xs
xsm
sm
md
lg

คปท.เปิดพิมพ์เขียวปฏิรูปฯ ตั้ง “บรรษัทน้ำมัน” บริหารพลังงานชาติแทน ปตท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอุทัย ยอดมณี ผู้ประสานงานเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.)
คปท.เปิดร่างแผนแม่บทปฏิรูปพลังงานไทย ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้หลุดพ้นจากการผูกขาดของกลุ่มธุรกิจพลังงานขนาดใหญ่ เสนอตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจัดการพลังงานของประเทศ ให้ ปตท.เป็นเอกชนแต่ห้ามผูกขาดและเป็นเจ้าของท่อก๊าซ ยกเลิก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ยุติขึ้นราคา LPG ทันที พร้อมยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง



เย็นวันนี้ (18 มี.ค.) นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายอุทัย ยอดมณี ผู้ประสานงานเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ร่วมกันแถลงข่าวเปิดพิมพ์เขียว “การปฏิรูปพลังงานไทย” โดยเสนอร่างแผนแม่บทการปฏิรูปพลังงานไทย เช่น เสนอตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ปรับโครงสร้าง ปตท.อยู่ใต้สังกัดบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ห้ามผูกขาด ยกเลิก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ยุติการขึ้นราคา LPG ทันที ยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยกเลิกการคิดค่าขนส่ง-ประกันภัยจากสิงคโปร์มาโรงกลั่นไทยรวมเข้าไปในราคาน้ำมันสำเร็จรูป รวมทั้งการยกเลิกกำหนดมาตรฐานน้ำมันที่เกินความจำเป็น และการส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน

สำหรับ(ร่าง)แผนแม่บทการปฏิรูปพลังงานไทย ที่กลุ่ม คปท.เสนอ มีดังนี้

หลักการและเหตุผล

กิจการพลังงานของประเทศไทยตั้งแต่ต้นน้ำ (ธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม) กลางน้ำ (ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ การขนส่งน้ำมัน โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน) และปลายน้ำ (ธุรกิจค้าปลีกเชื้อเพลิงสำเร็จรูป) อยู่ภายใต้การผูกขาดของกลุ่มธุรกิจพลังงานขนาดใหญ่เพียงไม่กี่กลุ่ม จึงมีอำนาจเหนือตลาด และยังมีอิทธิพลเหนือกลไกของรัฐบาลที่ยอมให้มีการกำหนดราคาเชื้อเพลิงได้ตามที่กลุ่มธุรกิจผูกขาดพลังงานต้องการ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะนักการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาลและข้าราชการที่มีหน้าที่ร่วมกันในการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลด้านพลังงาน ต่างมีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ในกิจการพลังงานเหล่านี้ด้วยกันทั้งสิ้น

ด้วยสภาพปัญหาดังกล่าวจึงเห็นควรที่ประเทศไทย จะต้องดำเนินการปฏิรูปกิจการพลังงานทั้งระบบตั้งแต่กิจการต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ รวมถึงต้องมีการปฏิรูปพลังงานหมุนเวียนและการอนุรักษ์พลังงานเพื่อลดสัดส่วนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศให้ลดน้อยลง และเพื่อให้เป็นพลังงานที่พึ่งพาของประเทศได้อย่างแท้จริง อันเป็นไปตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีแนวทางการปฏิรูปดังนี้

การปฏิรูปด้านกิจการต้นน้ำ (การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นระบบ การอนุรักษ์พลังงานและพัฒนาพลังงานหมุนเวียน)

1. ยกเลิก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และออกกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่ กำหนดให้ปิโตรเลียมทั้งที่อยู่ใต้ดินและที่ถูกขุดขึ้นมาเป็นของรัฐ การนำมาใช้ประโยชน์ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน โดยเปลี่ยนระบบการให้สิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากระบบสัมปทานเป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตหรือสัญญารับจ้างบริการ และใช้วิธีประมูล

2. ให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (องค์การปิโตรเลียมเพื่อการพัฒนาประเทศ) ขึ้นแทนบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งแปรสภาพเป็นบริษัทเอกชนไปแล้ว เป็นองค์กรของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ จะนำมาขายหรือกระจายหุ้นเปลี่ยนแปลงเป็นเอกชนไม่ได้

3. ให้จัดตั้งสภาประชาชนเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและปิโตรเลียมขึ้นมาทำหน้าที่กำกับดูแลบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (องค์การปิโตรเลียมเพื่อการพัฒนาประเทศ)โดยให้มีตัวแทนของประชาชนจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ รวมทั้งนักวิชาการ เป็นองค์ประกอบสำคัญ

4. บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

4.1 ถือสิทธิครอบครองทรัพยากรปิโตรเลียม เครื่องจักร อุปกรณ์ ชิ้นส่วน ที่ใช้ในการผลิต การตรวจวัด และข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้อง

4.2 ออกกฎระเบียบ ควบคุมดูแล บริษัทฯ ที่ดำเนินกิจการด้านทรัพยากรปิโตรเลียมให้ดำเนินอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้

