รายงานการเมือง
ยังไม่รู้จะออกหัวหรือก้อย กับการตัดสินใจครั้งสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ในการลงสนามเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 หรือไม่ โดยภายหลังจากการประชุมใหญ่ประจำปีเมื่อสองวันก่อน ก็ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ออกมา ทำให้การเลือกตั้งต้นปีหน้ายัง “ลูกผีลูกคน” ว่าจะมีพรรคการเมืองอันดับ 2 ของประเทศลงแข่งหรือไม่
เพราะเอาเวลาไปตบตีถกเถียงกันเรื่องการปฏิรูปพรรคที่ก็ไร้รูปธรรมใดๆ ออกมา รวมทั้งการล้างไพ่เลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ที่เพิ่มขึ้นมาเป็น 35 ตำแหน่งจากเดิม 25 ตำแหน่ง ก็กินเวลาไปจนดึกดื่น
เห็นหน้าค่าตากันไปแล้ว พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่มีอะไรใหม่
แต่เมื่อมองลึกๆ ลงไปในรายชื่อบอร์ดใหม่ต้องยอมรับว่า “เดอะมาร์ค-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคสมัยที่ 3 สยายปีกคุมพรรคเบ็ดเสร็จมากขึ้น หลังจากการก้าวออกไปเป็นแกนนำม็อบเต็มตัวของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาฯ กปปส.
แม้อาจจะมองได้ว่า ร่องรอยขุมกำลังของ “กำนันเทือก” ที่พอหลงเหลืออยู่บ้าง จากเก้าอี้ของ “เสี่ยไก่-จุติ ไกรฤกษ์” ในตำแหน่งเลขาฯพรรค ซึ่งมีความสนิทสนมกับ “สุเทพ” กันเป็นการส่วนตัว แต่ในส่วนอื่นกลับถูกกีดกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งการล็อบบี้ “แม่เลี้ยงติ๊ก-ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู” และ “ศุภชัย ศรีหล้า” ให้ถอนตัวไม่ลงชิงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคในนาทีสุดท้าย โดยอ้างว่ามีบทบาทกับการชุมนุมของ กปปส.มากเกินไป เกรงว่าสุดท้ายอาจส่งผลกระทบกับพรรคได้
หรือรายของ “กรณ์ จาติกวณิช” ที่ถอนตัวไม่ขอรับตำแหน่งนั้น แม้จะมีความขัดแย้งกับ “ม็อบกำนัน” ในช่วงหลัง แต่อย่าลืมว่า “สุเทพ” เคยมีแนวคิดในการชู “หนุ่มกรณ์” ขึ้นทาบรัศมี “เดอะมาร์ค” ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคมาก่อน
การขาดหายรายชื่อคนเหล่านี้จากกระดานรายชื่อบอร์ดค่ายสีฟ้า ก็เท่ากับมือไม้ของ “กำนันสุเทพ” ในพรรคประชาธิปัตย์ลดน้อยลงไปโข ซึ่งย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจว่าส่งหรือไม่ส่งคนลงเลือกตั้งพอสมควร
คำถามมีว่าเมื่อโฉมหน้าของกรรมการบริหารพรรคใน “ยุคมาร์ค 3” แล้วแนวทางพรรคประชาธิปัตย์ต่อการเลือกตั้งจะเป็นไปในทิศทางใด จะงัดมาตรการ “บอยคอต” เลือกตั้งเหมือนในปี 2549 อีกหรือไม่
โดย “ค่ายสีฟ้า” นัดหมายคุยกันวงใหญ่ทั้งกรรมการบริหารพรรคและอดีต ส.ส.กันในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ ก่อนหน้าการเปิดรับสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพียง 2 วัน เรียกว่าเป็นการตัดสินใจในนาทีสุดท้ายก็ว่าได้
สาเหตุที่เลือกเคาะกันในวันที่ 21 ธ.ค.ก็ถือเป็นการสอดรับกับการเคลื่อนไหวของ กปปส. ที่ “สุเทพ” ประกาศระดมมวลชนใหญ่อีกครั้งในัวนที่ 22 ธ.ค.นี้ โดยจะพาเหรดมวลชนในวันที่ 19-21 ธ.ค.รอบ กทม. เป็นการวอร์มอัพก่อน นัยหนึ่งก็เพื่อปล่อยขบวนชักชวนประชาชนออกมาร่วมม็อบในวันดีเดย์ 22 ธ.ค.ให้มากๆ
ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เองก็คงรอประเมินฟีดแบ็ก 2 วันดังกล่าวก่อนจึงจะตัดสินใจในวันที่ 21 ธ.ค.
