xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด มท.พูดเป็นนัย วันนี้ยังมีการเลือกตั้ง แต่ต่อไปไม่รู้ กกต.ชี้อุปสรรคเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิบูลย์ สงวนพงศ์ (แฟ้มภาพ)
ปลัดมหาดไทย เรียกปลัดจังหวัด-นายอำเภอ ทำทุกวิถีทางให้มีการเลือกตั้ง รับหนักใจ แต่ต้องทำตามหน้าที่ พูดเป็นนัยวันนี้ยังมีการเลือกตั้ง แต่หลังจากนี้ไม่มีก็ไม่มี ทุกอย่างหมุนไปตามเวลา ขณะเดียวกันทำหนังสือให้ทุกจังหวัดรับมือ กปปส.ยกระดับปิดสถานที่ราชการ ด้าน กกต.บอกหากการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.ผ่านไปได้ ไม่เก่งก็เฮง เผยอุปสรรคอื้อ ทั้ง กก.ประจำหน่วยไม่มี หรือมีแต่ไม่ยอมมารับบัตรเลือกตั้ง แถมหาที่เก็บหีบบัตรไม่ได้

ที่หอประชุมกองทัพเรือ วันนี้ (20 ม.ค.) นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานมอบนโยบายการประชุมปลัดจังหวัด นายอำเภอ เตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนการเลือกตั้ง ส.ส. โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ขอให้ทุกคนสนับสนุนให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพแม้ในหลายพื้นที่มีปัญหา สิ่งที่อยากจะกำชับคือขอให้จังหวัดและอำเภอ รักษาความสงบเรียบร้อยให้จัดทำแผนเผชิญเหตุการณ์ที่สามารถใช้ปฏิบัติได้จริง ให้ซักซ้อมและปฏิบัติหากพบปัญหาการชุมนุมในวันลงคะแนนเลือกตั้ง

ส่วนการตรวจตรา ปราบปราม การทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง รวมถึงการเตรียมแก้ไขปัญหาการซื้อเสียง การข่มขู่คุกคามผู้สมัคร การสอดส่องซุ้มมือปืนในพื้นที่ และขอเร่งดำเนินการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด ในช่วง 10 วันก่อนการเลือกตั้ง ห้ามมิให้นายอำเภอและปลัดจังหวัดมีการประชุมสัมมนาหรือเดินทางไปสัมมาต่างจังหวัดเพื่อการเตรียมความพร้อมและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้พร้อม

“ขอให้ทุกคนช่วยกันบริหารการปกครองดูแลประชาชนไปตามแต่ละสถานการณ์ให้ดีที่สุด ข้าราชการต้องทำงานหนักมากขึ้น ถ้าข้าราชการไม่ทำงานหนักตามอุดมการณ์ประชาชนจะเดือดร้อน เราต้องเป็นหลักของแผ่นดิน ต้องไม่ย่อท้อ”

นายวิบูลย์กล่าวว่า ในวันเลือกตั้งล่วงหน้า 26 ม.ค. และวันเลือกตั้ง 2 ก.พ. ทำอย่างไรจะให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้ได้ การเลือกตั้งคงมีอุปสรรคตนก็หนักใจ แต่เราต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ณ วันนี้ยังคิดว่าการเลือกตั้งยังมีอยู่ แต่หลังจากนี้ไม่มี ก็ไม่มี ทุกอย่างหมุนไปตามเวลา

นายวิบูลย์กล่าวว่า ส่วนการปิดล้อมสถานที่ราชการในวันนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นต้องดำเนินการตามกฎหมาย ปฏิบัติไม่ได้วันนี้ก็ต้องดำเนินการวันหน้า สิ่งสำคัญคือต้องหาทางบริการประชาชนให้ได้ ส่วนปัญหาม็อบชาวนาตนก็เป็นห่วงเช่นกัน ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดต้องรองรับสถานการณ์ในพื้นที่ และเป็นเรื่องที่รัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการแก้ไข

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิบูลย์ยังได้มอบนโยบาย 8 ข้อให้กับปลัดจังหวัดและนายอำเภอ เช่น ขอให้เน้นศึกษาทำความเข้าใจระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง การวางตัวเป็นกลางในการเลือกตั้ง การเตรียมความพร้อมการบริหารงานทะเบียนและบัตร

