เลขาฯ กกต.เผย 64 พรรคร่วมประชุม 22 เม.ย. “อภิสิทธิ์-จารุพงศ์” มาเอง มี 3 พรรคไม่ขอร่วม ส่งแจ้งความขวางโหวตแล้ว 19 คดี ยัน ศรส.ไม่ได้แจ้งจับ
วันนี้ (18 เม.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. แถลงถึงการนัดพรรคการเมืองประชุมในวันที่ 22 เม.ย.เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ที่เหมาะสมว่า ขณะนี้มีพรรคการเมืองตอบรับกลับมายังกกต.แล้ว 67 พรรคการเมือง ไม่ขอร่วม 3 พรรค คือ พรรคกสิกรไทย เพื่อฟ้าดิน และพรรคไทยมหารัฐพัฒนา และระบุว่าจะร่วมประชุม 64 พรรค ในจำนวนนี้มีพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทยรวมอยู่ด้วย โดยพรรคประชาธิปัตย์แจ้งว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค กับนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรค จะเดินทางมาร่วมประชุม ขณะที่พรรคเพื่อไทยจะมีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคและนายโภคิน พลกุล กรรมการยุทธศาสตร์พรรคเข้าร่วม ซึ่งกรอบการหารือกกต.จะหารือถึงความเหมาะสมในการจัดเลือกตั้ง
นายภุชงค์กล่าวว่า โดย กกต.เห็นว่าถ้าเร็วที่สุดให้มีการเลือกตั้งภายใน 60 วันนับแต่ พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งใหม่มีผลใช้บังคับ จึงอยากจะฟังความเห็นของพรรคการเมือง หลังจากนั้นจะนำข้อสรุปของที่ประชุมพรรคการเมืองไปพิจารณากับข้อเสนอของฝ่ายความมั่นคง และนำไปหารือกับรัฐบาลในช่วงปลายเดือนนี้ โดย กกต.ได้มีการแก้ไขระเบียบการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อให้มีการรับสมัครได้แม้มีการขัดขวางไว้แล้ว เช่น อาจจะมีการสมัครทางไปรษณีย์ หรือสมัครผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่าง รวมทั้งได้เตรียมการจัดหากรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งสำรองไว้แล้ว
เลขาฯ กกต.ยังกล่าวถึงกรณีการดำเนินคดีอาญากับกลุ่มที่ขัดขวางการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดอาญา กกต.ได้มอบหมายให้ทางสำนักงานจัดตั้งคณะอนุกรรมการดูแลรับผิดชอบทางอาญาและทางแพ่ง รวมทั้งตั้งคณะอนุกรรมการช่วยเหลือทางคดีกรณีที่เจ้าหน้าที่ กกต. และเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติงานช่วยจัดการเลือกตั้งแล้วถูกดำเนินคดี โดยขณะนี้ กกต.มีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ขัดขวางทั้งหมด 22 จังหวัด ซึ่งได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีขัดขวางการเลือกตั้งและพนักงานสอบสวนรับเป็นคดีแล้วจำนวน 19 คดี ทั้งนี้ คดีที่มีการดำเนินคดีในกรุงเทพมหานคร กกต.มีมติให้สำนักกฎหมายและคดีร้องทุกข์ดำเนินคดีไปแล้ว 6 คดี แบ่งเป็นการขัดขวางปิดล้อมสถานที่พิมพ์บัตรเลือกตั้งที่โรงพิมพ์องค์การค้าคุรุสภา กรณีผู้ชุมนุมปิดล้อมสนามกีฬาไทยญี่ปุ่นดินแดงในวันรับสมัครเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 56 ส่งผลให้ทรัพย์สินราชการเสียหาย และเป็นกรณีขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกกต.รวมอยู่ด้วย กรณีผู้ชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้งในเขตบางนา พระโขนง และกรณีการขัดขวางการเลือกตั้งใน จ.ระนอง แต่ไม่สามารถร้องทุกข์ดำเนินคดีในพื้นที่ได้เนื่องจากมีมวลชนกดดัน กกต.จังหวัด ทางสำนักงานกกต.จึงส่งเรื่องมาดำเนินคดีที่กองบังคับการกองปราบปราม นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์กระทำความผิดฐานการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งจะดำเนินคดีร้องทุกข์กับทุกราย
นายภุชงค์กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่กกต.ถูกแจ้งความร้องทุกข์ทั่วประเทศ มีทั้งหมด 24 คดี ประกอบด้วยกรุงเทพมหานคร 8 คดี โดยเป็น จ.สระแก้ว 2 คดี เชียงใหม่ 7 คดี ส่วนสตูล พัทลุง ภูเก็ต พิจิตร สมุทรสาคร สกลนคร และสมุทรปราการอย่างละ 1 คดี อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเท็จจริงพยานหลักฐานแก้ข้อกล่าวหา โดยคดีทั้งหมดเป็นคดีที่ประชาชนเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี ไม่ใช่ ศรส.เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำเรื่องไปยื่น ป.ป.ช.ภายใน 30 วัน จึงอาจมีความเข้าใจผิดว่า ศรส.เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีต่อ กกต.