ผอ.ศรส.อ้าง “สาธิต” นำคนล้อมสถานที่ราชการต้นเหตุเซ็นเนรเทศ ปัดหักหลังยันไม่เคยรับปาก สอน “สุเทพ” อ่าน รธน. ชี้เขียนชัด กกต.ลาออกก็ต้องรักษาการจัดเลือกตั้งต่อ โบ้ยเปิดสภาไม่ได้เป็นเรื่องนิติบัญญัติ ลั่นพร้อมไปคุยตัว-ตัวต่อหน้าเมียถึงบ้าน แต่ห้ามพูดนายกฯ ลาออก และม.7 บอกนั่งดูไฮด์ปาร์กเห็นจ้อออกทะเล ปัด “ทักษิณ” ส่งซิกเจรจา
วันนี้ (6 มี.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) เมื่อเวลา 10.30 น.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) กล่าวถึงการเซ็นคำสั่งเนรเทศนายสาธิต เซกัล นักธุรกิจชาวอินเดีย และแกนนำ กปปส.ว่า หากนายสาธิตอยู่เฉยๆ ตนไปจะเซ็นคำสั่งเนรเทศทำไม นายสาธิตสามารถฝักใฝ่และชอบพรรคการเมืองได้ถือเป็นสิทธิ แต่กรณีที่ตนเซ็นคำสั่งเนรเทศเพราะนายสาธิตได้ให้การสารภาพต่อเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องว่าระหว่างมีการชุมนุม กปปส.ได้นำกำลังพรรคพวกไปยึดสถานที่ราชการถึง 5 แห่ง โดยครั้งสุดท้ายคือ กรมการบินพลเรือน ทางราชการคงปล่อยเฉยไม่ได้ จึงดำเนินการมาตามขั้นตอน ตนจึงสั่งทำอย่างละเอียดถี่ถ้วน
ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า สุดท้ายเมื่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเป็นที่ยุติ ตนในฐานะที่ได้รับมอบอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินจึงเซ็นคำสั่งเนรเทศ ส่วนนายสาธิตจะไปใช้สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง ตนไม่ขัดข้องและไม่ขัดขวาง เรื่องการถวายฎีกา ตนขอไม่แสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไปตนจะส่งเรื่องไปให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ที่มีการระบุว่าตนหักหลังนายสาธิตนั้น จะไปหักหลังเรื่องอะไร ตนไม่เคยรับปากว่าจะเนรเทศหรือไม่เนรเทศ เมื่อเจ้าหน้าที่สรุปมานั้นไม่มีหนทางเป็นอย่างอื่น ตนไม่ได้เกลียดนายสาธิตเป็นการส่วนตัว เพราะไม่รู้จักกัน
ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวถึงกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ระบุว่าหากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลาออกทั้ง 5 คน จะไม่มีคนจัดการเลือกตั้งว่า นายสุเทพควรไปอ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 232 วรรค 2 กกต.นั้นเลียนแบบคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือ ต้องอยู่จนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่ เช่นเดียวกับ กกต.จะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ จะลาออกไปเลยไม่ได้ ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จก่อน ส่วนที่นายสุเทพ เสนอนายกฯ ตามมาตรา 7 นั้น มาตราดังกล่าวไม่ใช่เรื่องการตั้งนายกฯคนกลาง อยากให้ไปอ่านมาตรา 181 ที่ระบุว่า การเลือกตั้งเมื่อครบ 30 วัน หากประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกไม่ได้เป็นเรื่องของสภา ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายบริหาร ซึ่งกกต.มีโอกาสจัดการเลือกตั้งตามมาตรา 93 วรรค 6 ภายใน 180 วัน อย่างไรก็ตาม ที่มีคนจะไปยื่นตีความสถานะของรัฐบาลต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น ศาลก็ต้องตีความตามกฎหมาย จะเขียนอะไรตามใจชอบไม่ได้
“ผมฝากบอก “กำนันเลื่อน” คุยกันหน่อยได้ไหม เอาที่บ้านกำนันที่พุทธมณฑล ผมจะไปคนเดียว แล้วให้กำนันอยู่กับภรรยาสองคน แต่อย่ามาบอกเรื่องนายกฯ ต้องลาออก อย่ามาบอกเรื่องนายกฯ มาตรา 7 และอย่ามาบอกว่า กกต.ลาออกแล้วเลือกตั้งไม่ได้ เพื่อนเข้าใจผิด เอาอย่างนี้จัดการเลือกตั้งให้เสร็จ มี ครม. หากกำนันจะปฏิรูปพอมีรัฐบาลแล้วก็นำพิมพ์เขียวมา นายกฯ ฟังอยู่แล้ว ถ้าดีตกลงก็ปฏิรูป และไปเลือกตั้งใหม่ ดีที่สุด กำนันก็มอบตัวเสียหลังจากคุยกับผมแล้ว คุยกับผมได้ เพราะไม่ใช่ตำรวจ ผมอยากให้บ้านเมืองสงบ ไม่อย่างนั้นทะเลาะกันอยู่อย่างนี้” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่ก่อนหน้านี้ท่านระบุว่าการเมืองไม่จบง่ายๆ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า “เพราะไม่จบไง ตนถึงนอนคิด เมื่อคืนวันที่ 5 มี.ค. ดูกำนันเลื่อนพูดผิดหมด ออกทะเลตลอด ไม่รู้ใครไปสอนผิดทุกมาตรา ผิดทุกข้อเท็จจริง เลยคิดถึงเพื่อน เทพเอ๋ย เจอกันหน่อยเถอะที่บ้านเอ็ง”
เมื่อถามว่า ที่ออกมาชวนนายสุเทพคุย เป็นเพราะได้รับไฟเขียวจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ แล้วหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ไม่มี ตนคิดเอง อายุ 66 ปีแล้วจะคิดเองไม่ได้หรือ คิดให้บ้านเมืองสงบ ทำไมตนจะทำไม่ได้ เมื่อถามว่าจะคุยอย่างไรให้นายสุเทพคล้อยตาม ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ต้องคุยต่อหน้าภรรยาเขา นายสุเทพเหมือนตนคือ กลัวภรรยา เรื่องนี้ไม่มีอะไร ถ้านายสุเทพคุยรู้เรื่อง บ้านเมืองจบ แต่หากไม่สำเร็จไม่เป็นไร อย่างน้อยๆ ตนยังได้คิด