นายกฯ ลั่นพร้อมยุบสภา แต่ถ้าอีกพรรคไม่ส่งคนลงสมัครก็ไม่หยุดขัดแย้ง เตรียมเปิดเวทีปาหี่ ถ้าไม่ได้ผลก็งัดประชามติ ปากแข็งไม่ได้ยึดติดตำแหน่ง แต่ต้องให้เสียงส่วนใหญ่ตะเพิด ปัดรับข้อเสนอ “สุเทพ” อ้างไม่เป็นประชาธิปไตย ท่องคาถา “หันหน้าเข้าหากัน” อ้างไม่อยากให้ประเทศบอบช้ำ
วันนี้ (8 ธ.ค.) เมื่อเวลา 12.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ระบุว่า “ดิฉันขอเรียนกับพี่น้องประชาชนว่ารัฐบาลมีความพร้อมที่จะยุบสภาฯ หากเป็นความต้องการของพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือเมื่อยุบสภาฯ แล้ว ต้องมีการจัดตั้ง การเลือกตั้งภายในเวลาไม่เกิน 60 วัน ตามวันที่ประกาศที่กฎหมายกำหนด และในกติกาที่เป็นธรรม แต่หากผู้ชุมนุมและพรรคการเมืองใหญ่ไม่ตอบรับ หรือไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ก็จะเป็นเพียงการยืดเวลาของความขัดแย้งออกไป เช่นเดียวกับเหตุการณ์ความวุ่นวายในปี 2549 ซึ่งมีพรรคการเมืองบอยคอตไม่ลงรับสมัครเลือกตั้ง ทำให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมือง อันนำไปสู่ปฏิวัติรัฐประหารในที่สุด
ดังนั้น รัฐบาลจึงขอเสนอให้มีการตั้งเวที หารือในข้อเสนอของผู้ชุมนุม หากยังขัดแย้งกัน จนหาข้อยุติที่ตรงกันไม่ได้ ก็ขอเสนอให้มีการทำประชามติ เพื่อให้เสียงส่วนใหญ่ของพี่น้องประชาชนเป็นผู้ตัดสิน พร้อมทั้งสรุปแนวทางเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม และเกิดฉันทามติของทุกพรรคการเมือง ผู้ชุมนุม และทุกภาคส่วน ให้ยอมรับผลการตัดสินใจของประชาชน ตามกติกา และตามระบอบประชาธิปไตย ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นให้หมดสิ้นไปอย่างแท้จริง
พี่น้องประชาชนที่เคารพคะ ดิฉันขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ดิฉันไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง ยินดีที่จะยุบสภาฯ หรือลาออก เพียงแต่ขอให้มั่นใจว่า เป็นทางออกที่แท้จริง และสามารถทำให้ข้อยุติต่างๆ ยุติลง ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ โดยต้องมั่นใจว่า ข้อเสนอนั้นเป็นข้อเสนอของเสียงส่วนใหญ่ของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง
สำหรับข้อเสนอของคุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.) ที่ยืนยันมาโดยตลอดว่า ยุบสภาฯ ก็ไม่เอา นายกฯ ลาออกก็ไม่เอา แต่ต้องการคืนอำนาจให้กับพี่น้องประชาชน โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้งนั้น เป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่มีข้อยุติว่า เป็นไปตามครรลองตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ สำหรับรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศ โดยไม่ผ่านขบวนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยถือเป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประเทศอย่างมาก หากจะเสนอให้ดำเนินการน่าจะต้องถามความเห็นของพี่น้องประชาชนว่าเป็นความต้องการของเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนจริงหรือไม่ ซึ่งการทำประชามติจึงเป็นวิธีที่มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญค่ะ
สุดท้ายนี้ดิฉันเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า เราทุกคนมีความจงรักภักดีต่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราทุกคนรักประเทศชาติไม่แพ้กัน ดังนั้นเพื่อให้ประเทศชาติของเราไม่ต้องบอบช้ำไปกว่านี้ ดิฉันอยากเห็นพวกเราทุกคนหันหน้าเข้าหากัน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา และสำหรับวันจันทร์ที่ 9 ที่จะถึงนี้รัฐบาลยินดีจะรับฟังข้อเสนอของผู้ชุมนุม เพื่อนำมาพิจารณา และหาทางออกร่วมกัน วันนี้ไม่มีใครแพ้แต่พวกเราทุกคนรวมถึงประเทศชาติเป็นผู้ชนะด้วยกันทั้งหมดค่ะ ขอบคุณค่ะ”