“ศอ.รส.” ออกแถลงการณ์ “เฉลิม” ยังไม่พ้นตำแหน่ง ผอ. แถศาลยึดเก้าอี้เฉพาะช่วงเป็นรองนายกฯ ออกตัวไม่ได้กดดันศาล แค่บรรเทาเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นตามหน้าที่ ลั่นพร้อมดำเนินคดีกับแกนนำทุกม็อบ เผยอัยการสางฟ้อง 51 แกนนำ กปปส. แล้ว พร้อมเพิ่มข้อก่อการร้าย “สุเทพ-ชุมพล”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ค. เวลา 16.00 น. ที่ บช.ปส. น.ส.สิริมา สุนาวิน คณะทำงานศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) แถลงภายหลังการประชุม ศอ.รส. ว่า จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 7 พ.ค. กรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และได้วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง และยังได้วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีที่มีส่วนร่วมในการลงมติในคราวนั้น ต้องสิ้นสุดไปด้วยนั้น ในวันนี้ (8 พ.ค.) ที่ประชุม ศอ.รส. ได้ร่วมกันพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ศอ.รส. ดังนี้ 1. เกี่ยวกับสถานภาพของ ศอ.รส. ที่ประชุม มีความเห็นว่า ศอ.รส. เป็นหน่วยงานพิเศษที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง ดังนั้นคำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ศอ.รส. แต่อย่างใด
2. สถานภาพของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการ ศอ.รส. ที่ประชุม ศอ.รส. มีความเห็นว่า การดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ศอ.รส. ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ไม่ได้สิ้นสุดหรือพ้นไปจากผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงกรณีกระทำการต้องห้ามตามมาตรา 182(7) แห่งรัฐธรรมนูญ ย่อมต้องหมายถึงความเป็นรัฐมนตรีในขณะที่ได้ร่วมพิจารณาและมีมติในการประชุมรัฐมนตรีครั้งนั้นๆ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งต่อมาได้มีการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวแล้ว ฉะนั้นการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในภายหลังจนถึงปัจจุบันจึงเป็นการดำรงตำแหน่งที่มิได้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาและมีมติในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งดังกล่าว จึงไม่น่าเป็นเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต้องสิ้นสุดลงอีก
กรณีดังกล่าวย่อมเป็นผลเช่นเดียวกันกับนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษา ศอ.รส. ก็ย่อมพ้นไปเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพียงตำแหน่งเดียว แต่ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งภายหลังอีกตำแหน่งหนึ่ง จึงหาพ้นไปตามผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐมนธรรมนูญแต่อย่างใด
น.ส.สิริมา กล่าวต่อว่า ตามที่ ศอ.รส. ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 3 เรื่อง ข้อเรียกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และกลุ่มผู้สนับสนุน กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา ศอ.รส. ขอเรียนว่า เหตุที่ต้องออกแถลงการณ์ดังกล่าว เนื่องจากขณะนั้นมีข้อมูลอย่างเพียงพอที่ได้บ่งชี้ว่าจะเกิดความรุนแรงและเหตุร้ายขึ้นในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ ศอ.รส. โดยเฉพาะการระดมจัดมวลชนให้มีการชุมนุมใหญ่ทั้งของ กปปส. และ นปช. และกลุ่มอื่นๆ ในลักษณะท้าทายและแข่งขันกัน ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ การวินิจฉัยขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ 2 องค์กร คือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ศอ.รส. มีความกังวลและห่วงใยต่อสถานการณ์ในขณะนั้นอย่างมาก เพราะขณะนั้นความขัดแย้งและการจัดแนวร่วมของแต่ละฝ่ายขยายตัวในวงกว้าง มีกลุ่มประชาชนที่สนับสนุนและคัดค้านแต่ละฝ่ายจำนวนมาก และมีการกล่าวหาว่าองค์กรอิสระบางองค์กรเป็นแนวร่วมกับบางกลุ่มด้วย ตลอดจนมีความพยายามจัดการเลือกตั้งให้เนิ่นช้าออกไป เพื่อให้ปัญหาลุกลามและเกิดสุญญากาศตามแนวทางของบางฝ่าย
