“อภิสิทธิ์” ยันพร้อมประชุมร่วมกับ กกต.และพรรคการเมืองพรุ่งนี้ เตรียมเสนอแก้เงื่อนไขสิ่งที่ทำให้การเลือกตั้งไม่ประสบผลสำเร็จ เรียกร้องทุกพรรคหาทางออกให้ประเทศมากกว่าหาคำตอบให้พรรคการเมืองต้วเอง แนะดูบทเรียนปี 2549 กำหนดวันเลือกตั้งแล้ว แต่ต้องมาจบที่รัฐประหาร รับการเลือกตั้งเป็นทางออก แต่ต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชน ส่วน ปชป.พร้อมลงสนามที่เสรี เป็นธรรม ตอบโจทย์บ้านเมืองได้
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะเสนอต่อที่ประชุมพรรคการเมืองที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดขึ้น ในวันพรุ่งนี้ (22 เม.ย.) ว่า ในส่วนของพรรคมีตนและนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นตัวแทนไปร่วมประชุม หวังว่าทุกพรรคการเมืองจะช่วยหาคำตอบให้ประเทศมากกว่าหาคำตอบหรือทางออกให้พรรคการเมือง เพราะเป้าหมายของ กกต.ต้องการความเห็นจากพรรคการเมืองเพื่อไปหารือกับรัฐบาลในการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ไม่ใช่หาคำตอบว่าพรรคการเมืองต้องการเลือกตั้งวันไหน แต่ต้องกำหนดโจทย์ว่าจะมีการเลือกตั้งที่เป็นคำตอบให้ประเทศได้อย่างไร
“ผมเชื่อว่าการเลือกตั้งต้องเป็นส่วนหนึ่งในทางออกของประเทศ แต่ต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชน คือ มีความเสรี สุจริต เที่ยงธรรม โดยพรรคประชาธิปัตย์จะเสนอว่า พรรคการเมืองต้องช่วยแก้เงื่อนไขที่ทำให้การเลือกตั้งไม่ประสบความสำเร็จ การออกกฎระเบียบเพื่อแก้ปัญหาในทางปฏิบัติที่เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 57 ที่หลายฝ่ายคิดว่าเพียงพอต่อการแก้ปัญหานั้น อยากให้ทราบว่าความจริงประชาชนไม่ได้คิดเช่นนั้น แม้แต่ กกต.ท่านหนึ่งยังเขียนบทความยอมรับว่าเปิดรับสมัครได้แต่ไม่แน่ใจจะเปิดสภาได้ การเลือกตั้งได้แต่เปิดสภาไม่ได้ไม่ใช่คำตอบ พรรคต้องการให้การเลือกตั้งเปิดสภาและได้รัฐบาลที่ประชาชนยอมรับ จึงต้องถกถึงปัญหาที่แท้จริงของประเทศด้วยความใจกว้างไม่ใช่ใช้การเลือกตั้งเป็นพิธีกรรมเพราะความขัดแย้ง และความเสี่ยงต่อความรุนแรงยังดำรงอยู่ คนที่เดือดร้อนที่สุดคือประชาชน อีกทั้งยังกระทบเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นอย่างรุนแรงด้วย ดังนั้นทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกันหาทางออกไม่ใช่ทะเลาะกัน หรือพูดถึงความต้องการของแต่ละฝ่าย แต่ต้องช่วยหาคำตอบให้ประเทศเดินหน้า ประชาธิปไตยเดินหน้าได้โดยไม่มีความรุนแรง ไม่มีการปฏิวัติ แต่กลับสู่การเลือกตั้งที่เป็นคำตอบให้ประเทศเดินหน้าได้"
