xs
xsm
sm
md
lg

“ศุภชัย” คาดเร็วสุด 3 เดือนจัดเลือกตั้งใหม่ เลขาฯ กกต.เล็งใช้แนวทางเชิญพรรคการเมืองถก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. (ภาพจากแฟ้ม)
ประธาน กกต.เชื่ออย่างต่ำ 3 เดือน มีเลือกตั้งใหม่ ชี้ กกต.-รัฐบาล-พรรคการเมืองควรหารือกัน มองสถานการณ์ยังรุนแรง ไม่ควรเลือกตั้ง ยัน กกต.จัดเลือกตั้งตามกฎหมาย ไม่น่าต้องรับผิดทางแพ่ง-อาญา “สมชัย” เผย 2 แนวทาง ระบุรัฐบาลต้องรับผิดชอบกับการเลือกตั้งไม่ชอบ รธน.เหตุ กกต.ท้วงติงแล้ว เลขาฯ ให้การบ้านสำนักงานฯ ส่งคำตอบจันทร์นี้ เล็งใช้แนวปี 49 เชิญประชุมพรรคการเมืองหารือวันเลือกตั้งใหม่ที่เหมาะสม อีกด้านพร้อมจัดลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า ส.ว.อาทิตย์นี้

วันนี้ (21 มี.ค.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง แถลงถึงผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มติว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญว่า กกต.คงต้องรอดูคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญที่คาดว่าจะออกมาในสัปดาห์หน้าว่าได้วางแนวทางให้ กกต.ปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งนับจากนี้ไปหรือไม่ ซึ่ง กกต.ก็จะได้มีการประชุมพิจารณากัน แต่ส่วนตัวเห็นว่าก่อนที่จะมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ กกต.รัฐบาล และพรรคการเมืองควรได้มีการพูดคุยกันถึงการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ที่เหมาะสม ซึ่งก็จะเป็นแนวทางคล้ายๆ ปี 49 ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีการวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย. 49 เป็นโมฆะ รวมทั้งเห็นว่าหากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไม่สงบ ยังมีความรุนแรง ก็ไม่ควรที่จะมีจัดการเลือกตั้ง แต่ทั้งนี้ก็คิดว่าระยะเวลาที่จะเกิดการเลือกตั้งใหม่ก็ไม่น่านานเกินไป แต่อาจไม่น้อยกว่า 3 เดือนนับจากนี้

“ก็คิดอยู่ว่าถ้าหากจัดเลือกตั้งก็อาจจะมีการคัดค้าน แต่ไม่กังวล เพราะเวลาเปลี่ยนสถานการณ์ก็อาจจะเปลื่ยนซึ่งถ้าทุกคนคำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศที่มีความเสียหายไปมากแล้ว” นายศุภชัย กล่าว

ส่วนที่อาจจะมีผู้ฟ้องร้อง กกต.ให้ต้องรับผิดชอบทางแพ่งและอาญากับการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น ยืนยันว่าที่ผ่านมาเราดำเนินการจัดการเลือกตั้งโดยไม่ได้ประมาทเลินเล่อ เราทำทุกวิถีทางตามที่กฎหมายกำหนด โดยมาตรา 20 วรรคสองของ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็บัญญัติว่า หากการดำเนินการของ กกต.ทำโดยสุจริต ย่อมได้รับการคุ้มครองทั้งทางแพ่ง อาญา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งมาตรา 20 วรรคสอง รวมทั้งซึ่งเหตุที่รับสมัครไม่ได้ ไม่ได้เกิดการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.แต่เกิดจากเหตุการณ์ปิดล้อม โดยหากมีการฟ้องเรื่องการรับสมัคร ยืนยันว่าอำนาจการรับสมัครเป็นของผู้อำนวยการการการเลือกตั้งประจำเขตที่จะใช้ดุลยพินิจพิจารณาแต่เพียงผู้เดียว

