรุนแรงถึงความสูญเสียต่อชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนด้วย
ภายในระยะเวลาที่รัฐบาลนี้รักษาการอยู่มียอดผู้เสียชีวิตนับจากวันที่ 30 พ.ย. 2556 - 15 พ.ค. 2557 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 25 คน บาดเจ็บ 781 คน และยังมีแนวโน้มที่จะเกิดความสูญเสียเพิ่มเติมอีกโดยที่รัฐบาลไม่นำพาต่อความสูญเสียดังกล่าว อันเป็นการสะท้อนถึง “อำนาจที่ปราศจากความเมตตา” ที่ประชาชนสัมผัสได้
แต่รัฐบาลยังหน้ามืดมัวเมาในอำนาจจนไม่ตระหนักว่า “อำนาจที่ปราศจากความเมตตา คือ อำนาจที่นำมาซึ่งความปราชัย”