“สมชัย” เผยที่ประชุม กกต.โยนฝ่าย กม.ดูให้รัฐออก พ.ร.ฎ.วันเลือกตั้งใหม่ หรือออกประกาศเองรับสมัคร 28 เขต คาดโหวตได้ปลาย ก.พ.ห่วงเลือกตั้งล่วงหน้า รับโจทย์เลือกตั้งโมฆะมีหลาย ยักไหล่ “เด็จพี่” ยื่นถอด งงพูดเชิญ “ยิ่งลักษณ์” ไปโฟร์ซีซั่นส์ผิดอะไร ใช้ประชุมออกจะบ่อย ยันไม่ได้ขู่แค่ขอปรึกษา ถ้าไม่คุยกันก็จัดที่เหลือไม่ได้ ไม่ทราบทำไมไม่มา เดตไลน์ 21 ม.ค.วันสุดท้ายได้คุยครบ 5 คน สวนถ้าติดคุกแบบชุด “วาสนา” จะรับผิดชอบหรือไม่ แย้มบัตรโหวตยังเป็นความลับ
วันนี้ (17 ม.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง แถลงภายหลังการประชุม กกต.นอกสถานที่ ว่า กกต.ได้พุดคุยถึง 28 เขตใน 8 จังหวัดภาคใต้ที่ไม่มีผู้สมัคร โดย กกต.มีข้อถกเถียงกันอยู่และยังไม่มีข้อยุติใน 2 ประเด็น คือ การจะออกเป็น พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่โดยรัฐบาล หรือออกเป็นประกาศ กกต.เพื่อดำเนินการรับสมัครใน 28 เขต ซึ่งในประเด็นนี้เราขอให้ฝ่ายกฎหมาย กกต.ไปศึกษาและมารายงานในวันที่ 21 ม.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าทั้ง 2 ประเด็นนี้น่าจะดำเนินการได้หลังวันเลือกตั้ง 2 ก.พ.นี้
“สาเหตุที่ต้องพูดคุยกันว่าจะออกเป็น พ.ร.ฎ.หรือประกาศ กกต.เพื่อไม่ให้การเลือกตั้งใน 28 เขตเสียไป เพราะถ้าใช้ช่องทางผิดจะทำให้เสียหายได้ อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งจะต้องหลัง 2 ก.พ.ไปแล้ว และคาดว่าจะดำเนินการได้ในข่วงปลายเดือน ก.พ.ทั้งนี้ จะต้องเป็นการปรึกษาหารือกันระหว่างรัฐบาลกับ กกต.ถ้ารัฐบาลคุยกับ กกต.เร็วก็จะออกประกาศ พ.ร.ฎ.ได้เร็ว หากคุยกับเราช้า 28 เขตก็จะประกาศให้มีการเลือกตั้งได้ช้าลง ขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อจากรัฐบาล” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวอีกว่า กกต.กังวลใจในสถานที่เลือกตั้งกลางที่จะใช้เลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 ม.ค. โดย กกต.จังหวัดได้หาที่เลือกตั้งกลางได้แล้ว คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าดูจากพื้นที่ต่างๆ แล้ว ไม่ได้ปลอดภัยทั้งหมด ยังเป็นพื้นที่ที่กลุ่มเห็นต่างเข้าไปได้ง่ายในบางพื้นที่ ดังนั้นรัฐบาลต้องดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ภาคใต้ 15 จังหวัด เราเป็นห่วง 13 จังหวัด แต่ที่ไม่ห่วงคือ จังหวัดสงขลา และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วน 13 จังหวัดสิ่งที่ กกต.จังหวัด เสนอมายังเป็นพื้นที่ที่น่าจะมีการคัดค้านจากกลุ่มที่เห็นต่างในการจัดการเลือกตั้ง ดังนั้น กกต.ต้องขอให้รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคง ดูแลความปลอดภัยของผู้มาใช้สิทธิ กกต.เขต และพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วย
นายสมชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับการหากรรมการประจำหน่วย (กปน.) ในวันที่ 22 ม.ค.นี้ กปน.ในที่เลือกตั้งกลางทุกจังหวัด ต้องครบถ้วน ดังนั้น เวลา 16.30 น.ทุกจังหวัดต้องรายงานเข้ามาว่ามีหน่วยใดไม่สามารถหา กปน.ได้ครบถ้วน และวันที่ 23 ม.ค. กกต.จะประชุมกันประกาศว่าหน่วยเลือกตั้งกลางที่ใดไม่สามารถจัดการเลือกได้ เพราะ กปน.ไม่ครบ ทั้งนี้หากไม่มีหน่วยเลือกตั้งกลางการให้สิทธิประชาชนจะทำวันที่ 2 ก.พ.หรือหลังวันที่ 2 ก.พ.ได้หรือไม่ ตรงนี้ยังไม่มีคำตอบ สำหรับการใช้สิทธิล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง ถ้าวันที่ 26 ม.ค.นี้ ไม่สามารถใช้สิทธิล่วงหน้าได้ วันที่ 2 ก.พ.มาใช้ได้ทันที แต่สำหรับผู้ใช้สิทธินอกเขต ขณะนี้ยังไม่มีคำตอบว่าจะได้ใช้สิทธิวันที่ 2 ก.พ.หรือหลังจากนั้นขอให้ฝ่ายกฎหมายไปดูก่อน
นอกจากนี้ในวันที่ 29 ม.ค.นี้ เวลา 16.00 น.ทุกจังหวัดต้องรายงานมาว่า 9.9 หมื่นหน่วยเลือกตั้ง มีหน่วยใดที่ไม่สามารถหา กปน.ได้ หน่วยนั้นจะไม่มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.และจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 9 ก.พ.และถ้าวันที่ 9 ก.พ.ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้อีกก็จะขยับออกไปเรื่อยๆ ส่วนพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด กกต.จะลงไปตรวจเยี่ยมการเตรียมการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า ว่า ที่เลือกตั้งกลางมีความเหมาะสมและอุปสรรคอย่างไร รวมทั้งคุยกับหน่วยงานในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.เป็นต้นไป
นายสมชัย กล่าวว่า ในวันที่ 26 ม.ค.นี้ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งในและนอกเขตจังหวัดนั้น กกต.มีความกังวลในเรื่องของการชุมนุมปิดล้อมสถานที่ลงคะแนน แต่ก็ได้เตรียมการไว้ โดยให้เป็นนโยบายว่า หากไม่สามารถลงคะแนนได้ ก็ให้ผู้อำนวยการประจำหน่วยประกาศยุติการลงคะแนน แต่ในวันที่ 2 ก.พ.นี้ ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งทั่วประเทศนั้น กกต.เป็นห่วงในเรื่องของ กปน.ซึ่งขณะนี้มีหน่วยเลือกตั้งจำนวนหนึ่งมากพอสมควร ที่ไม่สามารถหา กปน.ได้ แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้ กกต.สามารถสั่งให้หน่วยราชการมาช่วยสนับสนุนในการจัดการเลือกตั้ง แต่ กกต.ก็ไม่อยากที่จะทำเช่นนั้น เพราะเหมือนกับเป็นการบังคับ ทำให้เกิดความไม่เต็มใจ ที่ผ่านมาจึงใช้การขอความร่วมมือเป็นหลัก เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี