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยระบุว่า มีคำถามมากมายถึงผมหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ 1.การเลือกตั้งครั้งใหม่ จะเกิดอย่างไรและเกิดเมื่อใดนั้น กกต.ต้องรอหนังสือวินิจฉัยที่เป็นทางการจากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่าน่าจะมาถึง กกต.ในวันจันทร์ และจัดให้มีการประชุม กกต.เพื่อดำเนินการตามมติศาล ซึ่งน่าจะมี 2 แนวทาง คือ แนวทางแรก กกต.ประชุมกับรัฐบาล เพื่อทูลเกล้าฯขอพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ใน 60 วัน หรือแนวทางที่สอง กกต.เชิญหัวหน้าพรรคการเมืองมาปรึกษา เพื่อวันเลือกตั้งใหม่ที่เหมาะสม ในกรณีนี้ อาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบ 60 วัน

นายสมชัย ระบุต่อว่า 2.ใครรับผิดชอบค่าเสียหาย 3,800 ล้านบาท ในการเลือกตั้งที่เสียไป ซึ่งการเลือกตั้งที่เสียไปของวันที่ 2 ก.พ.มาจากสาเหตุของการจัดการเลือกตั้งที่ถูกขัดขวางทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งในวันเดียว ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก ไม่ได้เกิดจากการตัดสินใจของ กกต.และ กกต.ได้ระบุถึงปัญหาดังกล่าวให้รัฐบาลทราบก่อนที่ 2 ก.พ.แล้วว่า หากเดินหน้าต่อจะสุ่มเสี่ยงกับถูกฟ้องเป็นโมฆะ โดยรัฐบาลได้ยืนยันให้เดินหน้าเลือกตั้งต่อ ดังนั้น รัฐบาลต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้ เหตุดังกล่าวยังแตกต่างจากการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะในปี 2549 ซึ่งเกิดจากการมติของ กกต.ให้หันคูหาออก จนเป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่เป็นความลับ ซึ่ง กกต.ชุดดังกล่าวต้องรับผิดชอบ

นายสมชัย โพสต์ทิ้งท้ายว่า และ 3.การเลือกใหม่จะสำเร็จหรือไม่ จะมีการขัดขวางจนเป็นโมฆะอีกหรือไม่ ทั้งนี้ หากพรรคการเมืองทุกพรรคได้ปรึกษากัน และเห็นการเลือกตั้งใหม่เป็นทางออกของประเทศ กระบวนการขัดขวางจากฝ่ายต่างๆ น่าจะลดลง อย่างไรก็ตามประสบการณ์จากการเห็นปัญหาอุปสรรคการที่ผ่านมา จะเป็นบทเรียนให้ กกต.ปรับปรุงการจัดการให้ประสบความสำเร็จได้ดีขึ้น

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมคณะผู้บริหารสำนักงาน กกต.ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ที่นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการสำนักงาน กกต.เป็นประธานการประชุมนั้น ที่ประชุมได้มีการวิเคราะห์ถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา โดยเห็นว่าคำวินิจฉัยที่ออกมาทำให้ กกต. เสี่ยงต่อการถูกฟ้องให้ต้องรับผิดทางละเมิดได้ โดยเฉพาะถ้า กกต.ไม่สามารถชี้แจงให้ชัดเจนได้ว่า 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครนั้น กกต.ได้พยายามอย่างเต็มที่ตามช่องทางกฎหมายแล้วหรือยัง ที่จะให้มีผู้สมัครในเขตต่างๆ เหล่านี้ แต่ที่สุดไม่สามารถทำให้มีผู้สมัครได้ จึงให้ทางสำนักกฎหมายและคดี ไปศึกษาว่า กกต.จะถูกฟ้องอย่างไรบ้าง และถ้ามีการฟ้อง กกต.จะเป็นการฟ้องใครบ้าง

