xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.ไต่สวน “มาร์ค” คดีถอด 383 สมาชิกรัฐสภาโหวตแก้ รธน.มิชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
ป.ป.ช.ลุยไต่สวนคดีถอด 383 สมาชิกรัฐสภา โหวตแก้ รธน.ที่มา ส.ว.มิชอบ สอบ “อภิสิทธิ์” วันนี้ เผยคำร้องจงใจใช้อำนาจขัดกฎหมาย ระบุพฤติการณ์ 3 ส่วน ตัวประธาน-ผู้เสนอร่างฯ และกระบวนการแก้ไข



วันนี้ (16 ธ.ค.) ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีรายงานว่า ป.ป.ช.เริ่มกระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอน 383 สมาชิกรัฐสภา ที่ถูกกล่าวหาว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญปมที่มา ส.ว.ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เนื่องจากมีการกระทำที่ให้ได้มาซึ่งการปกครองประเทศโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว โดยเชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้รวบรวมรายชื่อ ส.ส.ยื่นคำร้องถอดถอนบุคคลทั้งหมดต่อ ป.ป.ช.เข้าให้ข้อมูล หลังจากที่ ปปช.ได้เริ่มต้นกระบวนการพิจารณาคดีมาตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา

ในคำร้องของนายอภิสิทธิ์ได้ระบุเกี่ยวกับความผิดของสมาชิกรัฐสภาทั้ง 383 คนไว้ว่า มีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ขัดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตลอดจนกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยในคำร้องยังได้อ้างถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไว้ด้วย

นอกจากนี้ ในคำร้องดังกล่าวยังระบุถึงพฤติการณ์เฉพาะตัวของผู้ที่กระทำความผิดไว้เป็น 3 ส่วน คือ การกระทำความผิดของผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาและประธานในที่ประชุมรัฐสภา ส่วนที่ 2 คือ การกระทำความผิดของผู้ที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปมที่มา ส.ว. นำโดยนายอุดมเดช รัตนเสถียร ร่วมกับสมาชิกรัฐสภารวม 310 คน และส่วนที่ 3 เป็นการกระทำความผิดในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภา โดยมีพฤติกรรมการกระทำความผิด ดังต่อไปนี้

ในส่วนของสมาชิกรัฐสภา 310 คนที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปมที่มา ส.ว. เสนอร่างที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านดุลยภาพในการตรวจสอบตามระบบรัฐสภา ทำให้ ส.ว.มีสภาพไม่แตกต่างจาก ส.สง

ส่วนพฤติกรรมของนายสมศักดื์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา มีคำสั่งนัดประชุมรัฐสภาโดยแจกจ่ายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวคนละฉบับกับร่างที่นายอุดมเดชและคณะเสนอ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญจากร่างเดิมในหลายประการ อาทิ การเพิ่มเติมหลักการที่ให้ผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาสามารถลงสมัครเป็น ส.ว.ได้อีกโดยไม่ต้องรอให้พ้นระยะเวลา 2 ปี นอกจากนี้ยังมีการเรียกประชุมวันที่ 18 เมษายน 2556 เพื่อกำหนดวันแปรญัตติโดยให้เริ่มต้นนับวันแปรญญัติย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2556 ทำให้เหลือเวลาให้สมาชิกรัฐสภาเสนอคำแปรญัตติเพียง 1 วันเท่านั้น

นอกจากนี้ ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมคือ นายสมศักดิ์ และนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ได้ตัดสิทธิผู้ขออภิปรายและผู้เสนอคำแปรญัตติ ผู้สงวนคำแปรญัตติ และผู้สงวนความเห็นจำนวน 57 คน โดยที่ยังไม่มีการฟังอภิปราย อีกทั้งยังมีการใช่้เสียงข้างมากลงมติผ่านความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราที่เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญอันจะก่อให้เกิดปัญหาต่อการทำหน้าที่ของ ส.ว. ทำให้ ส.ว.กลับไปเป็นสภาฟัวเมีย และยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ต้องเว้นวรรค 5 ปีก่อนลงสมัคร ส.ว.อีกด้วย

สำหรับส่วนที่ 3 คือ พฤติกรรมการลงมติของสมาชิกรัฐสภามีการทุจริตในการลงคะแนน จากกรณีที่นายนริศร ทองธิราช ได้เสียบบัตรแทนสมาชิกรัฐสภาผู้อื่นด้วยการเสียบบัตรแทนหลายบัตรในการลงมติคราวเดียวกัน ซึ่งถือเป็นการกระำที่ผิดต่อข้อบังคับรัฐสภาและละเมิดรัฐธรรมนูญ และสมาชิกรัฐสภา 381 คน ไม่รวมนายสมศักดิ์กับนายนิคม ยังได้ร่วมลงมติผ่านความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในวาระที่สามด้วย ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 56 ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีเนื้อหาขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2550 อันเป็นการกระทำเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาที่ถูกร้องได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 8

ท้ายคำร้องนายอภิสิทธิ์ยังได้ขอให้ ป.ป.ช.เร่งพิจารณาคดีนี้โดยไม่ชักช้า เนื่องจากเป็นคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงไว้อย่างชัดแจ้งแล้วด้วย

สำหรับสมาชิกรัฐสภาที่ถูกร้องในครั้งนี้นั้น มีนา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม รวมถึงนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ซึ่งร่วมลงคะแนนผ่านความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปมที่มา ส.ว.ในวาระที่ 3 รวมอยู่ด้วย ทั้งนี้ หาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดให้มีการถอดถอนบุคคลทั้งหมดตามคำร้องก็จะทำให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ส.ส.ทันที ก่อนที่จะส่งเรื่องไปยัง ส.ว.ให้ลงมติถอดถอนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น