เพื่อไทย ตะแบง กกต.ไม่มีอำนาจร้องศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยกรณีเลื่อนวันเลือกตั้ง ดักคอไว้ก่อนพวกล้มเลือกตั้งค่าพิมพ์บัตร-เตรียมการใครจะจ่าย อาจารย์เสื้อแดงผู้สมัคร ส.ส.อ้างไม่เข้าข่ายมาตรา 214 เย้ยไม่กระทบ “ปู”
วันนี้ (23 ม.ค.) ที่พรรคเพื่อไทย นายโภคิน พลกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย แถลงกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง กกต.ที่ให้วินิจฉัยกรณีความขัดแย้งระหว่าง ครม.กับ กกต.ในการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และศูนย์อำนวยการการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย วิเคราะห์ร่วมกันเห็นว่า กกต.ไม่มีอำนาจร้องศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวด้วยเหตุผล 9 ข้อ คือ 1.รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้องค์กรใดมีอำนาจเลื่อนการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งกรณีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการตราพระราชกฤษฎีกา 2.เป็นการไม่บังควรอย่างยิ่งที่การเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นยังไม่เกิดขึ้น กลับจะไปทูลเกล้าฯให้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ เพื่อเลื่อนการเลือกตั้งทั่วไป 3.มาตรา 78 พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.และการได้ซึ่งมา ส.ว.ให้อำนาจ กกต.กำหนดวันลงคะแนนใหม่ ในกรณีการลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งใดไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่น ซึ่งหมายถึงเฉพาะหน่วยเลือกตั้งที่มีปัญหา ไม่ใช่การเลื่อนวันเลือกตั้งทั่วไป 4.กกต.ไม่มีสิทธิเสนอเรื่องการเลื่อนเลือกตั้งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัย เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 214 ให้ทำได้เฉพาะกรณีความขัดแย้งเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา ครม. หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่กรณีนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างครม.กับ กกต.เพราะเป็นเรื่องของพระราชอำนาจ ไม่ใช่อำนาจของ ครม.โดยตรง
นายโภคิน กล่าวว่า 5.เรื่องการเลื่อนเลือกตั้ง เป็นความคิดเห็นของ กกต.ที่ต้องการเลื่อนการเลือกตั้ง ขณะที่หลายฝ่ายเห็นว่า ต้องมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 จึงมิใช่ประเด็นความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ 6.ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.53 ว่า ต้องเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรตั้งแต่ 2 องค์กรขึ้นไป ถ้าเป็นเพียงความเห็นต่างกันเกี่ยวกับการตีความกฎหมาย ย่อมไม่ใช่ความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่าง 2 องค์กร 7.ดูเหมือนเป็นขบวนการร่วมมือกันหลายฝ่าย ทั้งการกระทำที่ผิดกฎหมายและองค์กรต่างๆ ที่จะไม่ให้มีการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.57 ซึ่งฝ่ายที่ไม่ให้เกิดการเลือกตั้งต้องรับผิดชอบต่อผลที่จะเกิดขึ้น 8.มีบุคคลหลายกลุ่มยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.และพวกว่า กระทำการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 แต่ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง โดยไม่ไต่สวน 9.ถ้ามีการเลื่อนการเลือกตั้ง ใครจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแล้ว ทั้งค่าพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ค่าเตรียมการต่างๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายของผู้สมัครที่ใช้จ่ายไปแล้ว
ทางด้าน นายพนัส ทัศนียานนท์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีดังกล่าวไม่เข้าข่ายรัฐธรรมนูญ มาตรา 214 แน่นอน เพราะที่ผ่านมา กกต.ไม่ได้อ้างว่าตัวเองมีอำนาจ แต่ยืนยันมาเสมอว่าอยากให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งออกไป การที่ กกต.มีท่าทีเช่นนี้ เพราะได้คำปรึกษาจากที่ปรึกษากฎหมายคนใหม่ที่เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 50 มากับมือได้ให้ความเห็นมาใช่หรือไม่ เพราะเห็นว่ารัฐบาลไม่ยอมเลื่อนการเลือกตั้ง จึงเอาอำนาจมาเป็นของ กกต.เสียเลย มองว่าหากวันที่ 24 ม.ค. ศาลวินิจฉัยให้อำนาจ กกต.เลื่อนเลือกตั้งออกไป ก็อาจจะเป็นวันที่ 2 พ.ค.แต่หากถึงตอนนั้นก็อาจมีการสร้างเหตุการณ์อะไรขึ้นมา ให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก สุดท้ายก็จะไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ไม่มีผลกระทบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพราะต้องทำหน้าที่รักษาการนายกฯ จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 24 ม.ค.เวลา 14.00 น.คณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทยได้เรียกประชุมเพื่อหารือถึงแนวทางการรับมือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วย