ส่วนแนวทางปฏิบัติในการจัดการเลือกตั้งใหม่นั้นเห็นว่า น่าจะเทียบเคียงได้จากเมื่อครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย. 49 เป็นโมฆะ แต่ในส่วนของวันเลือกตั้งใหม่ เชื่อว่าคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมาไม่น่าจะมีการกำหนดว่า ให้กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป มีผลบังคับใช้ ซึ่งในทางปฏิบัติ กกต.ก็น่าจะเชิญพรรคการเมืองมาพูดคุยเพื่อหาข้อตกร่วมกันถึงวันเลือกตั้งใหม่ที่เหมาะสม แต่โดยไม่จำต้องเชิญนายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาลมาร่วมหารือ เนื่องจากถือว่ารัฐบาลเป็นผู้มีส่วนได้เสีย อีกทั้งนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีก็อยู่ในสัดส่วนของพรรคการเมืองอยู่แล้ว ดังนั้นบุคคลที่ กกต.จะเชิญมาร่วมในการประชุมกับผู้แทนพรรคการเมืองก็คือ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ให้มารับมติของที่ประชุมร่วม กกต.และพรรคการเมืองไปดำเนินการในเรื่องการตราร่าง พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปเท่านั้น จึงได้ให้ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ไปวิเคราะห์ว่าหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย.49 เป็นโมฆะ จนกระทั่งร่างพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติม กำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปมีผลใช้บังคับนั้นมีกระบวนการอย่างไร

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการหารือว่าในส่วนของค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งเมื่อ 2 ก.พ.นั้น ให้ด้านกิจการพรรคการเมืองไปพิจารณาว่า เมื่อการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จำเป็นที่ผู้สมัคร ส.ส.จะต้องมีการยื่นแสดงต่อ กกต.อีกหรือไม่ ส่วนงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งใหม่ มีการคาดการณ์ว่าไม่น่าจะถึง 3,800 ล้านบาท เนื่องจากมีวัสดุอุปกรณ์เหลือจากการเลือกตั้ง 2 ก.พ. พร้อมกับให้ทางด้านนโยบายและแผนของสำนักงานทำการสำรวจไปยังจังหวัดต่างๆ ว่ามีงบเหลือจากการดำเนินการจัดการเลือกตั้งเท่าใด ขณะที่ในส่วนของเรื่องร้องเรียนการเลือกตั้งทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ที่ประชุมเห็นตรงกัน ควรที่จะเดินหน้าสอบสวนต่อไป เนื่องจากพฤติกรรมการกระทำความผิดได้สำเร็จไปแล้ว โดยหากเห็นว่าเป็นความผิดแม้จะไม่มีผลให้สามารถไม่ประกาศรับรองผลการเป็น ส.ส.ได้แล้วก็ตามแต่ในเรื่องของการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและการดำเนินคดีอาญา ยังสามารถดำเนินการได้ โดยทั้งหมดนายภุชงค์ได้ให้ทางสำนักงานสรุปเป็นข้อเสนอภายในวันที่ 24 มี.ค.เพื่อที่จะได้นำเสนอต่อที่ประชุม กกต.พิจารณากำหนดท่าทีต่อไป

ด้าน นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมการจัดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งจัดให้มีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม 2557 และจัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม 2557 นี้ว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อใช้ในการเลือกตั้งพร้อมแล้ว เช่น บัตรเลือกตั้ง คูหาเลือกตั้ง รวมทั้งการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ให้กับผู้ที่ทำหน้าที่เป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง

ส่วนการกำหนดสถานที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 905 แห่ง แบ่งเป็น ภาคกลาง จำนวน 123 แห่ง, ภาคตะวันออก 136 แห่ง, ภาคใต้ จำนวน 147 แห่ง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 322 แห่ง, ภาคเหนือ จำนวน 177 แห่ง ส่วนสถานที่เก็บรักษาหีบบัตรเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง มีจำนวนทั้งสิ้น 891 แห่ง ซึ่งสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ect.go.th ทั้งนี้ขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไว้ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม 2557 ตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น.


กำลังโหลดความคิดเห็น