xs
xsm
sm
md
lg

แฉแดงจ้องถล่มป.ป.ช. จวกรัฐตะแบงไม่รับผิดกู้2ล้านล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่แกนนำพรรคเพื่อไทย และมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาล กล่าวหากรณีที่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ถูกต้อง ว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า การวินิจฉัยดังกล่าวเป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว แต่คนในรัฐบาลรวมทั้ง น.ส.วยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคนเสื้อแดง ออกมาวิจารณ์อย่างไม่เหมาะสม คือ
1 . พยายามเบี่ยงเบนคำวินิจฉัยว่า เป็นไปโดยมิชอบ ทั้งที่ศาลพิจารณาตามกระบวนการทางกฎหมายทุกขั้นตอน
2 .พยายามสร้างความเข้าใจผิดโดยเปรียบเทียบกับ พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง ทั้งที่สองเรื่องนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแตกต่างกัน เนื่องจากเนื้อหาสาระและกระบวนการพิจารณาแตกต่างกัน แต่กลับมีความพยายามสร้างความเข้าใจผิด
3. มีการแสดงความไม่ยอมรับ อ้างเป็นความเห็นต่างทางกฎหมาย ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ที่ปรึกษากฎหมาย หรือสำนักงานกฤษฎีกา ที่จะให้ความเห็นทางกฎหมาย แต่เป็นองค์กรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่วินิจฉัยว่า ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
4. มีการบิดเบือนข้อมูลกล่าวหาผู้คัดค้านเงินกู้ 2 ล้านล้าน ว่าขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ทั้งที่ความจริง ผู้ที่ต่อต้านเรื่องนี้ไม่มีใครขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของประเทศ แต่ที่คัดค้าน เพราะเห็นชัดเจนว่าการดำเนินการของรัฐบาลไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงออกมาขัดขวางไม่ให้มีการใช้ภาษีประชาชนโดยไม่ถูกต้อง จนนำไปสู่การทุจริตได้โดยง่าย
5 . มีความพยายามดิสเครดิตศาลรัฐธรรมนูญทุกรูปแบบ ด้วยการกล่าวหาอย่างต่อเนื่องแบบคลุมเครือ ว่า ศาลรัฐธรรมนูญ 2 มาตรฐาน ทั้งที่ศาลใช้มาตรฐานเดียว ในการพิจารณาควมถูกผิดตามรัฐธรรมนูญ
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวฝากว่า นับจากนี้เป็นต้นไป กระบวนการพิจารณาคดีความต่างๆ ที่ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาขององค์กรอิสระ และศาล อีกหลายคดี เช่น ศาลรัฐธรรมนูญกำลังวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งโมฆะ หรือไม่ ขณะที่ ป.ป.ช. กำลังจะชี้มูลเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง คือ การทุจริตจำนำข้าว และ สมาชิกรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญปมที่มา ส.ว.โดยมิชอบ ซึ่งการทำงานเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาล จึงขอให้น.ส.ยิ่ง ลักษณ์และ ครม. รวมทั้งคนเสื้อแดง ยอมรับกระบวนการพิจารณาขององค์กรอิสระ และศาล ไม่ควรมีท่าทีไม่ยอมรับ หรือการดำเนินการในการขัดขวาง บ่อนทำลาย กระบวนการพิจารณาคดีของ ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ แต่ต้องปล่อยให้ทำหน้าที่อย่างสุจริตและเที่ยงธรรม เพื่อประโยชน์ในการหาข้อยุติเรื่องที่เป็นคดีความ
ทั้งนี้ตนวิตกกังวลว่าจะมีการดำเนินการ 3 อย่าง คือ 1. ปฏิเสธการตรวจสอบ ซึ่งเริ่มมีกระบวนการนี้ออกมาแล้วโดยความพยายามที่จะหยิบยกข้อกล่าวหาเก่าๆ มาโจมตีอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่มีการชี้แจงไปแล้ว
2. มีกระบวนการทำลายองค์กรอิสระ และศาล 3 . พยายามกดดันในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งในฐานะที่นายกรัฐมนตรี และบุคลากรของรัฐบาลต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ ทั้งของศาลรัฐธรรมนูญ และป.ป.ช. นายกฯต้องไม่ปล่อยให้มีการกดดัน แต่ต้องหาทางระงับยับยั้งการปฏิเสธ การทำลาย หรือใช้ความรุนแรงกับองค์กรอิสระ เนื่องจากนายกฯมีหน้าที่คุ้มครองการทำงานขององค์กรตามรัฐธรรมนูญให้ทำงานได้อย่างอิสระ สุจริต และเที่ยงธรรม ไม่ใช่ปล่อยให้มีการขัดขวางหรือทำลายกระบวนการตรวจสอบของบ้านเมือง ตนเชื่อว่าหากน.ส.ยิ่งลักษณ์มั่นใจในความบริสุทธิ์ของตัวเองก็ไม่ต้องกลัวการตรวจสอบจากองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ เพราะสังคมจับตาอยู่จึงเชื่อว่าองค์กรเหล่านี้จะปฏิบัติภาระหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเพื่อผดุงความยุติธรรมอันเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบของบ้านเมือง