“โจทย์เลือกตั้งเป็นโมฆะมีหลายโจทย์ โจทย์ที่สำคัญ คือ 28 เขตจะรับสมัครอย่างไร หากยังไม่มีการตกลงระหว่างรัฐบาลกับ กกต.จะล่าช้าไปเรื่อยถ้าตกลงกันเร็วสัปดาห์หน้าก็เรียบร้อย ถ้ารัฐบาลไม่คุยกับเราๆ เราจะทำความเห็นไปยังรัฐบาลให้ตอบหนังสือกลับมาอย่างเป็นทางการ” นายสมชัย กล่าวว่า
ส่วนกรณี นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย จะล่าชื่อยื่นถอดถอน นายสมชัย กล่าวว่า ก็ดำเนินการไปตามขั้นตอน ตรงนี้เป็นเรื่องของเขา กกต.ทำทุกอย่างบนหลักของกฎหมาย และใช้ความพยายามเต็มที่ แต่หลักการจัดการเลือกตั้งเรายึดความเป็นกลาง ทำตามกฎหมาย ไม่ให้เกิดความรุนแรงสังคม ทั้งนี้จะข่มขู่อย่างไรก็ทำได้ แต่ถ้าใช้คำพูดรุนแรงก็อาจจะใช้สิทธิฟ้องหมิ่นประมาทกลับได้
นายสมชัย ยังกล่าวถึงกรณีมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการจะนัดพบนายกรัฐมนตรีที่ รร.โฟรซีซั่นส์ ว่าไม่เหมาะสมว่า โรงแรมโฟรซีซั่นส์มีอะไร ก็เป็นหนึ่งในโรงแรม 5 ดาวที่มีหลายแห่ง การจัดประชุม 3 ครั้งกับพรรคการเมืองก็จัดที่โรงแรมนี้ การประชุม กกต.หลายครั้งก็ใช้สถานที่เป็นโรงแรมในการจัดประชุม การนัดหมายใครต่อใครก็นัดที่โรงแรมนี้ ไม่ได้แปลกอะไร ส่วนชื่อโรงแรมก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ถ้านัดประชุมก็เป็นสถานที่เป็นไปได้ ตนไม่รู้เกิดอะไรขึ้น ทำไมพูดชื่อโรงแรมนี้ไม่ได้ ก็ไม่ทราบผิดอะไร
เมื่อถามว่า มีการมองว่าการพูดในลักษณะเช่นนี้เป็นการขู่นายกฯ นายสมชัย กล่าวว่า คงไม่สามารถไปทำอย่างนั้น แต่ต้องการปรึกษานายกฯเรื่องประเด็นข้อกฎหมาย แต่เราไม่อยากพูดต่อสาธารณะ เพราะอาจมีการขยายความ อย่างกรณี 28 เขตถ้าไม่คุยการเลือกตั้งจะเกิดไม่ได้
ต่อข้อถามว่าศาลฎีกามีคำสั่งแล้วว่า อำนาจการรับสมัครเป็นอำนาจของ กกต.เหตุใดจึงต้องหารือกับรัฐบาลอีก นายสมชัย กล่าวว่า ฝ่ายกฎหมาย กกต.ยืนยันว่าทำไม่ได้ กกต.ไม่มีอำนาจ เมื่อไม่มีการคุย กกต.ก็เดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไปโดยไม่มีการเลือกตั้ง 28 เขต ดังนั้นถ้ารัฐบาลไม่คุยไม่ส่งคนมาคุยไม่ตกลงกัน 28 เขต ก็แช่กันไป 1-4 เดือน จนกว่าจะได้คุยกัน การเดินหน้าเลือกตั้ง เรื่องนี้ก็ไม่จบ เปิดสภาไม่ได้ รัฐบาลก็เป็นรัฐบาลรักษาการต่อไป จะทำอะไรก็ไม่ได้ กกต.ไม่รอบรู้ที่จะตอบโจทย์ทุกเรื่องได้ ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลไม่คุยหรือไม่ติดต่อประสานงานมา เป็นเรื่องแปลกที่รัฐบาลไม่คุยกับ กกต.ตอนนี้ กกต.รอได้ แต่ตนคงไม่อยู่เพราะตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.นี้ กกต.หลายท่านต้องลงพื้นที่ บางท่านต้องไปดูการเลือกตั้งในต่างประเทศ ดังนั้นวันที่ 21 ม.ค.คงเป็นวันสุดท้ายที่ กกต.จะได้คุยกันครบ 5 คน มิฉะนั้นก็ต้องเลื่อนไปเป็นสัปดาห์ถัดไป
