xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ ปัดส่งคำร้อง ปชป.เลือกตั้งโมฆะ ศาล รธน. เหตุ กกต.ไม่ใช่ จนท.รัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน(แฟ้มภาพ)
โฆษกผู้ตรวจฯ แจง กกต.จัดเลือกตั้งตาม พ.ร.ฎ.ยบุสภา เป็นอำนาจหน้าที่ คำร้อง “วิรัตน์” ขอให้ส่งเรื่องถึงศาล รธน.ให้เลือกตั้งโมฆะจึงตกไป จะยื่นศาล รธน.เองหรือไม่ อยู่ที่คนร้อง แจงไม่ส่งแบบปี 49 เหตุ รธน. 40 กับ 50 ต่างกัน ชี้ กกต.ไม่ได้เป็นบุคคลตาม ม.244 (1) (ก) ถึงส่งได้ก็ไปศาลปกครองแทน ไม่ได้ส่งศาล รธน. ตามที่ผู้ร้องขอ

วันนี้ (7 ก.พ.) นายรักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินกรณีที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 31 มกราคม ขอให้พิจารณาส่งเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์เป็นโมฆะว่า กรณีตามคำร้องเรียนที่อ้างว่า การกำหนดวันทดแทนวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 23 ก.พ. ทำให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่ได้เป็นการเลือกตั้งภายในวันเดียวทั่วราชอาณาจักรขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 108 และการต้องกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.ขึ้นใหม่ใน 28 เขตเลือกตั้งภาคใต้ ทำให้ขัดต่อหลักความเสมอภาคตามมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญ การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงการใช้อำนาจดำเนินการต่างๆ ตามพระราชกำหนดว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต เที่ยงธรรม และสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ไม่อำนวยให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างเสรี ทำให้ผลการเลือกตั้งไม่สามารถสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชนได้ ขัดต่อเจตนารมณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภา อันเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรรมการการเลือกตั้ง ตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญ มิใช่เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำอื่นใดของข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ ตามนัยมาตรา 244 (1) (ก) ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 245 ของรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่อาจเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญตามที่นายวิรัตน์ยื่นคำร้องได้ และถือว่าคำร้องตกไป ส่วนนายวิรัตน์จะไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเองหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนายวิรัตน์เอง

เมื่อถามว่าเหตุใดผู้ตรวจฯจึงวินิจฉัยเรื่องนี้แตกต่างจากเมื่อครั้งส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย. 49 เป็นโมฆะ นายรักษเกชา กล่าวว่าตอนปี 49 ใช้รัฐธรรมนูญ 40 ซึ่งมาตรา 198 บัญญัติไว้รวมๆ ว่ากรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ขอบังคับ หรือการกระทําใดของบุคคล มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้ผู้ตรวจ การแผ่นดินของรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลปกครอง แล้วแต่กรณี ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาในขณะนั้นก็ได้ให้ดุลยพินิจพิจารณาว่าตามคำร้องที่ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย. 49 เป็นโมฆะมีปัญหาความชอบเรื่องของกฎที่กกต.ได้ออกจึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

แต่ในครั้งนี้รัฐธรรมนูญ 50 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการส่งเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยไว้ในมาตรา 245 โดยมีการแยกไว้อย่างชัดเจนว่า (1)หากเป็นเรื่องบทบัญญัติแห่งกฎหมายมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ (2) หากเป็นเรื่องกฎ คำสั่งหรือ การกระทำอื่นใดของบุคคลตามมาตรา 244 (1) (ก) ให้ส่งศาลปกครองวินิจฉัย ซึ่งเมื่อพิจารณาประเด็นตามคำร้องที่นายวิรัตน์ ยื่นแล้วแม้จะอ้างว่าพ.ร.ฎ.ยุบสภาและกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อดูเหตุผลที่ยกมาอ้างแล้วทั้งการที่บอกว่า การกำหนดวันทดแทนวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร การออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้การจัดการเลือกตั้งอาจไม่สุจริตเที่ยงธรรม แต่ละประเด็นเป็นเรื่องการกระทำของ กกต. ซึ่ง กกต.ไม่ได้เป็นบุคคลตามมาตรา 244 (1) (ก) ที่อยู่ในอำนาจที่ผู้ตรวจจะส่งเรื่องให้ศาลพิจารณาได้

“กรณีนี้หาก กกต.เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจที่ผู้ตรวจฯส่งเรื่องได้ เรื่องก็ต้องส่งไปศาลปกครอง ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญตามที่นายวิรัตน์ร้องอีก และเมื่อนายวิรัตน์ร้องให้ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ร้องให้ส่งศาลปกครอง ผู้ตรวจก็ส่งคำร้องไม่ได้อยู่ดี”


กำลังโหลดความคิดเห็น