xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ-ไพบูลย์” เชื่อเอาผิดรัฐบาลปม 2 ล้านล้าน ผ่าน ป.ป.ช.ยาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา (ภาพจากแฟ้ม)
“คำนูณ” ย้ำเอาผิด ครม.ปมกู้ 2 ล้านล้านถูกตีตกยาก เพราะใช้เวลานาน-ไม่มีผลทางการเมือง อีกทั้งจี้ลาออกไร้ผลเพราะอ้างยุบสภาไปแล้ว ยันกู้พัฒนาประเทศไม่ขวาง แต่ต้องทำในระบบงบประมาณ ตรวจสอบได้ สอดคล้อง “ไพบูลย์” บอกมองได้ยาก แค่มุมกฎหมายต่างกัน เรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบทางการเมืองง่ายกว่า

วันนี้ (13 มี.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะหนึ่งในผู้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท กล่าวว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่ากระบวนการตรากฎหมายและเนื้อหาของกฎหมายขัดกับรัฐธรรมนูญ ถือว่ากฎหมายดังกล่าวไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้ต่อไป สำหรับช่องทางในการเอาผิดกับคณะรัฐมนตรีในฐานะผู้เสนอกฎหมาย ส่วนตัวมองว่าต้องไปยื่นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาว่าเป็นการกระทำความผิดทางอาญาหรือไม่ แต่การดำเนินการตามช่องทางนี้จะใช้เวลาค่อนข้างนาน และอาจไม่มีผลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน

“เช่นเดียวกับจะไปเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบก็คงทำได้ยาก เพราะรัฐบาลจะมีข้ออ้างออกมาว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในตำแหน่งคณะรัฐมนตรีแล้วด้วยผลจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร” นายคำนูณกล่าว

นายคำนูณกล่าวว่า จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมานับว่าเป็นการปฎิรูประบบการเงินการคลังครั้งใหญ่ เพราะศาลได้วางแนวทางไว้ว่าการกู้เงินจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นการดำเนินการภายใต้ระบบงบประมาณที่ผ่านมาการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 และ 170 โดยจะไม่สามารถไปออกกฎหมายเพื่อกู้เงินที่เป็นเงินแผ่นดินมาใช้นอกระบบงบประมาณได้

นายคำนูณกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ในประเด็นนี้ทำให้เกิดการตีความต่อไปว่าการจะใช้เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาทที่รัฐบาลได้กู้มาแล้วตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศจะต้องดำเนินการภายใต้กรอบงบประมาณตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 หรือไม่ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเอาไว้แล้วว่าเงินกู้ถือเป็นเงินแผ่นดินที่ต้องใช้จ่ายภายใต้เงื่อนไขมาตรา 169 ซึ่งมาตรา 169 บัญญัติให้การจ่ายเงินแผ่นดินต้องทำเป็นกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายเท่านั้น

“ส่วนตัวไม่เคยขัดขวางการกู้เงินเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ แต่การกู้เงินนั้นจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย และตามระบบงบประมาณที่ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถตรวจสอบได้ ดังนั้น หากในอนาคตถ้ารัฐบาลใหม่จะกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต้องดำเนินการผ่านการตั้งงบประมาณขาดดุลไว้ในงบประมาณประจำปี เพื่อไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน เรียกร้องให้มีการตรากฎหมายการเงินการคลังของรัฐเพื่อกำหนดกรอบวินัยการเงินการคลังด้วยหลังจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 ได้บัญญัติเอาไว้ แต่ยังไม่มีรัฐบาลชุดไหนดำเนินการเสนอกฎหมายเข้าสภา” นายคำนูณกล่าว

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และ กลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า การเอาผิดทางอาญาต่อรัฐบาลในเรื่องนี้ผ่านคณะกรรมการ ป.ป.ช. คงทำได้ยาก เพราะเห็นว่าการเสนอกฎหมายการเงินถือเป็นอำนาจของรัฐบาลที่สามารถกระทำได้ แม้ต่อมากฎหมายดังกล่าวจะขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายเป็นโมฆะ แต่อีกด้านหนึ่งย่อมมองได้ว่าเป็นเรื่องของมุมทางกฎหมายที่แตกต่างกันระหว่างรัฐบาลและศาลรัฐธรรมนูญ จึงคิดว่าการจะดำเนินการต่อรัฐบาลต่อไปควรเป็นไปในแนวทางของการเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความผิดชอบทางการเมืองมากกว่า

“จากพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น มองได้ยากว่ารัฐบาลได้กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ เพราะการเสนอกฎหมายนั้นเป็นอำนาจของรัฐบาลอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญ แม้ต่อมากฎหมายดังกล่าวจะขัดกับรัฐธรรมนูญก็ตาม ซึ่งกรณีนี้ไม่เหมือนกับการเอาผิดอดีต ส.ส. และ ส.ว.จำนวน 308 คนที่ร่วมกันเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกรณีดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าเป็นการใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย และนอกจากนี้ ในมาตรา 68 ยังกำหนดให้สามารถเอาผิดทางอาญาต่อผู้กระทำความผิดได้ด้วย” นายไพบูลย์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น