xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ลั่นเว้นวรรคการเมืองไม่ลงเลือกตั้ง หากทุกฝ่ายรับข้อเสนอ พิสูจน์ไม่หวังผลการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อภิสิทธิ์” ประกาศเว้นวรรคทางการเมือง ไม่ลงเลือกตั้งหากทุกฝ่ายยอมรับข้อเสนอ เพื่อพิสูจน์ไม่หวังผลทางการเมือง เล็งเปิดข้อเสนอเสาร์ที่ 3 พ.ค.นี้ ย้ำตั้งอยู่บนหลักการหยุดยั้งความสูญเสีย รักษาประชาธิปไตย ปกป้องสถาบันไม่ให้ถูกดึงมาสู่ความขัดแย้งทางการเมือง แย้มแนวทางปฏิรูป ยึดหลักรัฐธรรมนูญ ไม่มีนักการเมืองเอี่ยว เลือกตั้งอย่างสุจริต ทุกฝ่ายยอมรับ เปิดสภาตั้งรัฐบาลได้



นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า หลังจากพบปะกับฝ่ายต่างๆ เพื่อทำข้อเสนอเป็นทางออกให้ประเทศออกจากวิกฤต ตนจะเสนอทางเลือกในการแก้ปัญหาประเทศ โดยจะลงรายละเอียดทั้งหมดอย่างเป็นรูปธรรมไม่เกินวันเสาร์ที่ 3 พ.ค.นี้ บนหลักการที่ทุกฝ่ายมีความห่วงใยต่อสภาพบ้านเมืองทั้งความขัดแย้ง ปัญหาเศรษฐกิจ ความกังวลว่าอนาคตข้างหน้าจะดีกว่าปัจจุบันได้อย่างไร ในขณะที่ทางเดินจากฝ่ายต่างๆ ยังไม่เปลี่ยนแปลง รัฐบาลเดินหน้าเลือกตั้งไม่สนใจความขัดแย้งในบ้านเมืองมีเป้าหมายรักษาอำนาจให้นานที่สุด และมีการระบุว่าหากมีการตัดสินที่เป็นผลลบต่อรัฐบาลจะขอพระบรมราชวินิจฉัยเป็นทางเลือกที่รัฐบาลเสนอให้ประชาชนและประเทศในขณะนี้

ในส่วนของ กปปส.จะเคลื่อนไหวใหญ่ 13 และ 14 พ.ค.มีเป้าหมายยึดคืนอำนาจให้ประชาชน ในขณะที่กลุ่ม นปช.ก็ประกาศเคลื่อนไหวใหญ่ มีการคาดการณ์และกังวลว่าการเคลื่อนไหวของมวลชนอาจนำไปสู่ความรุนแรง ความสูญเสีย ย้อนรอยปี 2549 เกิดการรัฐประหารเพื่อยับยั้งความรุนแรงและความสูญเสีย

นอกจากนี้ มีบางฝ่ายตั้งความหวังว่าคดีความจะเป็นคำตอบให้ประเทศได้ แต่มีแนวโน้มในขณะนี้ฝ่ายไม่พอใจในคำตัดสินอาจมีการปลุกระดมให้เกิดความขัดแย้งจากผลคำวินิจฉัย หรือในกรณีที่คำวินิจฉัยไม่สามารถให้คำตอบว่าจะเดินหน้าประเทศได้อย่างไรก็นำไปสู่ความขัดแย้งเช่นเดียวกัน ดังนั้นจากปัญหาที่อาจเกิดการปะทะมวลชน คดีความ หรือที่เสนอโดยคณะบุคคล ล้วนมีความเสี่ยงและอาจไม่สามารถให้คำตอบกับประเทศไทยได้

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ข้อเสนอของตนต้องการหยุดยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายดังนี้ 1. ไม่ต้องการเห็นความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตเลือดเนื้อประชาชนอีกต่อไป 2. ไม่ต้องการเห็นการสูญเสียประชาธิปไตยหรือการเดินออกนอกรัฐธรรมนูญ เพราะไม่สามารถสะสางปัญหาได้จริงแต่จะเป็นการผูกปมขัดแย้งในอนาคต 3. ไม่ต้องการให้มีการดึงสถาบันที่อยู่นอกเหนือความขัดแย้งทางการเมืองทั้งศาลและสถาบันสูงสุดมาสู่ความขัดแย้ง

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ข้อเสนอจะประกอบด้วย 1. ตอบโจทย์ประเทศให้มีการปฏิรูปตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ประชาชนมั่นใจว่านักการเมืองจะคัดค้านไม่ได้ ต้องมีหลักประกันคุ้มครองว่าคนสูญเสียประโยชน์ไม่สามารถคัดค้านได้

2. การปฏิรูปอาจไม่สามารถจบก่อนการเลือกตั้ง จึงมีข้อเสนอช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนการเลือกตั้งทั้งรัฐบาลและสภา 3. มีการเลือกตั้งโดยเร็วเมื่อมีการเลือกตั้งที่เสรี สุจริต เที่ยงธรรม ประชาชนและพรรคการเมืองทุกฝ่ายยอมรับ ประสบความสำเร็จในการมีสภาและรัฐบาล และ 4. ข้อเสนอของตนไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ส่วนตัว ส่วนกลุ่มของใครทั้งสิ้น คดีความต้องดำเนินการตามกฎหมายเท่านั้น

“ข้อเสนอมีหลักการและเป้าหมายชัดเจนแต่จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายยอมรับข้อเสนอนี้ ผมพูดตั้งแต่วันแรกว่าข้อเสนอในลักษณะนี้เป็นไปไม่ได้เลยที่จะถูกใจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่มั่นใจว่าเป็นข้อเสนอที่ยึดประโยชน์ส่วนรวมมีเหตุผล หลักการรองรับที่ทำให้คนที่จะปฏิเสธต้องให้เหตุผลที่ดีกับสังคมว่าทำไมไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว และเมื่อข้อเสนอไม่ถูกใจทุกคน ผมจึงต้องขอให้ทุกฝ่ายพิจารณาข้อเสนอของผมโดยยึดเอาประโยชน์สูงสุดของส่วนรวมเป็นหลัก ขณะเดียวกันผมก็ต้องตอบคำถามกับประชาชนและสังคม เพราะผมไม่เป็นกลาง ไม่ใช่คนกลาง และยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา จึงต้องตอบว่าในแผนของผมนั้น ผมอยู่ตรงไหน ได้ประโยชน์หรือไม่”

“ดังนั้นเพื่อพิสูจน์ความจริงใจว่าผมไม่ได้ทำเรื่องนี้เพื่อประโยชน์ส่วนตน หากทุกฝ่ายยอมรับข้อเสนอ ผมจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งจะเป็นเครื่องยืนยันว่าผมจะไม่มีสถานะทางการเมืองที่จะได้ประโยชน์ แต่เป็นประชาชนที่จะสนับสนุนให้การปฏิรูปประสบความสำเร็จ ผมขอขอบคุณหลายฝ่ายที่สนใจให้โอกาสผม ช่วยหาทางออกให้ประเทศ จึงขอโอกาสให้กับประเทศ ด้วยการวางทางเลือกให้ทุกฝ่ายพิจารณา และให้สังคมมั่นใจว่าผมไม่มีประโยชน์ที่จะได้จากแผนนี้ นอกจากหวังว่าประเทศจะมีทางออกและเกิดการปฏิรูปได้เท่านั้น”






กำลังโหลดความคิดเห็น