xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.เชื่อ พท.สั่งป่วนถี่ รับวินิจฉัยคดีร้อน ฉะ “แม้ว” หลอกแดงซ้ำซาก บี้ “ปู” เลิกร้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ จุฤทธิ ลักษณวิศิษฏ์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
รอง หน.ปชป.หนุนข้อเสนอ 7 องค์กรอิสระ แก้วิกฤตชาติ ตอก พท.ฟังก่อนติ ฉะ 5 ยุทธศาสตร์ พท.ดิ้นเอาตัวรอดกู้ 2 ล้านล้าน ขัด รธน.สร้างความเข้าใจผิดคำวินิจฉัยศาล ไม่รับอำนาจ ดิสเครดิต เปิดทางแดงกระทืบซ้ำ หลังใกล้ไต่สวน 3 คดีร้อน จี้ นายกฯยับยั้ง “จุฤทธิ์” บี้ต่อให้ทำ 7 ทางแก้ปัญหา เลิกนำปมส่วนตัวปนเรื่องชาติ หยุดบีบน้ำตา ชี้ ระบอบแม้ว ขุดศพ “เต้น-ตู่” หลอกแดงซ้ำซาก เชื่อ เคลื่อนไม่แรง เหตุอยู่ระหว่างประกัน


วันนี้ (16 มี.ค.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงโรดแมปแก้ปัญหาประเทศที่ 7 องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเตรียมนำเสนอต่อสังคมในวันที่ 17 มี.ค.นี้ว่า เป็นการช่วยหาทางออกแก้วิกฤตของประเทศไทยซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกต้องโดยทุกฝ่ายควรช่วยกันรับฟังและร่วมกันหาทางออก อย่างไรก็ตามยังไม่ทราบว่าทางออกจะเป็นอย่างไร แต่กลับมีกลุ่มบุคคลและบางพรรคการเมืองออกมาตั้งข้อสังเกตในลักษณะไม่ยอมรับการหาทางออกให้กับประเทศชาติบ้านเมือง ซึ่งตนขอเรียกร้องไปยังทุกกลุ่ม ทุกองค์กร ทุกพรรคการเมืองและทุกฝ่ายในสังคม ให้รับฟังข้อเสนอของ 7 องค์กรอิสระก่อนว่ามีเนื้อหาเป็นอย่างไร ไม่ควรติเรือทั้งโกลน เมื่อรับฟังแล้วจะยอมรับหรือไม่เป็นสิทธิของแต่ละกลุ่มแต่ละองค์กรจะวินิจฉัยในข้อเสนอนั้น การรับฟังจะเป็นผลดีมากกว่าการไม่รับฟังข้อเสนอจากใครเลยทั้งสิ้น เพราะถ้าเดินหน้าเช่นนี้บ้านเมืองจะหาทางออกร่วมกันลำบาก

“ผมขอเรียกร้องไปทุกภาคส่วนควรจะรับฟังข้อเสนอแล้วพิจารณาดูว่าพร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้วิกฤตบ้านเมืองตามข้อเสนอ 7 องค์กรอิสระหรือไม่จะเป็นประโยชน์กับบ้านเมืองมากกว่า” นายองอาจ กล่าว

นายองอาจ กล่าวต่อถึงกรณีที่แกนนำพรรคเพื่อไทยและมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาล กล่าวหาว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.เงินกู้สองล้านล้านขัดรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้องว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าการวินิจฉัยดังกล่าวเป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว แต่คนในรัฐบาลรวมทั้ง น.ส.วยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคนเสื้อแดง ออกมาวิจารณ์อย่างไม่เหมาะสม คือ 1.พยายามเบี่ยงเบนคำวินิจฉัยว่าเป็นไปโดยมิชอบทั้งที่ศาลพิจารณาตามกระบวนการทางกฎหมายทุกขั้นตอน 2.พยายามสร้างความเข้าใจผิดโดยเปรียบเทียบกับ พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง ทั้งที่สองเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแตกต่างกัน เนื่องจากเนื้อหาสาระและกระบวนการพิจารณาแตกต่างกันแต่กลับมีความพยายามเข้าใจผิด