“กกต.ต้องหารืออย่างรอบคอบกับรัฐบาล หากเห็นขัดกันต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลมีที่ปรึกษา อาจจะนำเรื่องหารือกับกฤษฎีกาก็ได้ หากไม่มั่นใจก็นำเรื่องส่งกฤษฎีกาชุดใหญ่ และถ้าบอกว่าทำได้ กกต.จะได้มั่นใจ หากเห็นตรงกันก็ดำเนินการต่อ แต่ไม่ใช่ให้นักการเมืองคนใดคนหนึ่ง ออกมาบอกว่าเดินหน้าทำไปเลย หากเราดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วถูกการฟ้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ รัฐบาลจะรับผิดชอบหรือไม่ ถ้าติดคุกจะรับผิดชอบหรือไม่ จำได้หรือไม่ว่าเคยมี กกต.ชุดหนึ่งทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และ กกต.ชุดนั้นต้องติดคุกมาแล้ว ตอนนี้ผมไม่อยากติดคุก ตอนนี้เราไม่พูดเรื่องออกจดหมายเชิญนายกฯมาหารือแล้ว เมื่อวาน (16 ม.ค.) ที่ส่งจดหมายเชิญจะเป็นฉบับสุดท้าย แต่รัฐบาลต้องคิดเองจะมาคุยหรือไม่ ให้นัดหมายมา ตอนนี้เราจัดการเลือกตั้งต่อไปเรื่อยๆ” นายสมชัย กล่าว
เมื่อถามถึงปัญหาการพิมพ์บัตรเลือกตั้งที่มีการมองว่าพิมพ์บัตรเกิน นายสมชัย กล่าวว่า เรื่องนี้ได้ให้สื่อสารกับประชาชนว่าเกิดอะไรขึ้น เขาก็ได้ชี้แจงไปแล้ว ส่วนการพิมพ์บัตรเกิน โดยเฉพาะบัตรเลือกตั้งแบบ ส.ส.บัญชีรรายชื่อ ซึ่งเจ้าหน้าที่ยืนยันแล้วว่าเป็นบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าในต่างประเทศ ที่ผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิจะได้รับบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ ให้ไปลงคะแนนแล้วส่งกลับมา ไม่ใช่บัตรที่รั่วไหลออกมาจาก กกต.เพราะบัตรเลือกตั้งที่จะใช้ในวันเลือกตั้ง 2 ก.พ.นี้ เพราะเป็นคนละสีกัน และสีที่ใช้ในวันเลือกตั้ง ยังคงเป็นความลับ ส่วนการพิมพ์บัตรเกินจำนวน 5.4 แสนฉบับนั้น เป็นการพิมพ์ที่คำนวณตามสัดส่วนของผู้มีสิทธิ เช่น บัตรเลือกตั้งที่จะส่งให้หน่วยเลือกตั้ง 1 เล่มมี 25 ใบ หากหน่วยเลือกตั้งนั้นมีผู้มีสิทธิ 26 คน ต้องจัดส่ง 2 เล่ม ซึ่งนั่นหมายว่าจะมีบัตรเกิน 24 ใบโดยปริยาย ยืนยันว่า ไม่ใช่พิมพ์เกินถึง 20 ล้านฉบับอย่างที่กล่าวหา สาเหตุที่พิมพ์เกินโดยคำนวณเชิงตัวเลข เป็นกระบวนการทางเทคนิค อย่างไรก็ตามกระบวนการพิมพ์บัตรเสร็จหมดแล้ว อยู่ระหว่างรอการจัดส่ง