อดีต ส.ส.พท.ชี้แนวคิด กกต.ให้มี พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง ถึงรับสมัคร ส.ส.เขตปัญหาได้ โมฆะหรือไม่ให้ศาลวินิจฉัย เข้าหลักที่บัญญัติ ต่างองค์กรมีหน้าที่ตามรธน.ย้อน ครม.ไม่ทำรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา อ้างยังไม่มี ส.ส.อย่าลืมยังมี ส.ว.เป็นเหตุให้ กกต.ไม่มีทางรับรอง ส.ส.ทัน รบ.ไม่ทำหน้าที่ไร้ความชอบธรรมรักษาการ ส่อเข้าข่ายได้อำนาจปกครองไม่ตาม รธน.
วันนี้ (6 มี.ค.) นายประเกียรติ นาสิมมา อดีต ส.ส.และอดีตคณะทำงานกฎหมายพรรคเพื่อไทย ส่งข้อความผ่านทางอีเมลถึงผู้สื่อข่าว ระบุถึงประเด็น พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ที่เป็นปัญหา โดยเนื้อหาระบุถึงประเด็นข้อถกเถียงการจัดการเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 ให้แล้วเสร็จว่า บุคคลใด องค์กรใดจะต้องทำหน้าที่ใดเพื่อการคานอำนาจถ่วงดุลอำนาจให้ได้ดุลยภาพซึ่งกันและกัน มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว แต่เหตุการณ์วันนี้มีความไม่เข้าใจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งของ 28 เขตที่ยังไม่ได้ดำเนินการเลือกตั้งนั้น จนนำไปสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความ เพราะ ครม.เห็นว่าพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้งทั่วไปจะตราขึ้นมาใหม่ซ้ำกับวันที่ 2 ก.พ.57 ไม่ได้ เพราะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 108 จึงให้ กกต.ไปออกระเบียบเองต่อไป แต่ กกต.เห็นต่างว่าแม้จะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ก็ต้องมี พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่จึงจะดำเนินการรับสมัครและเลือกตั้ง ส.ส.ใน 28 เขตนั้นได้ ส่วนการเลือกตั้งจะเป็นโมฆะหรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย แนวคิดของ กกต.จึงเข้าหลักการที่บัญญัติไว้ว่า ต่างองค์กรต่างมีหน้าที่และต้องทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
นายประเกียรติ ระบุต่อว่า ยังมีอีกปัญหาหนึ่งคือ วันทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญทั่วไปของรัฐสภาตามมาตรา 127 และ 128 อันเป็นหน้าที่สำคัญของ ครม.และนายกรัฐมนตรีรักษาการ ต้องนำความกราบบังคมทูลฯพระมหากษัตริย์เพื่อตรา พ.ร.ฎ.ให้การทำรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกภายใน 30 วันนับจากวันเลือกตั้งทั่วไป คือ นับจากวันที่ 2 ก.พ.57 โดยให้นับวันที่ 2 ก.พ.เป็นวันแรก เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ให้นับแต่วันเลือกตั้ง แต่ ครม.และนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ทำ โดยอ้างเหตุผลว่า กกต.ยังทำหน้าที่ตามมาตรา 93 ยังไม่เสร็จ ยังไม่มี ส.ส.ที่จะเรียกให้มาประชุมเป็นครั้งแรก
“เรื่องการจะมีหรือไม่มี ส.ส.ตามมาตรา 93 เป็นหน้าที่ของ กกต. หน้าที่ ครม.คือ การขอตรา พ.ร.ฎ.กำหนดวันเรียกให้สมาชิกไปประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไปครั้งแรกและทำรัฐพิธีภายใน 30 วัน นับจากวันเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งวันสุดท้ายคือวันที่ 3 มี.ค.57 และ ครม.ต้องไม่ลืมว่า ส.ว.ก็เป็นสมาชิกรัฐสภาและต้องประชุมทำหน้าที่ต่อไปหลังจากเปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญทั่วไป และ ส.ว.เหล่านั้นก็ยังรอทำหน้าที่ของเขาอยู่” นายประเกียรติ ระบุ
นายประเกียรติ ระบุอีกว่า เมื่อไม่มีการทำรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก จึงไม่มีวันเริ่มต้นให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 คือให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้เสร็จภายใน 30 วัน นับจากวันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกตามมาตรา 127 โดยเวลาที่เหลือถึงวันที่ 2 เม.ย.57 กกต.คงจะไม่มีทางประกาศรับรองให้มี ส.ส.ตามมาตรา 93 ได้
“เมื่อใคร องค์กรใดมีหน้าที่โดยเฉพาะ ครม.และนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ทำดังที่กล่าวแล้วข้างต้น แต่ไม่ทำหน้าที่สำคัญนั้น ย่อมไม่มีความชอบธรรมที่จะทำหน้าที่รักษาการ ครม.และรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไป และอาจเข้าข่ายการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ใน รธน.นี้ได้” นายประเกียรติ ระบุ