xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลเมินกฎ30วันยันรักษาการต่อ เว้นปฏิวัติ-ศาลสั่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ นายไทกร พลสุวรรณ อดีตแกนนำ กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ(กปท.) ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสภาพการเป็นรัฐบาลรักษาการ รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น ตนมองว่าเป็นเกมการเมือง หวังทำลายความน่าเชื่อถือ ซึ่งเรื่องนี้ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ตรวจสอบแล้วว่า ถ้านับจากวันเลือกตั้ง 30 วัน ถึงวันที่ 4 มี.ค. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 127 ไม่ได้ตีความมาตราเดียว ยังมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ ระบุให้รัฐบาลทำหน้าที่รักษาการ จนมีรัฐบาลชุดใหม่ ไม่ได้มีการกำหนดอายุรัฐบาลเอาไว้ ฉะนั้นทีมกฎหมายมองว่า รัฐบาลยังไม่หมดอายุ ยังรักษาการต่อไปได้ไม่มีปัญหา
อย่างไรก็ตาม ขอเรียกร้องไปยังกกต. ให้รีบดำเนินการเลือกตั้งในส่วนที่เหลือให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ สำหรับกรณีที่กกต. ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ การออกพ.ร.ฎ.เลือกตั้งนั้น มองว่าเป็นการซื้อเวลา โยนภาระไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องนี้ กกต.สามารถดำเนินการได้เองอยู่แล้ว
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ(ศรส.) แถลงพร้อมแจกเอกสารชี้แจง กรณีข้อถกเถียงว่า กรณีปัญหาการจัดเลือกตั้ง 28 เขตไม่ได้ รวมทั้งนายกรัฐมนตรี จะต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ หากไม่สามารถเรียกประชุมสภาครั้งแรกได้ภายใน 30 วันหลังการเลือกตั้ง ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะไม่พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 บัญญัติเป็นกรณี เฉพาะว่า ต้องอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่ และการบริหารราชการแผ่นดิน ต้องมีความต่อเนื่อง โดยไม่มีสุญญากาศ นอกจากนี้ยังไม่มีบทบัญญัตว่าครม.จะต้องพ้นตำแหน่งเมื่อใด
ส่วนกรณีการซาวเสียงเลือกตั้งนายกฯ ตามมาตรา 172 จะต้องทำภายใน 30 วัน นับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก แต่เมื่อไม่สามารถเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกได้ ตามมาตรา 127 ก็ถือว่าเงื่อนเวลา 30 วัน ที่กำหนดไว้ดังกล่าว ยังไม่เริ่มต้นนับหนึ่งได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงยังไม่พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เพราะยังไม่มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า สำคัญที่สุดรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 วรรคหก จะต้องดำเนินให้มีสภาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ครบตามจำนวนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญภายใน 180 วัน จึงเป็นหน้าที่ของกกต. จะต้องดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนกราษฎรให้ครบจำนวน 180 วัน และยืนยันรัฐบาลไม่สามารถ ตราพ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ เพราะจะเป็นการออก พ.ร.ฎ.ซ้อน ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 108 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า การยุบสภาจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียว กัน ดังนั้นเมื่อกกต.อ้างอุปสรรคเหตุขัดข้องในการจัดการเลือกตั้ง มีมูลเหตุจากกลุ่มประท้วงขัดขวางการเลือกตั้ง ควรแก้ไขที่ต้นเหตุ และขอให้รับแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ไม่ใช่ตั้งแง่กับรัฐบาล
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะหมดหน้าที่ ในวันที่ 4 มี.ค. ว่า ข้อกำหนดให้เปิดประชุมรัฐสภาภายใน 30 วัน หลังจากมีการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 2 ก.พ.นั้น เป็นข้อกำหนดในการเลือกตั้งปกติ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ปกติ มีปัญหาขัดขวางการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งไม่แล้วเสร็จ จึงต้องมาดูรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องว่า จะต้องมีการเลือกตั้ง ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งก็ต้องดูว่า กกต.จะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งแล้วเสร็จตามที่กำหนด และเมื่อยังไม่มีรัฐบาลชุดใหม่ รัฐบาลชุดนี้ต้องรักษาการต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ ที่มาจากการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ หากจะมีครม.อื่นมารับหน้าที่ได้โดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็จะเกิดได้สองทางเท่านั้น คือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ครม.ปัจจุบันพ้นหน้าที่ไป และมีการทำรัฐประหาร
"ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ครม.ชุดปัจจุบันพ้นหน้าที่ ผมก็จะไม่ทำหน้าที่รมว.ศธ.ต่อ แต่ก็ต้องดูว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะกล้าวินิจฉัยไปในทางที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นเรื่องแล้วแต่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่บ้าระห่ำถึงขั้นวินิจฉัยแบบขัดรัฐธรรมนูญ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทบ.)ไม่บ้าระห่ำทำรัฐประหาร ครม.ชุดปัจจุบันก็จะทำหน้าที่ต่อไป ผมก็จะทำหน้าที่ รมต.ศึกษาฯต่อไป จนกว่าจะมีครม.ใหม่ที่มาจากการลือกตั้ง ดังนั้นใครที่คิดว่าเรื่องจะจบเร็วๆ ก็ควรจะเข้าใจว่า จะไม่จบง่ายๆ จะหวังว่าเดี๋ยวศาลก็วินิจฉัยออกมาว่าครบ 30 วัน แล้วครม.ชุดนี้ก็จะต้องออกไปแบบง่ายๆ จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน" นายจาตุรนต์ กล่าว กล่าวและว่า หากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ชี้มูล และศาลรัฐธรรมนูญมีการวินิจฉัยถอดถอนนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง รัฐมนตรีคนอื่นๆ ก็จะยังอยู่ ตนก็จะทำงานต่อ ไม่ใช่ต้องพ้นตามไปด้วย
ต่อข้อถามว่า การแสดงความเห็นนี้จะเป็นการพูดดักคอศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่ารัฐมนตรีก็มีสิทธิ์พูดดักคอ และวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องใช้อำนาจหน้าที่ก้าวก่ายศาลรัฐธรรมนูญ แต่ใช้สิทธิ์ในการวิพากษ์วิจารณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น