3.มีการแสดงความไม่ยอมรับอ้างเป็นความเห็นต่างทางกฎหมาย ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ที่ปรึกษากฎหมายหรือสำนักงานกฤษฎีกาที่จะให้ความเห็นทางกฎหมายแต่เป็นองค์กรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่วินิจฉัยว่า ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ 4.มีการบิดเบือนข้อมูลกล่าวหาผู้คัดค้านเงินกู้สองล้านล้านว่าขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ทั้งที่ความจริงผู้ที่ต่อต้านเรื่องนี้ไม่มีใครขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของประเทศ แต่ที่คัดค้านเพราะเห็นชัดเจนว่าการดำเนินการของรัฐบาลไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจึงออกมาขัดขวางไม่ให้มีการใช้ภาษีประชาชนโดยไม่ถูกต้องจนนำไปสู่การทุจริตได้โดยง่าย 5.มีความพยายามดิสเครดิตศาลรัฐธรรมนูญทุกรูปแบบด้วยการกล่าวหาอย่างต่อเนื่องแบบคลุมเครือว่าศาลรัฐธรรมนูญ 2 มาตรฐาน ทั้งที่ศาลใช้มาตรฐานเดียวในการพิจารณาควมถูกผิดตามรัฐธรรมนูญ

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวฝากว่า นับจากนี้เป็นต้นไปกระบวนการพิจารณาคดีความต่างๆ ที่ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาขององค์กรอิสระและศาลอีกหลายคดี เช่น ศาลรัฐธรรมนูญกำลังวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งโมฆะหรือไม่ ขณะที่ ป.ป.ช.กำลังจะชี้มูลเรื่องสำคัญสองเรื่องคือ การทุจริตจำนำข้าว และสมาชิกรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญปมที่มา ส.ว.โดยมิชอบ ซึ่งการทำงานเหล่านี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลจึงขอให้นางสาวยิ่งลักษณ์ และ ครม.รวมทั้งคนเสื้อแดง ยอมรับกระบวนการพิจารณาขององค์กรอิสระและศาลไม่ควรมีท่าทีไม่ยอมรับหรือการดำเนินการในการขัดขวาง บ่อนทำลาย กระบวนการพิจารณาคดีของ ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญ แต่ต้องปล่อยให้ทำหน้าที่อย่างสุจริตและเที่ยงธรรม เพื่อประโยชน์ในการหาข้อยุติเรื่องที่เป็นคดีความ

ทั้งนี้ตนวิตกกังวลว่าจะมีการดำเนินการสามอย่างคือ 1.ปฏิเสธการตรวจสอบ ซึ่งเริ่มมีกระบวนการนี้ออกมาแล้วโดยความพยายามที่จะหยิบยกข้อกล่าวหาเก่าๆ มาโจมตีอย่างต่อเนื่องทั้งที่มีการชี้แจงไปแล้ว 2.มีกระบวนการทำลายองค์กรอิสระและศาล 3.พยายามกดดันในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งในฐานะที่นายกรัฐมนตรีและบุคลากรของรัฐบาลต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบทั้งของศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช.นายกฯต้องไม่ปล่อยให้มีการกดดัน แต่ต้องหาทางระงับยับยั้งการปฏิเสธ การทำลายหรือใช้ความรุนแรงกับองค์กรอิสระ เนื่องจากนายกฯมีหน้าที่คุ้มครองการทำงานขององค์กรตามรัฐธรรมนูญให้ทำงานได้อย่างอิสระ สุจริต และเที่ยงธรรม ไม่ใช่ปล่อยให้มีการขัดขวางหรือทำลายกระบวนการตรวจสอบของบ้านเมือง ตนเชื่อว่าหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ มั่นใจในความบริสุทธิ์ของตัวเองก็ไม่ต้องกลัวการตรวจสอบจากองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ เพราะสังคมจับตาอยู่จึงเชื่อว่าองค์กรเหล่านี้จะปฏิบัติภาระหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเพื่อผดุงความยุติธรรมอันเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบของบ้านเมือง

