ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-แม้จะเป็นที่ชัดเจนอย่างไม่มีข้อสงสัยใดๆ แล้ว สำหรับการประกาศยุติบทบาทของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทั้งรุ่น 1 และรุ่น 2 ที่ประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นางมาลีรัตน์ แก้วก่า นายศรัณยู วงศ์กระจ่างและนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ผ่านแถลงการณ์ฉบับสุดท้ายและคำเปิดใจของแกนนำ ทุกคนทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี แต่ถึงกระนั้นก็ดีการเล่นเกมการเมืองเพื่อใส่ร้ายป้ายสีและดิสเครดิตแกนนำพันธมิตรฯ ก็ยังคงดำเนินต่อไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก “พรรคแมลงสาบ”
ทั้งนี้ แม้เปลือกนอกแมลงสาบตัวเล็กตัวน้อยไล่เรื่อยไปจนถึงหัวหน้าแมลงสาบจะแสดงความชื่นชมโสมนัส แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเล่นเกมเพื่อกวาดต้อนมวลชนของพันธมิตรฯ ให้ย้ายไปสังกัดแมลงสาบก็เป็นไปอย่างหนักหน่วงรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสื่อมวลชน ทั้งเว็บไซต์ สถานีโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ที่ชัดแจ้งแล้วว่า เป็นเครือข่ายของแมลงสาบ
ขณะเดียวกันพวกเขาก็ยังคงยืนหยัดที่จะดำรงความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) โดยไม่ยอมประกาศลาออก เลือกที่จะสู้ในรัฐสภาทั้งๆ ที่รู้ว่าแพ้ และเลือกที่จะ “ฮั้ว” กับระบอบทักษิณเพื่อรับรองความชอบธรรมของระบอบเผด็จการทางรัฐสภาให้ดำรงอยู่ต่อไป เนื่องเพราะไม่คุ้นชินกับสถานภาพประชาชนคนธรรมดาที่ไม่ได้มีเอกสิทธิของ ส.ส.คุ้มกะลาหัว
“นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเมื่อวันที่ 24 ส.ค.บนเวทีผ่าความจริง “หยุดกฎหมายล้างผิด” ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จัดขึ้นบริเวณลานเยื้องโลตัสวังหิน เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ที่ระบุว่า “กรณีที่แกนนำพันธมิตรฯ แนะนำให้ ส.ส.ประชาธิปัตย์ลาออกจากการเป็น ส.ส.เพื่อลงมาต่อสู้เพื่อการปฏิรูปประเทศ ผมเคารพความคิดและข้อเสนอแนะดังกล่าว แต่พวกผมเห็นต่างว่า เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา นอกจากนี้ ผมยังต้องการให้มีคำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบของประชาธิปไตยที่ดีกว่าปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร ได้มาอย่างไร เมื่อนั้นพวกผมก็พร้อมที่จะเสียสละ”
อย่างไรก็ดี แม้การประกาศยุติบทบาทของแกนนำพันธมิตรฯ หลายคนจะมองว่า เป็นการปลดล็อกมวลชนให้เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ แต่โดยข้อเท็จจริงก็คือ มวลชนพันธมิตรฯ ส่วนใหญ่ได้ตัดสินใจแล้วว่า จะไม่เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับพรรคประชาธิปัตย์อย่างแน่นอน ดังนั้น โอกาสที่จะเป็นไปตามความฝันของ “นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ประกาศตั้งแต่ไก่โห่ว่า “มวลชนกลุ่มพันธมิตรประมาณ 80% จะเข้าร่วมชุมนุมกับ ปชป. หรือกลุ่มต่างๆ ที่ต่อต้านระบอบทักษิณ” จึงเกิดขึ้นได้ยาก