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การหลุดพ้นจากความขัดแย้งมีประเด็นมากกว่าการเลือกตั้งและการปฏิรูป แต่มีเรื่องความเป็นธรรมและความสงบเรียบร้อยด้วย เพราะประชาชนกำลังกังวลว่าจะมีการปะทะระหว่างมวลชนจากคำตัดสินขององค์กรต่างๆ หรือไม่ หากไม่สามารถพูดคุยให้ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ทั้งนี้ การเลือกตั้งจะเรียบร้อยได้ทุกฝ่ายต้องมีเสรีภาพในการหาเสียง แต่ล่าสุดแม้แต่กิจกรรมของ กกต.ยังมีมวลชนออกมาไล่ล่า บรรยากาศเช่นนี้ไม่สามารถที่จะทำให้การเลือกตั้งเรียบร้อยได้ จึงอยากให้ย้อนกลับไปดูบรรยากาศในปี 2549 ที่มีการกำหนดวันเลือกตั้ง แต่สุดท้ายกลับมีการรัฐประหาร เพราะเกิดปัญหาว่ามวลชนอาจเกิดการเผชิญหน้าจนทำให้เกิดความรุนแรง จึงขอให้ทุกพรรคไปร่วมกันหาคำตอบไม่ใช่ยึดติดกับข้อเสนอของตัวเอง แต่หากทุกพรรคยึดอยู่ที่ความต้องการของตัวเองก็ไม่ต้องประชุม ให้กกต.ทำแบบสอบถามก็ได้
ดังนั้นจะพูดเฉพาะว่าเลือกตั้งวันไหนไม่ได้ เพราะพรรคก็ต้องการให้เลือกเร็วที่สุด แต่การเลือกตั้งต้องเรียบร้อยด้วย จึงหวังว่าเหตุการณ์ 2 ก.พ. 2557 และการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา จะเป็นบทเรียนที่พรรคการเมืองจะต้องตระหนักว่ากำลังเกิดวิกฤตศรัทธาต่อระบบการเลือกตั้งทำให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยซึ่งไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย จึงต้องคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งเป็นคำตอบของประเทศ และไม่อยากให้มีการลงมติเรื่องเสียงข้างมากเสียงข้างน้อย นอกจากนี้ที่ผ่านมาพรรคการเมืองส่วนใหญ่ก็ไม่มีใครขัดข้องในเรื่องการเลื่อนการเลือกตั้ง จึงเชื่อว่าไม่มีการลงมติ และอยากให้ กกต.ถามว่าอยากให้การเลือกตั้งเดินหน้าอย่างไรมากกว่าที่จะถามว่าจะกำหนดวันเลือกตั้งเมื่อไหร่
“ผมยังหวังว่าการประชุมพรรคการเมืองในวันพรุ่งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นการแก้ปัญหา ไม่ใช่การเพิ่มอีกหนึ่งบทของความขัดแย้ง โดยไม่หวังว่าจะได้บทสรุปตรงกัน แต่อย่างน้อยควรจะเห็นตรงกันมากขึ้น ด้วยการช่วยกันทำให้กระบวนการเลือกตั้งเป็นคำตอบให้ประเทศ จึงต้องทำให้กระบวนการทางการเมืองได้รับความยอมรับความศรัทธา ดังนั้นจะคุยแต่การกำหนดวันเลือกตั้งโดยไม่คุยถึงปัญหาปัญหาประเทศไม่ได้”
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า สิ่งที่ต้องหารือคือ เสียงเรียกร้องเรื่องหลักประกันกว่าการปฏิรูปประเทศ และการเลือกตั้งที่เสรีเป็นธรรม จึงขอให้พรรคการเมืองวางความต้องการไว้ก่อน ดูความต้องการของประเทศเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนเห็นว่ากระบวนการทางการเมืองเป็นทางออกให้ประเทศได้ หากไม่ทำสภาพบ้านเมืองก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไป โดยต้องลุ้นว่าจะมีความรุนแรงหรือจบลงที่การรัฐประหารหรือไม่ ซึ่งพรรคการเมืองต้องให้คำตอบตรงกันว่าไม่ต้องการให้เหตุการณ์ย้อนกลับไปในปี 2549 ที่มีความผิดพลาดอีกโดยไม่ต้องโทษกัน เพราะทุกฝ่ายมีส่วนผิดด้วยกันทั้งนั้น รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ด้วย