โฆษก ปชป.รับกังวลท่าทีรัฐ-พท.ไม่สนคำวินิจฉัยเลือกตั้งโมฆะ หลังดิสเครดิตมาตลอด หวั่นขัดแย้งเพิ่ม ปลุก ปชช.กดดันรับคำตัดสิน เพื่อแก้ปัญหาชาติ ยกเหตุโมฆะไม่เลือกวันเดียวทั่วไทย ย้ายที่รับสมัครเอื้อคน รบ. บางเขตใช้สิทธิไม่ได้ บัตรเลือกตั้งหาย ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้เปรียบหาเสียง แนะดูข้อเท็จจริงอย่าใช้อารมณ์ เตือนนายกฯ จัดเลือกตั้งใหม่โดยพลการไม่ได้ ย้อน “เหลิม” ไม่ต้องท้า พร้อมสู้เลือกตั้งที่สุจริต
วันนี้ (21 มี.ค.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ว่าจะมีผลทางกฎหมายตามรัฐธรรมนูญหรือจะให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะว่า สิ่งที่พรรคมีความกังวลมากกว่าผลการวินิจฉัย คือ ท่าทีของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยว่าจะตอบรับในเรื่องนี้อย่างไร เพราะมีขบวนการโจมตีศาลรัฐธรรมนูญเพื่อลดความน่าเชื่อถือ อ้างว่าไม่มีอำนาจและประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ เป็นความน่ากังวลว่าจะเพิ่มความขัดแย้งให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น จึงขอเรียกร้องให้ประชาชนกดดันให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย ยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ นำคำวินิจฉัยมาเป็นตัวตั้งในการแก้ปัญหาให้แก่ประเทศ
ทั้งนี้ สาเหตุที่พรรคเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นโมฆะเพราะ 1. ไม่เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 เพราะอีก 28 เขตยังไม่มีผู้สมัคร 2. การรับสมัครไม่เป็นไปโดยเที่ยงธรรม เพราะมีการย้ายสถานที่รับสมัคร ใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชนฺ์ให้กับพรรครัฐบาล ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตตามรัฐธรรมนูญ 3. การลงคะแนนไม่เที่ยงธรรม ขัดต่อหลักความเสมอภาค เพราะประชาชนสามารถลงคะแนนได้ในบางเขต แต่บางเขตไม่สามารถใช้สิทธิได้ ทำให้ขัดต่อหลักความเที่ยงธรรมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 4. บัตรเลือกตั้งในการลงคะแนนล่วงหน้าหลายพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการได้ทำให้ต้องลงคะแนนใหม่หลังวันเลือกตั้งจริง ทำให้การเลือกตั้งล่วงหน้าที่ดำเนินการไปก่อนหน้านั้นจะเป็นบัตรเสียทั้งหมด เนื่องจากต้องนับพร้อมกันไม่ว่าจะลงคะแนนวันไหน และ 5. การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ให้พรรครัฐบาลได้เปรียบในทางการเมือง
“ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วพรรคไม่ต้องการให้พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลกล่าวหาศาลโดยไร้เหตุผล ไม่นำข้อเท็จจริงและกฎหมายพิจารณา แต่เอาอารมณ์และความต้องการทางการเมืองไปทำร้ายศาล ทั้งนี้ หากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ประตูทางออกของประเทศจะเปิดออกส่วนจะกว้างทั้งบานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่เกรงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะปิดประตูทางออกของประเทศแทนที่จะเปิดบานประตูให้กว้างเพื่อนำประชาชนออกจากปัญหา จึงขอเรียกร้องว่าหากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องไม่รีบร้อนที่จะกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ เพราะยังมีความเห็นต่างที่จะต้องมีกลไกในการแก้ปัญหาเบื้องต้นก่อนไปสู่กระบวนการเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม”
นายชวนนท์ยกตัวอย่างเตือนความจำ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าในปี 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ โดยในกฤษฎีกาสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ระบุชัดเจนว่า กกต.หารือกับพรรคการเมืองเสนอให้วันที่ 15 ตุลาคม 2549 เป็นวันเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่ารัฐบาลจะกำหนดวันเลือกตั้งโดยพละการไม่ได้ แต่ต้องเปิดโอกาสให้ กกต.หารือกับพรรคการเมืองและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่บ้านเมืองมีวิกฤต อย่ารีบต้องทำให้จบเพราะในปี 2549 ใช้เวลาเกือบ 4 เดือนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ จึงไม่มีเหตุผลที่จะกำหนดการเลือกตั้งให้เร็วอย่างที่พรรคเพื่อไทยออกมาระบุ
นายชวนนท์ยังกล่าวถึงการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับการลงสมัครรับเลือกตั้งว่า พรรคเคารพกระบวนการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หากมีการเลือกตั้งที่เป็นที่ยอมรับ สุจริต เที่ยงธรรม พรรคพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง แต่ถ้าเลือกตั้งบนพื้นฐานความไม่สุจริต การเข้าสู่อำนาจของนักการเมืองโดยไม่คำนึงประโยชน์ประเทศชาติ พรรคจะตัดสินใจโดยยึดถือประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งใหม่จะสมบูรณ์เรียบร้อยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยเห็นว่า ร.ต.อ.เฉลิมไม่ต้องมาท้าทายพรรคประชาธิปัตย์ เพราะพรรคพร้อมที่จะสู้ในสนามการเมือง แต่จะไม่ยอมเป็นเครื่องมือให้กับนักการเมืองที่หวังแต่แสวงหาประโยชน์เพื่อตัวเอง จึงขอยืนยันว่าพรรคพร้อมกลับสู่สนามเลือกตั้งที่สุจริต และเที่ยงธรรม