xs
xsm
sm
md
lg

“สุรนันทน์” ตะแบงรัฐบาลต้องอยู่รักษาการ ย้อนถ้าพ้นเก้าอี้ไปแล้ว ครม.ใหม่จะมาจากไหน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
เลขาธิการนายกฯ ตะแบงรัฐบาลต้องอยู่รักษาการจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ อ้างที่ระบุตามรัฐธรรมนูญเป็นเพียงแค่เร่งรัดให้เลือกตั้งไม่เนิ่นช้า ย้อนกลับถ้าพ้นไปแล้ว ครม.ชุดใหม่มาจากไหน ยันตั้งนายกฯ ไม่ชอบด้วยประเพณีการปกครอง

วันนี้ (7 มี.ค.) นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสถานะของรัฐบาลจะพ้นการรักษาการหรือไม่ หลังรัฐธรรมนูญมาตรา 127 กำหนดให้เรียกประชุมรัฐสภา ภายหลังการเลือกตั้ง 30 วัน ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องอยู่รักษาการจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 181 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ดังนั้น จึงชัดเจนว่าคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง เพราะเหตุที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะรับหน้าที่ และไม่มีบทบัญญัติในมาตราใดของรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ให้เข้าใจเป็นอย่างอื่นได้

นายสุรนันทน์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่อ้างว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 127 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก” เพื่อทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรคหนึ่ง นั้น เมื่อไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบตามจำนวนที่จะเรียกประชุมรัฐสภาได้ภายใน 30 วัน รัฐธรรมนูญมาตรา 93 วรรค 6 ก็ได้บัญญัติทางแก้ไว้ว่า “ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึง 480 คน แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร แต่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ครบจำนวนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ภายใน 180 วัน และให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่”

เลขาฯ นายกฯ กล่าวต่อว่า จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติมาตรา 127 วรรค 1 ก็ดี มาตรา 172 วรรค 1 ก็ดี และมาตรา 93 วรรค 6 ก็ดี ทั้งหมด เป็นเพียงบทเร่งรัดให้การเลือกตั้งต้องเป็นไปโดยไม่เนิ่นช้า และเมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว ก็ต้องมีการเลือกสรรนายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยไม่ชักช้าเช่นกัน แต่ไม่ได้กำหนดบทบังคับว่าหากดำเนินการไม่ได้ภายในกำหนดเวลาใดเวลาหนึ่งข้างต้นแล้ว ผลจะเป็นเช่นไร

นายสุรนันทน์ กล่าวด้วยว่า การจะตีความกฎหมายว่าหากดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ตามกำหนดเวลาข้างต้น ซึ่งเป็นเหตุให้ไม่สามารถเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ได้ จะเป็นผลทำให้คณะรัฐมนตรีที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามมาตรา 181 ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ และไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ต่อไป เป็นการตีความที่ไม่มีบทกฎหมายใดรองรับ และจะเกิดผลประหลาดขึ้นด้วยว่าหากตีความเช่นนั้นแล้ว คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะมีที่มาจากที่ใด เพราะรัฐธรรมนูญวางหลักว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ และยังไม่มีการเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎร การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยเลือกสรรหรือเสนอชื่อจากผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และไม่ได้กระทำโดยสภาผู้แทนราษฎร ย่อมไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้มาตราใดรองรับ และไม่ชอบด้วยประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

“หากมีข้อขัดข้องในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่อาจทำได้เสร็จสิ้นในกำหนดเวลาตามมาตรา 127 วรรคหนึ่งก็ดี หรือมาตรา 93 วรรค 6 ก็ดี ย่อมเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะต้องดำเนินการแก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องต่างๆ และจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้สำเร็จลุล่วง การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่เป็นเหตุที่จะให้คณะรัฐมนตรีที่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 181 ของรัฐธรรมนูญต้องพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่แต่ประการใด” นายสุรนันทน์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น