และเมื่อเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามความคาดหมาย การเล่นเกมทั้งบนดินและใต้ดินก็อุบัติขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น กรณีของนายสนธิที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในประเด็นเรื่องการปฏิรูปประเทศโดยระบุว่า ถ้าเสื้อแดงก้าวข้ามทักษิณ ชินวัตรและก้าวข้ามเรื่องสถาบันกษัตริย์ไปได้ก็พร้อมจะร่วมมือ
สิ้นเสียงให้สัมภาษณ์ของนายสนธิ ขบวนการแมลงสาบโดยเฉพาะตามเว็บไซต์ที่เต็มไปด้วยแมลงสาบไปสุมหัวกันอยู่ก็สำแดงอาการทุรนทุรายออกมาว่า นายสนธิพร้อมจะจับมือกับคนเสื้อแดง พร้อมระบุว่า นี่คือใบเสร็จที่เป็นหลักฐานชัดเจนว่า นายสนธิรับเงินนักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตร ขณะที่หนังสือพิมพ์สัญชาติแมลงสาบก็พาดหัวว่า “สนธิแย้มจับมือแดง” เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด
นอกจากนี้ ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ยังได้ปรากฏข้อเขียนของ “นายชูชาติ ศรีแสง” อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา ที่ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า แถลงการณ์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยฉบับสุดท้ายเป็นเท็จ ซึ่งสังคมรู้ดีกว่านายชูชาติสวมเสื้อสีอะไร
ประเด็นที่นายชูชาติพยายามโจมตีมี 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ แกนนำพันธมิตรฯ ใส่ร้ายป้ายสีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยหยิบยกข้อมูลมาอธิบายเป็นฉากๆ ว่า การฟ้องคดีเกิดขึ้นในยุคของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว เพราะประกาศยุบสภาในเดือนพฤษภาคม 2554 ประเด็นที่สองคือ กรณีที่พันธมิตรฯ เรียกร้องให้ประชาธิปัตย์ลาออก แล้วพันธมิตรฯ จะเข้าร่วมการชุมนุมภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ว่าเข้าทางระบอบทักษิณ
แต่ข้อเท็จจริงมิได้เป็นเช่นนั้น
คดีที่กลุ่มพันธมิตรถูกฟ้องคือ คดีหมายเลขดำที่ อ. 973/2556 ซึ่งการแจ้งข้อกล่าวหาก่อการร้ายครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2552 โดย พล.ต.ท.วุฒิ พัวเวส เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนเอง และแจ้งข้อกล่าวหาครั้งที่สองเมื่อวันที่ 26 สิ่งหาคม 2553 โดย พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ซึ่งมาทำหน้าที่หัวหน้าพนักงานสอบสวนแทน พล.ต.ท.วุฒิ ซึ่งทั้งสองครั้งนี้อยู่ในสมัยของนายอภิสิทธิ์ทั้งสิ้น
ต่อมาพันธมิตรฯ ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังนายอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลายครั้งว่า ขอเปลี่ยนตัวหัวหน้าพนักงานสอบสวน ซึ่งนอกจากนายอภิสิทธิ์จะไม่เปลี่ยนโดยอ้างว่าไม่สามารถแทรกแซงการทำงานของตำรวจแล้ว การยื่นร้องเรียนไปแต่ละครั้งก็จะมีการเพิ่มผู้ต้องหาและข้อกล่าวหากลับมาทุกครั้งจากครั้งแรกที่มีผู้ถูกกล่าวหา 36 คน จนรวมกันเป็น 114 คนในที่สุด แต่สุดท้ายก็สามารถตามตัวมาดำเนินคดีได้เพียง 96 คน
ส่วนข้อเรียกร้องให้ ส.ส.ปชป.ลาออกนั้น นายชูชาติกล่าวว่า “เป็นการหลอกให้ ส.ส.ปชป. ลาออก เพื่อต้องการให้ประชาชนทั่วประเทศด่า เกลียดชัง หมดความเชื่อถือ และกลายเป็นพรรคการเมืองที่ประชาชนสาปแช่ง ปชป .ที่มีอายุเกือบ 70 คงถึงกาลอวสานแน่นอน ใช่หรือไม่ ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือทักษิณ ชินวัตร กับญาติพี่น้อง พรรคพวกและบริวาร เพราะจะไม่มีพรรคการเมืองใดมี ส.ส.มาขัดขวางการโกงกินชาติบ้านเมืองทั้งในและนอกสภาอีกต่อไป ประเทศไทยก็จะตกอยู่ภายใต้การปกครองของตระกูลชินวัตร ง่ายขึ้น ใช่หรือไม่”