4.3 เป็นผู้ให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ด้วยวิธีการประมูลที่โปร่งใส โดยให้สื่อสารมวลชนทำการเผยแพร่การดำเนินการทั้งหมด

4.4 จัดทำสัญญาแบ่งปันผลประโยชน์ให้สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

4.5 จัดตั้งบริษัทลูกเพื่อดำเนินกิจการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งในและต่างประเทศ

4.6 ดำเนินการจัดประมูลขายจำหน่ายจ่ายโอนปิโตรเลียมที่ได้จากแหล่งผลิตต่างๆ

4.7 ให้มีการจัดตั้งกองทุนปิโตรเลียมเพื่อการพัฒนาประเทศไทย สนับสนุนสวัสดิการด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และสวัสดิการสังคม เพิ่มเบี้ยคนชรา และสนับสนุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานหมุนเวียน

ในช่วงเปลี่ยนผ่านกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่ สิ่งที่ต้องดำเนินการ มีดังนี้

1. ไม่ต่อสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมที่ใกล้หมดอายุอีกต่อไป และเมื่อหมดอายุสัญญาแล้วให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติสามารถใช้สัญญาแบบรับจ้างบริการดำเนินการในปิโตรเลียมแหล่งนั้นต่อไปได้

2.ในช่วงก่อนการยกเลิก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 เพื่อเปลี่ยนมาใช้กฎหมายฉบับใหม่นั้น ให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (องค์การปิโตรเลียมแห่งชาติ, องค์กรทรัพยากรธรรมชาติแห่งราชอาณาจักรไทย) จัดทำข้อเสนอต่อบริษัทฯ ที่ถือสัญญาสัมปทานอยู่เดิม เพื่อนำสู่การเปลี่ยนเป็นสัญญาแบ่งปันผลผลิต หากบริษัทฯที่ถือสัมปทานอยู่ไม่ดำเนินการ ให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (องค์การปิโตรเลียมแห่งชาติ, องค์กรทรัพยากรธรรมชาติแห่งราชอาณาจักรไทย) ดำเนินการตรวจสอบการดำเนินการของบริษัทฯนั้น ว่ากระทำผิดผิดเงื่อนไขของมาตรา 110 และ 111 ของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 หรือไม่ และให้ดำเนินการยกเลิกสัญญาหากมีการดำเนินการที่ผิดเงื่อนไขดังกล่าว

การปฏิรูปด้านกิจการกลางน้ำ (บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี)

ณ ปัจจุบัน ปตท. และบริษัทในกลุ่ม เป็นผู้ประกอบธุรกิจก๊าซธรรมชาติอย่างครบวงจรเพียงรายเดียวในประเทศ โดยครอบคลุมตั้งแต่การสำรวจและผลิต การจัดหาก๊าซธรรมชาติ การขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ การแยกก๊าซธรรมชาติ และการจัดจำหน่าย รวมถึงการขยายการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติทั้งในและต่างประเทศ และการพัฒนาธุรกิจใหม่ และยังเป็นผู้ดำเนินการจัดหา ขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ จัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ และดำเนินธุรกิจแยกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ส่วนโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ ปตท.ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 5 โรงกลั่นจากที่มีอยู่ 6 โรงกลั่น นำไปสู่สิทธิผูกขาดในการเป็นเป็นผู้จัดซื้อ จัดหาพลังงานเชื้อเพลิงของประเทศแต่เพียงรายเดียว รวมถึงได้สิทธิเป็นผู้ผูกขาดการขายน้ำมันสำเร็จรูปให้กับหน่วยงานของรัฐบาล การที่ ปตท.ได้แปรรูปเป็นบริษัทเอกชนไปแล้ว จึงถือว่ามิใช่องคาพยพของรัฐอีกต่อไปบรรดาสิทธิและทรัพย์สินที่ได้มาด้วยการใช้อำนาจมหาชนของรัฐ ต้องถูกยกเลิกไป และให้ ปตท.เป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า เพื่อเป็นการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาด และเพื่อให้การประกอบกิจการพลังงานมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ (มาตรา 84 (1) และ (5)) จึงสมควรดำเนินการปฏิรูปตามแนวทางดังนี้

1. ห้ามมิให้ ปตท.เป็นเจ้าของท่อส่งก๊าซธรรมชาติสายหลักของประเทศ

2. ห้ามมิให้ ปตท.มีอำนาจผูกขาดในการจัดซื้อจัดหาปิโตรเลียมแต่เพียงผู้เดียว ยกเลิกการซื้อขายผ่านนายหน้า เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตัดวงจรที่อาจนำไปสู่การทุจริต

3. ให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นใหม่ (องค์การปิโตรเลียมแห่งชาติ) มาแทนบริษัท ปตท. เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดหาโดยใช้วิธีซื้อแบบรัฐต่อรัฐ และต้องเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกับเอกชนรายอื่น

4. ให้ ปตท.อยู่ภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า และให้พัฒนากฎหมายการแข่งขันทางการค้า เพื่อป้องกันการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรงทางอ้อม โดยคุมสัดส่วนการถือครองตลาดของ ปตท. รวมบริษัทในเครือ ไม่ให้เกิน 30% ซึ่งจะทำให้มีการลดการถือครองหุ้นในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และกิจการพลังงานอื่นๆ เกิดระบบการแข่งขันที่เป็นธรรมและทำให้กลไกตลาดเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

