xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปการเมือง กปปส.แนะแยกบริหาร-นิติบัญญัติ เลือกนายกฯ โดยตรง ส.ส.อดนั่ง รมต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สุเทพ” เปิดเสวนาปฏิรูปการเมือง เลือกตั้ง พรรค หวังไร้โกง เป็นพรรคของประชาชน ไม่ใช่กลุ่มทุนหรือครอบครัว ยันค้าน ส.ส.ไม่สังกัดพรรค จี้ กกต.ทบทวนอำนาจ ด้าน ปธ.สภาพัฒนาการเมืองแนะเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง นักวิชาการหนุนแยกอำนาจนิติบัญญัติกับบริหาร ส.ส.ไม่ควรเป็น รมต.ยกเลิกกฏหมายพรรค ด้าน "บรรเจิด" เสนอปรับ 3 โครงสร้าง ให้ กกต.คุมบางเรื่อง แนะพรรคใช้ระบบไพรมารี่โหวต ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับส่วนกลาง ชงส.ส.กลุ่มอาชีพเพิ่ม



วันนี้ (19 มี.ค.) บรรยากาศเวทีเสวนาระดมความคิดปฏิรูปประเทศไทยของกลุ่ม กปปส. ในหัวข้อ “การปฏิรูปการเมือง การเลือกตั้ง และพรรคการเมือง” โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.กล่าวเปิดการเสวนาว่า กปปส.มีเป้าหมายสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศ โดยในส่วนการเมืองต้องการปฏิรูปภาพรวมทั้งหมดให้ตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชน อาทิ การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม ไม่มีการทุจริต รวมถึงพรรคการเมืองต้องเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่กลุ่มทุนเข้ามาตั้งพรรคการเมือง กลายเป็นพรรคของครอบครัว จึงควรออกแบบพรรค ที่เกิดจากการรวมตัวของประชาชนที่มีแนวคิด อุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกัน ส่วนแนวคิดความมีอิสระของ ส.ส.ที่ไม่สังกัดพรรคนั้น ตนเองไม่เห็นด้วย

นายสุเทพกล่าวด้วยว่า องค์กรที่กำกับดูแลตรวจสอบการเลือกตั้ง โดยเฉพาะ กกต.ต้องทบทวนอำนาจมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาถึงแม้มี กกต.ยังพบการทุจริตซื้อเสียง

ด้านนายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวว่า การปฏิรูปการเมือง ต้องมีการพัฒนาการเมืองให้เกิดความสมบูรณ์และมีคุณภาพ จากอดีตโดยการกำหนดการเลือกตั้งจะต้องเป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ส่วนฝ่ายบริหารต้องมีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงของประชาชน โดยใช้เขตการเลือกตั้งทั้งประเทศ ดังนั้น เราจะได้ผู้นำที่เข้มแข็ง และเป็นเอกภาพ เพราะไม่ได้เอารัฐมนตรีจากข่ายของพรรคการเมือง และประการถัดมา การเลือกตั้งยังคงเหมือนเดิมอยู่ แต่ให้สภามี ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่เกิน 45% ของ ส.ส.ทั้งหมด อีกประการหนึ่งระบบเลือกตั้งจะต้องมี 2 ใบ คือ ใบหนึ่งมาจากการเลือกแบบแบ่งเขต และบัตรลงคะแนนบัญชีรายชื่อ เป็นตัวคุม และประการสุดท้าย ต้องให้นักการเมืองมีจริยธรรมที่เข้มแข็ง ตรวจสอบนักการเมืองได้

อย่างไรก็ตามในการเสวนา กลุ่มนักวิชาการเสนอให้การปฏิรูปการเมืองต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมการเมืองไทย และเห็นว่านายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรง เช่นเดียวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น และควรแยกอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารออกจากกันให้ชัดเจน โดยเฉพาะ ส.ส.ไม่ควรเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ควรทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติหรือด้านกฎหมายเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ยกเลิกกฎหมายพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองเป็นอิสระ ป้องกันการผูกขาดอำนาจเผด็จการรัฐสภาจากนายทุน เช่นเดียวกับกลุ่มแนวร่วม กปปส. ภาคประชาชน ที่เสนอให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงเท่านั้น และอยากให้มีตัวแทนจากทุกสาขาอาชีพเข้าไปทำหน้าที่ในสภา เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาของประชาชนให้ตรงจุด พร้อมเห็นว่า ปัจจุบันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังคงทำหน้าที่เพื่อประโยชน์กับฝ่ายนิติบัญญัติมากเกินไป ดังนั้น จึงจำเป็นต้องตัดฝ่ายนิติบัญญัติให้ออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อไม่ให้อำนาจซ้ำซ้อนกับอำนาจประชาชน และให้มีการเลือกตั้งแบบยกพรรค

ด้านนายบรรเจิด สิงคเนติ คณบดีนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เสนอแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างการเมืองโดยจะต้องมีการปรับระบบพรรคการเมือง โครงสร้างสถาบันการเมือง และระบบการเลือกตั้ง เพราะปัจจุบันประชาชนขาดการมีส่วนร่วม และจุดผิดพลาดของระบบพรรคการเมืองนั้น มาจากการออกฎหมายสังกัดพรรค รวมถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ จะทำให้เกิดระบบเผด็จการรัฐสภา จึงควรยกเลิกกฎหมายพรรคการเมือง ปล่อยให้การพัฒนาการเมืองเป็นอิสระ โดยให้ กกต.ลงมาคุมบางเรื่องเท่านั้น เช่น การโค่นล้มระบบการปกครอง ส่วนการเสนอนโยบายของพรรคการเมือง ควรเป็นการเสนอที่ต้องบอกที่ไปที่มาของนโยบายชัดเจน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ และการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง ต้องใช้ระบบไพรมารี่โหวต ให้สมาชิกได้โหวตกัน ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับผู้บริหารส่วนกลาง ซึ่งจะทำให้เกิดระบบประชาชนธิปไตยในการได้มาซึ่งสมาชิกพรรค และการหาเสียงเลือกตั้งจะทำให้ประชาชนเข้าถึง ทั้งนี้ ตัวระบบพรรคการเมืองอย่าใช้ระบบพรรคเข้าไปคุมเข้มแข็ง ซึ่งพรรคการเทืองปล่อยให้อิสระในการพัฒนา แต่ควรคุมเฉพาะกฎหมายบางส่วน

นอกจากนี้ ยังระบุถึงโครงสร้างสถาบันการเมืองของไทย ที่เป็นระบบผูกขาดรวมศูนย์โดยเงินทุน พรรคการเมือง ทำให้อำนาจระบบรัฐสภาถูกคบคุมโดยเจ้าของพรรคได้ ส่งผลให้จุดอ่อนระบบรัฐสภา ขาดตัวแทนผลประโยชน์หลากหลาย โดยขอเสนอยกเลิกการบังคับสังกัดพรรค ยกเลิกการใช้มติพรรคที่จะให้สมาชิกพรรค พร้อมเสนอให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขตและส.ส.บัญชีรายชื่อ 380 คน อีก 120 คน เป็น ส.ส.กลุ่มอาชีพ เพื่อต้องการให้ ส.ส.มีกลุ่มผลประโยชน์หลากหลาย ทำให้รัฐสภามีความเข้มแข็งมากขึ้น













กำลังโหลดความคิดเห็น