แต่ข้อเท็จจริงมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะแถลงการณ์ตลอดรวมถึงความเห็นของแกนนำระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ต้องการให้ออกมาต่อสู้นอกสภาเพื่อยืนยันว่าไม่ยึดติดกับตำแหน่งหรือการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ถ้า ปชป.กระทำเช่นนั้น แม้จะติดเงื่อนไขศาล พันธมิตรฯ ก็พร้อมจะร่วมต่อสู้ถ้าการต่อสู้นั้นเป็นการสู้เพื่อปฏิรูปประเทศ
อย่างไรก็ตาม ถามว่า สำหรับการประกาศยุติบทบาทแกนนำพันธมิตรฯ ในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อบ้านเมืองอะไรหรือไม่ และสถานการณ์นับจากนี้จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด
คำตอบก็คือเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน
ประการแรกที่เปลี่ยนแปลงก็คือ ประชาชนและสังคมไทยจะได้เห็นตัวตนที่แท้จริงของพรรคแมลงสาบได้ชัดเจนขึ้นว่าพวกเขาจะทำอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ หรือยังคงมุ่งหวังที่จะต้องการอำนาจรัฐเหมือนเช่นเดิม ซึ่งคำตอบก็ชัดแจ้งในระดับหนึ่งจากท่าทีของนายอภิสิทธิ์ดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้และ 2 แกนนำพรรคคือนายนิพิฏฐ์ และนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต
ทั้งนี้ นายนิพิฏฐ์ระบุชัดเจนว่ากำลังพูดคุยกับกลุ่มการเมืองทั้ง 12 กลุ่ม อาทิ กลุ่มเสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ สันติอโศก หน้ากากขาว ฯลฯ ซึ่งแปลความได้ว่า ปชป.กำลังรวบรวมสรรพกำลังในการเคลื่อนไหว ใช่หรือไม่
ส่วนนายชวนนท์ก็ประกาศชัดว่า “พรรคจะเคลื่อนไหวทั้งในสภาและนอกสภาอย่างเข้มข้นจนกว่ากฎหมายนิรโทษกรรมจะตกไป โดยเมื่อถึงจุดที่ต้องเคลื่อนไหวนอกสภา ส.ส.แต่ละคนจะพิจารณาเองว่า บทบาทของตนเองจำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งหรือไม่ เนื่องจากหากประเทศชาติไม่เหลืออะไรแล้ว การเป็น ส.ส.ก็ไม่มีประโยชน์อะไร” ซึ่งแปลความได้ว่า โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะยังคงเล่นเกมในสภาโดยไม่ยอมลาออกจากความเป็น ส.ส.และปล่อยให้ภาคประชาชนเคลื่อนไหวนอกสภามีความเป็นไปได้สูง ใช่หรือไม่
ขณะที่การเปลี่ยนแปลงประการที่สองจะทำให้การเคลื่อนไหวของแกนนำพันธมิตรฯ แต่ละคนจะมีพลวัตรและมีพลังทะลุทะลวงไปในอีกมิติหนึ่ง เพราะต้องไม่ลืมว่า แกนนำแต่ละคนเต็มไปด้วยประสบการณ์ทางการเมืองและมีศักยภาพในการนำประชาชนที่ไม่อาจประมาทได้
ที่สำคัญคือ การประกาศยุติบทบาท ก็ไม่ได้หมายความว่าแกนนำทุกคนจะยุติบทบาททางการเมือง แต่แกนนำจะยิ่งมีความคล่องตัวและเป็นอิสระในการเคลื่อนไหวมากขึ้น และการรวมตัวหรือการจับมือกันเป็นกลุ่มใหม่ได้ตลอดเวลา
ดังนั้น นี่อาจจะเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและโดยเฉพาะอย่างยิ่งตำรวจที่จะต้องแสวงหาข้อมูลกันอย่างจ้าละหวั่นว่า แกนนำแต่ละคนจะเดินเกมรุกในรูปแบบไหนบ้าง ซึ่งต้องยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน