“จุรินทร์” เรียกร้อง “ค้อนปลอม” สั่งถ่ายทอดสดถก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมจี้ “นายกฯ ปู” เข้าร่วมประชุมสภาฯ แสดงจุดยืนนิรโทษฯ หลังมีข่าวงดประชุม ครม.สัญจร แนะอย่าหลงกลรัฐบาลสับขาหลอก แทรก กม.ยกผิดเข้ามา 3 ฉบับ ชี้ทุกร่างช่วย “นช.แม้ว” พ้นผิดหมด ห่วงประธานสภาฯ รับแผนรีบผ่าน กม.แบบเร่งด่วน
วันนี้ (31 ต.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ อยากเรียกร้องให้ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้สั่งให้มีการดำเนินการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ (ช่อง 11) ด้วย ขณะเดียวกัน ขอเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เและ รมว.กลาโหม ข้าร่วมการประชุมสภาฯ เพื่อแสดงความชัดเจนตามที่นายกฯ เคยระบุว่าอยากให้ทุกฝ่ายต่อสู้กันในสภาฯ เพราะฉะนั้น นายกฯ ต้องเป็นผู้นำในการรักษาคำพูด และทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง อย่านำ ครม.สัญจรมาอ้างเพื่อหลบเลี่ยงเข้าประชุมสภาฯ เพราะทราบมาว่าวันนี้ไม่มีการประชุม ครม.สัญจร แต่จะเริ่มในวันที่ 1 พ.ย. นายกฯ จึงควรมาร่วมแสดงจุดยืนทั้งในฐานะ ส.ส.และนายกฯ ว่าเห็นอย่างไรกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของกรรมาธิการเสียงข้างมาก
นายจุรินทร์กล่าวว่า ขณะนี้มีความพยายามขายความคิดเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแทรกเข้ามารวมแล้ว 3 ฉบับ ฉบับแรกก็คือตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมากที่กำลังเสนอเข้าสู่วาระ 2 ส่วนฉบับที่ 2 เป็นของผู้แปรญัตติ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และฉบับสุดท้ายเป็นร่างนิรโทษกรรมฉบับคนในครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตามที่มีการโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยขอให้ประชาชนอย่าหลงกลเชื่อร่างทั้ง 3 ฉบับนี้ ซึ่งต้องการทำให้เกิดความสับสนว่าทั้ง 3 ร่าง มีความแตกต่างกัน แต่ที่จริงแล้วล้วนแต่มีการล้างผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โดยเฉพาะคดีทุจริตของคนพิเศษ ดังนั้นไม่ว่าจะหยิบฉบับใดมาใช้ ตัวการที่สังคมต่อต้านก็ได้รับประโยชน์
ประธานวิปฝ่ายค้านยังแสดงความกังวลต่อการทำหน้าที่ของประธานสภาฯ โดยสังหรณ์ใจว่าจะมีความพยายามรวบรัดให้การพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมผ่านโดยเร็ว เพราะมีข้อพิสูจน์มาหลายครั้ง เห็นได้จากเมื่อมีการพิจารณากฎหมายสำคัญ และมีใบสั่ง การทำหน้าที่ของประธานสภาฯ ก็จะไม่ปกติทุกครั้ง ทั้งนี้ ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ มี 139 คำแปรญัตตินั้น ไม่สามารถกำหนดกรอบระยะเวลาอภิปรายได้ แต่สมาชิกทุกคนต้องได้รับสิทธิ์อภิปรายตามรัฐธรรมนูญ แต่หากปิดประตูตีแมวก็ต้องมีการยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 154 ต่อไปเพราะถือว่าเป็นกระบวนการตรากฎหมายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย