“ผู้ตรวจการแผ่นดิน” เผยอาจารย์นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาเสนอความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ เผยคำร้องแตกต่างจาก “วิรัตน์” อดีต ส.ส.ปชป. เพราะร้องเมื่อการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว ระบุวันเลือกตั้งคนละวันทั่วราชอาณาจักร การสมัครไม่เที่ยงธรรม นับคะแนนทุกเขตทำคนเลือกตั้งที่หลังทราบผลก่อนการลงคะแนน ส่วนวันเลือกตั้งใหม่จะเป็นบัตรเสีย หนำซ้ำ กกต.ปล่อยให้ “ยิ่งลักษณ์” ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินสร้างความได้เปรียบ
วันนี้ (19 ก.พ.) นายรักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา นายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้พิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 244 (1) (ค) ประกอบมาตรา 245 เสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การจัดการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นโมฆะ เนื่องจากเห็นว่ามีการดำเนินการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
โดยเนื้อหาคำร้องจะมีความแตกต่างจากคำร้องของนายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นให้ผู้ตรวจการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง ส.ส. 2 ก.พ. เป็นโมฆะและผู้ตรวจวินิจฉัยไม่รับคำร้อง โดยคำร้องของนายกิตติพงศ์จะเป็นการร้องเมื่อการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ผ่านไปแล้ว แต่ของนายวิรัตน์เป็นการร้องก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามคำร้องจึงมีความแตกต่างกัน ซึ่งที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินก็คงต้องนำความแตกต่างนี้มาพิจาณาว่าจะสามารถมีความเห็นและเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างที่ผู้ร้องเสนอได้หรือไม่ ขณะนี้จึงให้ทางสำนักงานเร่งศึกษาคำร้อง เพื่อเสนอให้ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณา ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีการประชุมทุกวันอังคารของสัปดาห์ แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะมีการเสนอต่อที่ประชุมผู้ตรวจได้ทันการประชุมในวันอังคารหน้าหรือไม่
เมื่อถามว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 ให้อำนาจผู้ตรวจส่งเรื่องของ กกต. ที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญตามนัยรัฐธรรมนูญมาตรา 244 (1) (ค) ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ นายรักษเกชากล่าวว่า ตามหลักแล้วเมื่อมีการยื่นคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะต้องพิจารณาก่อนว่าผู้ถูกร้องอยู่ในอำนาจที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ ซึ่งกรณีนี้เป็นการร้องการทำหน้าที่ของ กกต.ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อนหน้านี้ในคำร้องของนายวิรัตน์ ผู้ตรวจฯ วินิจฉัยแล้วว่า กกต.เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 244 (1) (ค) ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่เกี่ยวกับการส่งเรื่องให้ศาลวินิจฉัย
ทั้งนี้ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 245 ที่ให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยนั้น บัญญัติไว้เฉพาะว่า (1) คือ กรณีบทบัญญัติแห่งกฎหมายมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ กับ (2) กรณี กฎ หรือคำสั่งหรือการกระทำของบุคคลตามมาตรา 244 (1) (ก) คือข้าราชการของรัฐ หน่วยงานของรัฐเท่านั้นที่ให้ส่งศาลปกครองวินิจฉัย ไม่ได้หมายรวมองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 244 (1) (ค) ด้วย แต่ทั้งนี้เนื้อหาตามคำร้องมีความแตกต่างของข้อเท็จจริง จึงต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ตรวจการแผ่นดินว่าจะวินิจฉัยอย่างไร”
รายงานข่าวแจ้งว่า เนื้อคำร้องของนายกิตติพงศ์ ที่เห็นว่าการดำเนินการจัดการเลือกตั้งของ กกต.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น ประกอบด้วย การที่ 28 เขตเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ไม่มีผู้สมัครทำให้การเลือกตั้งทั่วไปมี 2 วัน วันแรก 2 ก.พ.มี 347 เขตเลือกตั้ง และอีกหนึ่งวันที่จะมีการจัดเลือกตั้งใน 28 เขตเลือกตั้ง จึงทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 108 และยังขัดต่อหลักการของประชาธิปไตยแบบผู้แทน ย่อมส่งผลให้ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งต่างวาระกัน มีฐานทางกฎหมายและความชอบธรรมของการเป็นผู้แทนที่แตกต่างกัน
ขณะเดียวกัน การสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ไม่เที่ยงธรรม โดยการสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคการเมืองที่ไม่สามารถเข้าไปยังสถานที่รับสมัครได้ ไปแจ้งความไว้ที่กองปราบปรามหรือ สน.ดินแดง ซึ่งไม่ใช่สถานที่รับสมัครเลือกตั้งตามที่ กกต.ได้ประกาศให้ทราบล่วงหน้าไว้ ถือเป็นการเลือกปฏิบัติให้ตัวแทนพรรคการเมืองได้สิทธิในการจัดสลากหมายเลข และในการรับสมัคร ส.ส.เขต บางจังหวัดยังมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่รับสมัครโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ทำให้มีจำนวนถึง 16 เขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียว
นอกจากนี้ การนับคะแนนเสียงเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้งหลังสิ้นสุดระยะเวลาลงคะแนนในวันที่ 2 ก.พ. ทำให้ผู้ที่จะมาเลือกตั้งหลังวันดังกล่าวทราบผลการเลือกตั้งก่อนการลงคะแนน ทำให้เกิดผลกระทบต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงและเกิดความไม่เที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง ขัดต่อหลักความเสมอภาคและโอกาสที่ทัดเทียมกันของผู้สมัครรับเลือกตั้ง อีกทั้งการให้นับคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. จะทำให้การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าและการเลือกตั้งทั่วไปที่เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 20 และ 27 เม.ย. 2557 เป็นอันไร้ผล เพราะบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะกลายเป็นบัตรเสียตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง
และประการสุดท้าย กกต.ปล่อยปละละเลยให้มีการใช้อำนาจรัฐก่อให้เกิดความได้เปรียบของผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทย ได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ 4 จังหวัด โดยมีการออกประกาศหลายฉบับที่มีผลโดยตรงต่อการทำให้เกิดความไม่เสมอภาคและความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้ง