วิเคราะห์ท่าที กกต.แก้ปมเลือกตั้ง ชี้ทางเลือก “ลาออก” ปล่อยสุญญากาศไม่มีผู้จัดการเลือกตั้ง กับเลือกใช้ช่องทาง กม.เลื่อนวันลงคะแนนเลือกตั้ง แต่เสี่ยงถูกฟ้อง เหตุ กม.ไม่ชัดถือว่าเลือกตั้งเกิน 60 วันนับแต่วันเลือกตั้งหรือไม่ และการนับวาระการดำรงตำแหน่ง ส.ส.เริ่มเมื่อใด
วันนี้ (26 ธ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า จากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลมีการเลื่อนเลือกตั้ง โดยพร้อมเป็นคนกลางในการให้คู่ขัดแย้งได้มาเจรจาเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ และระบุว่าหากไม่มีการดำเนินการ กกต.จะพิจารณาใช้สิทธิและอำนาจหน้าที่ของ กกต.ในฐานะ กกต.รายบุคคลเพื่อตัดสินใจคลี่คลายสถานการณ์ตามวิจารณญาณที่เหมาะสมนั้น มีการวิเคราะห์กันว่า การส่งสัญญาณดังกล่าวของ กกต. น่าจะหมายถึงหากไม่มีการดำเนินการตามข้อเสนอของ กกต. และ กกต.อาจมีการลาออก ซึ่งอาจจะเป็นทั้งคณะ หรือเป็นบางคนก็ได้ ซึ่งหากทั้งคณะก็จะทำให้เกิดปัญหาว่าจะไม่มีใครมาเป็นผู้ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งก็จะกลายเป็นช่องว่างให้มีการเสนอต่อรัฐบาลพิจารณาเลื่อนการเลือกตั้งออกไป
แต่ทั้งนี้ การลาออกทั้งคณะจะไม่ทำให้เกิดสุญญากาศเฉพาะการไม่มี กกต.มาจัดการเลือกตั้ง ส.ส.เท่านั้น ยังจะทำให้เกิดปัญหากับการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ ที่มีอยู่เป็นประจำทุกสัปดาห์ว่าจะไม่มี กกต.มาพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง เพราะจะต้องรอการดำเนินการสรรหา กกต.ชุดใหม่ ซึ่งแม้ดำเนินการสรรหา กกต.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 จะดำเนินการได้ทั้งในส่วนของคณะกรรมการสรรหา และในส่วนที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาก็ตามแต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาอย่างเร็วไม่น้อยกว่า 3 เดือน
แต่ถ้าเป็นการลาออกของ กกต.บางคน โดยลาออก 3 คน ก็จะทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถประชุม กกต.และมีมติในเรื่องใดได้เลย เพราะตามมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.กกต. กำหนดให้องค์ประชุมของ กกต.ต้องมีไม่น้อยกว่า 3 คน ดังนั้น การจะลงนามประกาศ กกต.เพื่อดำเนินการในเรื่องต่างๆ เช่น การจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ก็จะไม่สามารถทำได้อยู่ดี หรือหากลาออกเพียง 2 คน เหลือ กกต.อยู่ 3 คน แม้จะดำเนินการจัดการเลือกตั้งต่อไปได้จนไปถึงการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง การให้ใบเหลืองใบแดง แต่ก็จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ค่อนข้างตรึงตัว เพราะหาก กกต.คนหนึ่งลาประชุมก็จะไม่สามารถประชุมได้ รวมทั้งเลือกตั้งแล้วจะสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครรายใด ก็ต้องเป็นมติเห็นชอบทั้ง 3 เสียง เนื่องจากมาตราเดียวกันกำหนดให้การลงคะแนนและมีมติในกรณีนี้ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่าสี่ในห้าของกรรมการที่มาประชุม
อย่างไรก็ตาม หาก กกต.ไม่ลาออก และเลือกที่จะใช้อำนาจของ กกต.ในการคลี่คลายสถานการณ์นั้น น่าเชื่อว่าจะเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 ประกอบมาตรา 236 ที่กำหนดให้ กกต.ต้องควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และให้ กกต.ออกประกาศหรือวางระเบียบที่จำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อออกประกาศเลื่อนการลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งใดที่ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากเกิดเหตุสุดวิสัย หรือจำเป็นอย่างอื่น ถ้าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้ง ตามมาตรา 78 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.
แต่ทั้งนี้ก็มีรายงานว่า มาตราดังกล่าวบัญญัติให้เป็นอำนาจของ กกต.ประจำเขตเลือกตั้ง ซึ่ง กกต.กลางก็ต้องให้ กกต.ประจำเขตเลือกตั้งตรวจสอบพื้นที่และเสนอความเห็นมา ซึ่งก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าหาก กกต.จะใช้อำนาจตามช่องทางดังกล่าว ก็ไม่ควรที่จะต้องออกแถลงการณ์ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้ง และใช้ถ้อยคำในลักษณะยื่นคำขาดว่า หากไม่ดำเนินการจะใช้สิทธิในฐานะ กกต.รายบุคคลพิจารณาตัดสินใจดำเนินการเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ เพราะที่สุดจะยิ่งทำให้ กกต.ถูกตำหนิจากสังคม และผู้ที่เข้ามาช่วยปฏิบัติงานในการเลือกตั้งว่า กกต.ไม่มีความชัดเจนว่าจะเดินหน้าเลือกตั้งหรือไม่ อีกทั้งเห็นว่าบทบัญญัติของ 3 มาตราดังกล่าวเนื้อหาไม่ชัดเจนที่จะทำให้ กกต.ตัดสินใจใช้ช่องทางนี้โดยจะไม่ถูกฟ้องว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อาทิ หาก กกต.สั่งเลื่อนการลงคะแนนไปเกินกว่าระยะเวลาที่ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งกำหนดให้มีการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.จะถือว่าไม่เลือกตั้งภายใน 60 วัน นับแต่วันยุบสภาหรือไม่ รวมทั้งถ้าได้ ส.ส.แล้วจะถือว่าวาระการดำรงตำแหน่ง ส.ส.เริ่มขึ้นเมื่อใด ดังนั้น หาก กกต.จะใช้ช่องทางนี้ย่อมหมายความว่า กกต.พร้อมแล้วที่จะเผชิญกับการถูกฟ้องตามมา