ศอ.รส. ขอยืนยันว่าในการออกแถลงการณ์ดังกล่าว ศอ.รส. มิได้มีเจตนาที่จะก้าวล่วงหรือกดดันการพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่แถลงการณ์ดังกล่าวมีจุดประสงค์สำคัญในการป้องกัน ระงับ ยับยั้งและแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ของ ศอ.รส. อันเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจจะละเลยได้
น.ส.สิริมา กล่าวว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง และจะทำให้การบริหารประเทศยังคงดำเนินต่อไปได้จนกว่าจะมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ศอ.รส. ของดเว้นที่จะมีความเห็นต่อเนื้อหาสาระของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ ศอ.รส. ยังยืนยันว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวยังคงนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับเหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย เช่น เหตุยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ รวมทั้งเหตุปาระเบิดเข้าใส่บ้านพักของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อคืนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ศอ.รส. ได้ปรับแผนอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมใหญ่ของ กปปส. ซึ่งในวันที่ 9 พ.ค. และการชุมนุมใหญ่ของ นปช. ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 10 พ.ค. อย่างไรก็ตาม ศอ.รส. ขอเรียกร้องประชาชนให้ใช้วิจารณญาณหลีกเลี่ยงการร่วมชุมนุม ไม่ว่ากับกลุ่ม กปปส. หรือกลุ่ม นปช. เพื่อความปลอดภัย โดยล่าสุด ศอ.รส. ก็ได้รับรายงานถึงการใช้ความรุนแรงของการ์ด กปปส. ที่ได้ทำร้ายนักข่าวต่างประเทศที่ไปทำข่าวที่ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา และแม้ว่าการเข้าร่วมการชุมนุมจะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่หากมีการกระทำผิดกฎหมายอย่างหนึ่งอย่างใดในการเข้าร่วมชุมนุมแล้ว ก็จะต้องถูกดำเนินคดีทุกคนไปโดยไม่มีการละเว้น ส่วนแกนนำทุกคนจะต้องรับผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง โดย ศอ.รส. จะบังคับใช้กฎหมายกับผู้ชุมนุมทั้งสองกลุ่มอย่างเท่าเทียมกันเพื่อป้องกันเหตุร้ายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้น
น.ส.สิริมา กล่าวว่า ศอ.รส.ได้รับรายงานว่า ตามที่คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ อันประกอบด้วยพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการ ได้ร่วมกันทำการสอบสวนคดีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับแกนนำ กปปส. ชุดที่ 1 รวม 52 คน และส่งสำนวนการสอบสวนไปให้พนักงานอัยการพิจารณานั้น ในวันนี้ ศอ.รส. ได้รับแจ้งว่า พนักงานอัยการของสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องแกนนำชุดที่ 1 ทั้งสิ้น 51 คน และสั่งไม่ฟ้องเพียง 1 คน และได้ฟ้องคดีกับแกนนำที่มีตัวอยู่ในอำนาจของศาลแล้ว 2 คน คือ นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม และนายสกลธี ภัททิยกุล ส่วนแกนนำคนอื่นๆ จะได้ดำเนินการออกหมายจับเพื่อนำตัวมาฟ้องโดยเร็วต่อไป
สำหรับฐานความผิดที่พนักงานอัยการส่งฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับแกนนำ กปปส. ชุดที่ 1 ทั้ง 51 คนนั้น มีทั้งสิ้น 9 ฐานความผิด คือ 1. ร่วมกันเป็นกบฏ 2. กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน 3. มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ 4. มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป และเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกไปแต่ไม่เลิก 5. ยุยงให้ร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงาน งดจ้าง เพื่อบังคับรัฐบาลฯ 6. ร่วมกันบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืน 7. ร่วมกันขัดขวางเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง และร่วมกันขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง 8. ร่วมกันกระทำการโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อไม่ให้ผู้เลือกตั้งสามารถใช้สิทธิได้ หรือขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้งหรือเข้าไป ณ ที่ลงคะแนนเลือกตั้ง และ 9. ร่วมกันเป็นอั้งยี่หรือซ่องโจร ทั้งนี้ สำหรับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายชุมพล จุลใส พนักงานอัยการได้สั่งฟ้องในฐานความผิดร่วมกันก่อการร้าย เพิ่มเติมอีก 1 ข้อหาด้วย