แต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์เลือกที่จะดึงการตัดสินใจให้ล่าช้าออกไป ก็ต้องรับมือกับแรงกดดันที่ถาโถมทั้งภายในและภายนอกให้ได้
โดยภายนอกพรรคแน่นอนว่าเสียงเชียร์จาก “ม็อบนกหวีด” ย่อมตราตรึงอยู่ในใจของคนประชาธิปัตย์ที่เคยไปสัมผัสบรรยากาศที่เวทีการชุมนุม โดยเฉพาะ “อภิสิทธิ์” ที่ไปร่วมหัวจมท้ายอยุ่พักใหญ่ก่อนจะเฟดตัวออกมา
ส่วนเรงกดดันภายในพรรคเองก็มีไม่น้อย แน่นอนส่วนหนึ่งมี “ฝ่ายอนุรักษนิยม-ผู้อาวุโส” ที่ยึดมั่นถือมั่นกับ “หลักการ” ย่อมต้องการให้พรรคลงเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตย ขณะที่อีกฝ่าย “กลุ่มเพื่อนกำนัน” ก็มีไม่น้อยที่อยากคว่ำการเลือกตั้งให้รู้แล้วรู้รอด
ไม่ทันไรบรรดาอดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย “เชน เทือกสุบรรณ” น้องชายกำนัน ก็ได้แสดงจุดยืนไม่ส่งคนลงสมัครเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ประเดิมไปก่อนแล้ว ทั้งที่ยังไม่มีมติพรรคออกมา
แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของ “กำนันเทพ” ที่ยังมีอยู่ในค่ายสีฟ้า
เพราะนอกจากกลุ่มสุราษฎร์แล้ว ในพื้นที่อื่น “สุเทพ” ก็ยังมีอิทธิพลสูงอยู่ ทั้งโซนภาคเหนือของ “แม่เลี้ยงติ๊ก” หรือภาคอีสานในปีกของ “อิสสระ สมชัย” แกนนำ กปปส.ในตอนนี้
ขณะที่ในภาคใต้ฐานที่มั่นของประชาธิปัตย์ก็มีไม่น้อย ทั้ง จ.นครศรีธรรมราช ของ “วิทยา แก้วภราดัย” จ.ชุมพร พื้นที่ “ชุมพล จุลใส” หรือ จ.สงขลา ของ “ถาวร เสนเนียม” หรือแม้แต่ใน จ.ตรัง บ้านเกิดของ “นายหัวชวน หลีกภัย” ก็ยังมีพื้นที่ของ “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” ที่ลาออกไปเย้วๆ ในฐานะแกนนำ กปปส.ด้วยอีกคน
เลยเถิดไปถึงในบางพื้นที่ที่ไม่ชัดในเรื่องอิทธิพลของ “สุเทพ” แต่ก็เริ่มมีเสียงเปรยจาก ส.ส.น้อยใหญ่ออกมาว่า ไม่อยากผิดใจกับ “พี่เทพ” ให้ได้ยินบัางแล้ว
ทำให้
ขณะนี้คนที่หนักใจที่สุดหนีไม่พ้น “อภิสิทธิ์” ที่อยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
เพราะทำไปทำมามวลมหาประชาชนของ “ม็อบกำนัน” ที่ไล่ต้อน “รัฐบาลเพื่อไทย” อยู่ดีๆ กลับกลายมาไล่ต้อนกันเองไปได้ ผสมโรงกับแรงบวกภายในพรรคที่เห้นดีด้วยกับแนวทางของ กปปส.
ไม่เท่านั้น ยังเป็นที่รู้กันดีว่าการตัดสินใจของประชาธิปัตย์ในร่มเงาของ “หนุ่มมาร์ค” ถือว่าสำคัญยิ่งกับขบวนการปฏิรูปประเทศ
อย่าลืมอีกว่า “อภิสิทธิ์” เป็นคนนำ ส.ส.ของพรรคแถลงลาออก “ยกพรรค” โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลหมดความชอบธรรม เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ก่อนที่อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จะไปเดินขบวนร่วม “เป่านกหวีด” จนเป็นเหตุให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ประกาศ “ยุบสภา” ในที่สุด
สถานการณ์มาถึวจุดนี้ คงต้องบอกว่า “เดิมพัน” ในวันที่ 21 ธ.ค.นี้สูงกว่าการตัดสินใจเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมาเป็นเท่าตัว เพราะไม่เพียงแต่ชี้อนาคตพรรคผระชาธิปัตย์
ยังมีผลต่อการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในนาม กปปส.จะบูมหรือจะกร่อยก็ขึ้นอยู่กับมติพรรคประชาธิปัตย์ แน่นอนว่าหากออกมาใสมุมเลือก “บอยคอต” ย่อมเสริมแรงให้ กปปส.อีกเป็นทวีคูณ
แต่หากตัดสินใจก้มหน้าลงเลือกตั้งก็เท่ากับทำลายศรัทธา กปปส.สั่งสมมาจนย่อยยับว่า สุดท้ายก็หวังแค่ไล่รัฐบาล เพื่อโอกาสในการสวิงขั้วอำนาจผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น
อีกทั้งยังเป็นการรับรองความชอบธรรมของรัฐบาลที่ “อภิสิทธิ์” เคยแถลงปฏิเสธใหญ่โตไปแล้ว ไม่เท่านั้นยังเป็นการต่อลมหายใจให้ “ระบอบทักษิณ” ผ่านสนามเลือกตั้งอีกต่างหาก
ที่น่ากลัวคือ ท้ายที่สุดพลังของมวลมหาประชาชนจะย้อนศรมาเล่นงาน “ค่ายสีฟ้า” เสียเอง ฐานคิดคดทรยศกับมวลชน เพราะหากไม่หนุน “ม็อบกำนัน” ก็เท่ากับตัดหางปล่อยวัดเอาตัวรอดนั่นเอง