ส่วน นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องทำ คือ 7 เอา และ 1 ไม่เอา ซึ่ง เอาที่ 1 คือ ต้องเอาคนแยกประเทศมาดำเนินคดีให้ได้ 2.ต้องเอาเงินมาจ่ายชาวนาและชาวสวนยางพาราตามที่มีการรับปากไว้เพราะยังไม่ได้เงิน 3.เอาข้าวในโครงการจำนำไประบายเพื่อลดการขาดทุน ลดภาระค่าเช่าโกดังเก็บข้าว 4.ต้องเอาฆาตกรเลือดเย็นที่ยิงเอ็ม 79 ปาระเบิดก่อเหตุรุนแรงมาลงโทษโดยเร็วที่สุด 5.ต้องเอาคำวินิจฉัยขององค์กรอิสระมาน้อมรับและแก้ไขการทำงานของตัวเองและแก้ไขข้อกล่าวหาเพื่อแสดงความบริสุทธิ์และภาวะผู้นำ 6.เอาเวลาไปรับฟังผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างมีสติและไม่มีอคติ มิเช่นนั้นจะแก้วิกฤตการเมืองไม่ได้ และ 7.ต้องเอากฎหมายมาเป็นหลักในการบริหารประเทศไม่ใช่เอากฎแม้วแล้วอ้างว่าให้ดูที่เจตนาอย่ายึดกฎหมาย ส่วนหนึ่งไม่เอาคือ ต้องไม่เอาเรื่องส่วนตัวมาเกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศ เพราะอาสาเข้ามาทำงานโดยไม่มีใครบังคับ เมื่อบริหารผิดพลาดมีคำตัดสินของศาลก็ต้องยอมรับ เพราะไม่ใช่เรื่องส่วนตัวจะบีบน้ำตาก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเป็นการบริหารราชการแผ่นดิน ยังมีคนอีกเป็นล้านพร้อมเป็นนายกฯ จึงต้องเลิกโอดครวญ เพราะไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่เป็นเรื่องของประเทศชาติ

“มีความพยายามที่จะรักษาระบอบทักษิณด้วยการขุดศพขึ้นมาเป็นแกนนำ จากคำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณว่า คนหน้าตาดีไม่ค่อยออกมาช่วยพรรคมีแต่คนหน้าตาไม่ดี จึงต้องถามว่า ที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ จะก้าวขึ้นเป็นประธาน นปช.นั้น เป็นคนหน้าตาไม่ดีหรือไม่ แต่เห็นว่านายจตุพร ที่เคยบอกว่าไม่สนับสนุนกฎหมายนิรโทษกรรมเจอใบม่วง แดง เทา เงียบไม่ต่อต้าน และในวันนี้กลับมาเป็นแกนนำอีกครั้ง จึงเตือนคนเสื้อแดงว่าจะถูกหลอกใช้เหมือนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยบอกว่า เสียงปืนลั่นจะมายืนแถวหน้าแต่เสียชีวิตไปแล้วไม่เห็น พ.ต.ท.ทักษิณ มานำหน้าแต่อย่างใด จึงอยากให้ทุกการชุมนุมอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ทั้งนี้ยังเห็นว่าทั้งนายจตุพรและนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่จะเข้ามามีบทบาทในการปลุกระดมคนเสื้อแดงนั้นยังอยู่ในระหว่างการประกันตัว จึงเชื่อว่าเดินหน้าได้ไม่เต็มสูบทำได้แค่ในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่กล้าเคลื่อนไหวรุนแรงมากเพราะกลัวที่จะถูกถอนประกัน”


กำลังโหลดความคิดเห็น