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าปลัดกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือข้อสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมีสาระสำคัญคือ ด้วยปรากฏข่าวสารว่าตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. 2557 เป็นต้นไป กลุ่ม กปปส. จะยกระดับการขัดขวางการปฏิบัติราชการ จากการปิดศูนย์ราชการฯ เป็นการปิดสถานที่ราชการทุกแห่ง โดยจะเริ่มดำเนินการในจังหวัดภาคใต้ และจังหวัดอื่นๆ ที่ กปปส.จังหวัด มีศักยภาพในการดำเนินการ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดิน การบริการประชาชน ทั้งเพื่อเป็นการรักษาประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม จึงให้จังหวัดดำเนินการวางแผนและเตรียมการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ส่วนราชการ บริการประชาชนได้เป็นปกติตามความเหมาะสมของแต่ล่ะพื้นที่

โดยให้ระดมสรรพกำลังของทุกฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเต็มความสามารถตามแนวทางของหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย ที่ได้แจ้งซักซ้อมไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ให้จังหวัดรายงานผลการเตรียมการให้กระทรวงมหาดไทยทราบ ทางหมายเลขโทรศัพท์/โทรสาร 0-2577-4919 ภายใน 24.00 น.ของวันนี้ วันที่ 19 ม.ค. 57 และให้รายงานสถานการณ์และการดำเนินการแก้ไขของจังหวัดให้กระทรวงมหาดไทยทราบ ภายใน 17.00 น. ของทุกวัน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

ด้านนายบุญยเกียรติ รักชาติเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวบรรยายถึงการเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ที่ประชุมปลัดจังหวัด นายอำเภอ รับฟัง ตอนหนึ่งว่า เมื่อมี พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง กกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้ได้แม้ว่าจะมีผู้ขัดขวางโดยปัญหาที่ กกต.กังวลและมองว่าจะเป็นปัญหาอุปสรรค คือ 1. กรรมการการเลือกตั้งประจำเขต และผอ.การเลือกตั้งประจำเขตถูกกดดันให้ลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่

2. การหากรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ได้ไม่ครบ ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่เพราะหัวใจของการเลือกตั้งคือการลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง ตรงนี้หลายหน่วยเลือกตั้งหาคนมาเป็น กปน.ไม่ได้ แม้จะมีการทาบทามแล้ว การปิดล้อมโรงพิมพ์บัตรเลือกตั้ง โดยในส่วนนี้ได้พยายามหาโรงพิมพ์ทดแทนเพื่อจัดทำบัตรเลือกตั้งให้ทันตามกำหนดเวลา

3. การขัดขวางการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดในวันที่ 26 ม.ค. เป็นปัญหาที่ต้องระวังป้องกัน โดยประสานหน่วยความมั่นคงช่วยเหลือ 4. หาก กปน.ที่แต่งตั้งแล้วไม่ยอมมารับบัตรเลือกตั้ง และอุปกรณ์จัดการเลือกตั้งจะเป็นปัญหา และ 5. การเก็บรักษาหีบบัตรเลือกตั้ง ที่ลงคะแนนแล้ว ณ ที่เลือกตั้งกลางที่จะลงคะแนนในวันที่ 26 ม.ค. เกิดปัญหาคือบางหน่วยไม่อยากให้เก็บหีบบัตรไว้ ยังหาที่เก็บหีบบัตรไม่ได้ โดยจะต้องเก็บไว้ในที่ปลอดภัย มีเวรยามตลอด 24 ชม. และมีกล้องวงจรปิด

“สิ่งเหล่านี้ถือเป็นขวากหนามในการจัดการเลือกตั้ง จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ซึ่งนอกจากการเลือกตั้ง ส.ส.แล้วในวันที่ 1 มี.ค.นี้ ส.ว.ใน 77 จังหวัดจะครบวาระ ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใน 30 วัน ขณะเดียวกันภายใน 180 วันต้องจัดการเลือกตั้งให้ได้ ส.ส.ครบ 500 คน จึงค่อนข้างจะเกิดความไม่เรียบร้อย ตรงนี้เป็นข้อห่วงใยของ กกต.และสำนักงาน กกต.” นายบุญยเกียรติกล่าวและว่า หากการเลือกตั้งผ่านพ้นวันที่ 2 ก.พ.ไปได้ ถือว่าไม่เก่งก็เฮง เพราะถูกขัดขวางในทุกกระบวนการการขัดขวางการรับสมัคร


กำลังโหลดความคิดเห็น