5. ห้ามมิให้ข้าราชการเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทพลังงานและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง จนกว่าจะเกษียณอายุแล้ว 5 ปี เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน

การปฏิรูปโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซหุงต้ม (กิจการปลายน้ำ)

1. ให้ยกเลิกการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มหรือ LPG โดยให้รัฐบาลของประชาชนมีนโยบายให้ LPG ที่ผลิตได้จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติในประเทศต้องจัดสรรให้ประชาชนใช้ก่อนทั้งภาคครัวเรือนและขนส่ง ด้วยราคาตามต้นทุนบวกกำไรที่เหมาะสมเป็นธรรมต่อผู้ใช้และผู้ผลิต เมื่อเหลือจึงให้ภาคอุตสาหกรรมทุกประเภทใช้ หากไม่พอให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้รับภาระการนำเข้าเอง หรือให้มีการสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพิ่มให้เพียงพอต่อปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอีกต่อไป

2. ให้ยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากเป็นการจัดเก็บเงินจากประชาชน และใช้จ่ายเงินที่ไม่ผ่านการตรวจสอบของระบบรัฐสภา มีการใช้ผิดวัตถุประสงค์ และทำให้โครงสร้างน้ำมันสำเร็จรูปไม่เป็นไปตามกลไกตลาดที่แท้จริง ดังนั้น จะทำให้ราคาน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 10 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ 95 ลดลง 3.30 บาทต่อลิตร และ แก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 1.20 บาทต่อลิตร ส่วนน้ำมันอี 20 และอี 85 เมื่อไม่มีการนำเงินกองทุนน้ำมันไปจ่ายอุดหนุนแล้ว รัฐบาลจะต้องตรวจสอบราคาจำหน่ายที่หน้าโรงกลั่นและค่าการตลาดที่สูงเกินจริง ไม่ให้เกิดการค้ากำไรเกินควรทั้งกับเกษตรกรและผู้บริโภค

3. ให้ยกเลิกโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงสำเร็จรูปที่อิงราคาสมมติว่านำเข้าจากสิงคโปร์ โดยให้ยกเลิกการเก็บค่าพรีเมี่ยม เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าความสูญเสียระหว่างการขนส่ง จากประเทศสิงคโปร์มายังโรงกลั่นในประเทศไทยซึ่งไม่มีจริง และให้รัฐบาลกำหนดราคาจำหน่ายเชื้อเพลิงสำเร็จรูปตามราคาส่งออกจากไทยซึ่งกำหนดโดยกลไกตลาดโลก และให้บริษัทน้ำมันเผยแพร่รายงานต้นทุนที่แท้จริงของโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ

4. ยกเลิกมาตรฐานน้ำมันยูโร 4 และกำหนดให้น้ำมันสำเร็จรูปไทยเป็นมาตรฐานเดียวกันกับกลุ่มประเทศอาเซียน (ยูโร 2) เนื่องจากมาตรฐานน้ำมันยูโร 4 เป็นมาตรฐานที่สูงเกินจำเป็น เป็นภาระต่อประชาชน และยังเป็นการกีดกันทางการค้าน้ำมันในภูมิภาคอาเซียนซึ่งขัดกับหลักการของ AEC

ด้านการอนุรักษ์พลังงานและการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน

1. ให้ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ใช้พลังงานทุกภาคส่วนทั้งภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม

2. ให้ออกกฎหมายพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ที่มีหลักการสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตพลังงานหมุนเวียนทุกรูปแบบ สามารถขายเข้าระบบไฟฟ้าได้ก่อนพลังงานกลุ่มฟอสซิล (ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน) โดยไม่มีการจำกัดปริมาณ เป็นสัญญาระยะยาว เพื่อปรับทิศทางการใช้พลังงานหลักของประเทศเป็นพลังงานหมุนเวียน

3. สร้างศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนเพื่อการแปรรูปทรัพยากรและพลังงาน เพื่อการพึ่งพาตนเองในด้านพลังงาน

4. งดเว้นการเก็บภาษีในการนำเข้าอุปกรณ์และประกอบธุรกิจพลังงานหมุนเวียน

5. เปลี่ยนมาตรฐานรถรุ่นใหม่ให้เป็นรถที่สามารถใช้พลังงานได้หลากหลาย (Flexible Fuel Car) ซึ่งสามารถเติมได้ทั้งเบนซินหรือเอทานอล (แอลกอฮอล์) เพื่อเป็นการเข้าสู่การลดการใช้พลังงานฟอสซิลอย่างเต็มตัว

6. เปิดเสรีให้ผู้ผลิตเอทานอลตั้งปั๊มเอทานอล (แอลกอฮอล์) เพื่อรองรับรถยนต์มาตรฐานใหม่
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สนทนาเรื่องการปฏิรูปพลังงาน กับนายอำนาจ พละมี บนเวที คปท. เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล เมื่อช่วงเย็นวันที่ 18 มี.ค. (ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Suriyan Thonghnueid)

กำลังโหลดความคิดเห็น