**เนรเทศ"สาธิต" ไม่ละเมิดศาลแพ่ง

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) กล่าวถึงกรณีทนายความของนายาธิต เซกัล นักธุรกิจชาวอินเดีย ขอทุเลาคำสั่งต่อศาลแพ่ง กรณีศรส.เซ็นคำสั่งเนรเทศว่า การที่ศาลอนุญาตเป็นสิทธิ และดุลพินิจ ฝ่ายศรส. ต้องเคารพ การที่ กปปส.ไปฟ้องศาลว่าตนขัดคำสั่งศาลนั้น เป็นการฟ้องมั่ว ทำให้เกิดความสับสน เพราะในคำสั่ง 9 ข้อ ศาลห้าม ศรส.ใช้อำนาจตาม มาตรา 11 (8) เรื่องการเนรเทศ แต่ตนใช้อำนาจตาม มาตรา 7 ที่ให้อำนาจคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมือง แต่เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อำนาจรัฐมนตรีต่างๆ จะมาอยู่ที่นายกรัฐมนตรี และนายกฯ ได้มอบหมายตน เรื่องดังกล่าวศาลจะวินิจฉัย ในวันที่ 26 พ.ค. 57 ซึ่งต้องฟังศาลอย่างเดียว ทาง ศรส.ไม่ถือว่าเสียหน้า
นอกจากนี้ เรื่องที่คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เรียกให้ไปชี้แจงงบประมาณของ ศรส. ตนไม่เคยแตะงบประมาณ ศรส. สักบาท ผู้ที่ต้องไปชี้แจงคือ ผู้ที่เบิกจ่าย แต่ตนไม่ใช่ผู้เบิกจ่าย จึงไม่รู้ว่าจะไปชี้แจงเรื่องอะไร
ผอ.ศรส. กล่าวว่า ตนได้ฝากหน่วยความมั่นคงให้บอกนายกฯว่า ตนเห็นด้วยที่จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะจะกระทบการท่องเที่ยว และถึงใช้อยู่ก็ไม่มีประโยชน์ ส่วนจะตั้งใครมาทำหน้าที่ดูแลตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง อยู่ที่รัฐบาล แต่บุคลิกต้องเป็นคนที่นายกฯ เชื่อมั่น ตนประเมินว่าสถานการณ์ในเดือน เม.ย.ร้อนแรงแน่ โดยเฉพาะคดีความในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถูกร้อง 2 ปีกว่า เอกสารเรื่องข้าวยังหาไม่ครบ แต่นายกฯยิ่งลักษณ์ ขอขยายเวลาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 45 วัน กลับไม่ให้
อย่างไรก็ตาม ตนไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เผชิญหน้า เพราะคนไทยด้วยกัน ฉะนั้นองค์กรอิสระอย่าเอาแต่ใจ อย่าใช้อารมณ์ ไม่ใช่มีธง หรือไปรับคำสั่งจากกลุ่มบุคคล และคณะบุคคล ซึ่งไม่ได้ฝักใฝ่ประชาธิปไตย แต่อยากมีอำนาจ อย่างนั้นบ้านเมืองมีปัญหา สิ่งที่อันตรายสำหรับรัฐบาลตอนนี้คือ องค์กรอิสระ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ ไม่โดนสอบเลย
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรที่มีการแต่งตั้ง นายจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นประธาน นปช. ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ตนไม่กล้าไปวิพากษ์วิจารณ์ เพราะไม่ได้ร่วมด้วย แต่สมาชิกพรรคเพื่อไทยทุกคน หัวใจรุก รบ จะไม่ยอมให้ถูกกลั่นแกล้งอีกต่อไป คนเรามีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน หากคุณทำดีทุกคนก็ถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพ แต่หากทำลายอีกฟากฝั่งแบบไม่เป็นธรรม ถึงวันนั้นไม่มีใครกลัวใคร ตนวิเคราะห์แบบนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น